หอภาพยนตร์ ประกาศ 11 รายชื่อ รวม”ปีศาจ” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติปี 2564

หอภาพยนตร์ ประกาศ 11 รายชื่อ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติปี 2564

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564  ซึ่งตรงกับวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศ 11 ภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 ที่จัดขึ้นโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ในปีนี้มีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ได้แก่

[โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต] (2471) บันทึกพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และพระราชพิธีเกษากันต์ ของหม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ ซึ่งเป็นหนังบ้านที่รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์และโปรดให้ข้าราชบริพารร่วมถ่ายพระราชพิธีที่ที่ปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้ว

[โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต]
[คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503] (ไม่สมบูรณ์) บันทึกคำปราศรัยหรือแถลงการณ์ของจอมพล สฤษดิ์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2503 อันเป็นการสรุปผลการทำงานในช่วง 2 ปี ที่จอมพล สฤษดิ์ได้ดำเนินการวางแผนโครงการเศรษฐกิจและการศึกษา

Advertisement

[คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503]

ในกลุ่มหนังเล่าเรื่อง (feature film) มีภาพยนตร์สองเรื่องที่สะท้อนประเด็นผู้หญิง ห้วงรักเหวลึก (2498) ภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยยุคแรกเริ่ม ทั้งการตอบโต้การกดขี่ทางเพศ และการเดินเรื่องโดยผู้หญิงซึ่งไม่ได้เป็นกุลสตรีตามขนบ สุรีรัตน์ล่องหน (2504) ภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์แบบกึ่งแฟนตาซียุคแรก ๆ ที่สร้างจากบทละครวิทยุที่ได้รับความนิยมอย่างมากของ สมสุข กัลย์จาฤก ที่การดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก

ห้วงรักเหวลึก
สุรีรัตน์ล่องหน

​สองภาพยนตร์ในยุคสงครามเย็นที่สร้างขึ้นโดย สำนักข่าวสารอเมริกัน นิสิตพัฒนา (ไม่สมบูรณ์) (2505) บันทึกการออกค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกของนิสิตนักศึกษาไทย ที่สร้างขึ้นโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน การเดินทางอันแสนไกล (2512) ภาพยนตร์บันทึกการมาเยือนเมืองไทยของ นีล อาร์มสตรอง พร้อมด้วยคณะนักบินอวกาศชาวอเมริกันที่ไปสำรวจดวงจันทร์ได้เป็นกลุ่มแรกของโลก สร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกันโดยเล่าผ่านเรื่องราวของ อรนุช ภาชื่น เด็กหญิงจากจังหวัดสุรินทร์

นิสิตพัฒนา
การเดินทางอันแสนไกล

ภาพยนตร์ โฆษณาเพียว [2506-2508] ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่ม ผลงานสร้างสรรค์ของ ปยุต เงากระจ่าง ที่ใช้ตัวละครเป็นตัวการ์ตูนชุด “ตุ๊กตา” ของ พิมน กาฬสีห์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กในไทย รวมทั้งมีเพลงประกอบที่ติดหู จนเป็นที่จดจำกันมาอย่างยาวนาน

Advertisement
เพียว

ทอง (2516) ภาพยนตร์บู๊ระทึกที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ทุ่มทุนสร้างด้วยการนำดาราชื่อดังจากต่างประเทศมาร่วมงาน จนประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ วิมานดารา (2517) ภาพยนตร์ที่กล้าหาญในการนำเสนอเนื้อหาที่แปลกแตกต่างจากผลงานในยุคเดียวกัน ทั้งยังบันทึกบรรยากาศและค่านิยมของสังคมไทยในยุคสมัยนั้นไว้ในหลายแง่มุม

ทอง
วิมานดารา

สาย สีมา นักสู้สามัญชน (2524) ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ โดยกลุ่มนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทย และผู้คนทุกยุคสมัย Goal Club เกมล้มโต๊ะ (2544) ภาพยนตร์ของผู้กำกับ กิตติกร เลียวศิริกุล ที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของคนทำหนัง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดช่วงหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผ่านเล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชายยุค “มิลเลนเนียม” และกระแสความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในเมืองไทย

สาย สีมา นักสู้สามัญชน
เกมล้มโต๊ะ

สำหรับท่านใดที่สนใจรับชมภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ หอภาพยนตร์ได้จัดให้มีหลากหลายช่องทางการรับชมไม่ว่าจะเป็น การจัดโปรแกรมฉายภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนปีนี้และปีที่ผ่านมา ให้ได้รับชมในเดือนตุลาคมนี้ที่โรงภาพยนตร์ สามารถอ่านรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ www.fapot.or.th

และสำหรับท่านที่ต้องการรับชมผ่านทางออนไลน์ สามารถชมภาพยนตร์บางส่วนในช่อง Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) ในหมวด มรดกภาพยนตร์ของชาติ และภาพยนตร์ทุกเรื่องสามารถมารับชมค้นคว้าได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ ซึ่งได้ขยายเวลาให้บริการเป็นทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 น. -17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image