เขียนภาคใต้ : จินตนาการ และการเมืองเรื่องการแปล

เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา มีงานใหญ่ที่น่าสนใจมากในสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์งานหนึ่งเกิดขึ้นที่ จ.สงขลา คือ ‘เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 10 : Thai Humanities Forum 2016’ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มีการเสนองานวิจัยที่น่าสนใจอย่างยิ่งหลายชิ้นงานและเสวนาประเด็นต่างๆ จากนักวิชาการทั่วประเทศ รวมถึงหัวข้อ ‘เขียนภาคใต้ : จินตนาการ และการเมืองเรื่องการแปล’ ซึ่งมี ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเสวนาอย่างเข้มข้นและสนุกสนาน โดยมี ผศ.ดร.ภมรี สุรเกียรติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดําเนินรายการ

มุมมองของแต่ละคนต่อการ “เขียนภาคใต้” ท่ามกลางความคลุมเครือเคลือบแคลงตามแนวคิดของงานในครั้งนี้มีหลายจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นคำถามให้ต้องค้นหาคำตอบต่อไx

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

Advertisement

“โจทย์ใหญ่และด่านแรกของการก้าวข้ามและความคลุมเครือในพรมแดนทางวัฒนธรรมในฐานะนักมนุษยศาสตร์คือภาษา ตอนผมเรียนปริญญาเอก มีการลงพื้นที่วิจัยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ อ.รามัญ จ.ยะลา สิ่งแรกสุดที่ผมต้องทำคือเรียนภาษามลายู แต่ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่อเมริกานั้น ครูสอนภาษามลายูไม่อยู่ เหลือแต่ครูสอนภาษาอินโดนีเซีย ก็เลยต้องไปเรียน เพราะฉะนั้นคือไกลตั้งแต่จุดเริ่มต้นเพราะผ่านการแปลมาไม่รู้กี่ชั้น ซึ่งพอเรามาใช้จริงๆ ก็พบว่าไม่ได้ต่างแค่ลักษณะของภาษา แต่ต่างที่การใช้ด้วย ในหมู่บ้านที่เรียกว่ามลายูกำปงคือผมแทบไม่ได้ใช้ที่เรียนมาเลย มาพูดได้จากการสนทนาในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าออกเสียงเปลี่ยนไปนิดเดียว ความหมายก็เปลี่ยนไปเลย จะมีความคลุมเครือในภาษา ทั้งระดับการแปลและการใช้

“นอกจากภาษาที่เข้าใจไม่ตรงกันแล้ว ในแง่ของคอนเซ็ปต์ก็ยังเป็นความคลุมเครือที่ก้าวไม่พ้นแม้จะมีคนแปลให้ก็ตาม แต่ในฐานะที่เราทำงานวิชาการ เราจะต้องพูดทุกย่างให้ชัดเจนถูกต้อง ผมก็คล้ายๆ มีทางออกระดับหนึ่ง

“เพราะงานเขียนทางมนุษยวิทยาในระยะหลัง เราไม่ได้อวดอ้างตัวเองว่าเราจะพูดแทนหรือเราจะพูดเพื่อคนอื่นอีกต่อไป แต่เป็นลักษณะ ‘พูดกับ’ เสียมากกว่า การที่เราจะสามารถอ้างว่าเราพูดแทนหรือพูดเพื่อคนอื่นได้ จะมาพร้อมๆ กับการอวดอ้างว่าเราเข้าใจเข้าได้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ในระยะหลังเราตระหนักดีถึงความสามารถในการเข้าถึงความจริงและการถ่ายทอดออกมาในทางมนุษยวิทยา เรารู้สึกว่าถูกติดตรึงอยู่กับเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เพราะเหตุนี้ผมจึงคิดว่าความคลุมเครือตรงนี้เราไม่จำเป็นต้องทำให้ถึงที่สุดก็ได้ เพราะที่สุดแล้วเราไม่ได้พูดแทนหรือพูดเพื่อเขา แต่เราพูดกับเขา การพูดกับก็ชี้ให้เห็นตัวเราว่าความสามารถของเราในการเข้าถึงเขา หรือการเจรจากับเขามันเป็นอย่างไรแค่ไหนเสียมากกว่า

Advertisement

“นอกจากนี้ ไม่ได้มีแค่เราที่จะพยายามทำความเข้าใจ คนที่เราไปศึกษาเองก็อยากและพยายามที่จะก้าวข้ามมัน เราพยายามเข้าไปในโลกของเขา เขาก็พยายามขยับโลกออกมาเช่นกัน

“ที่สุดแล้วในความคลุมเครือไม่ว่าจะในทางภาษาหรือทางวัฒนธรรม ก็มีเสน่ห์และความเย้ายวนให้เราสืบค้นต่อไปได้ไม่สิ้นสุด”

ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี

“การแปลไม่ได้เชื่อมโยงกับความถูกต้องตลอดเวลา ต้องอธิบายก่อนว่าเราเข้าใจคำว่าแปลอย่างไร อย่างแรกเลยคือเวลาเราพูดถึงการแปลเรามองความถูกต้อง ความหมาย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มาจากตะวันตก จริงๆ การแปลมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่กรีกโรมัน ในอารยธรรมกรีกโรมัน จะมีการถกเถียงตลอดว่าแปลตรงตัวหรือไม่ แม้แต่การแปลไบเบิลก็เถียงกัน แต่ในโลกตะวันออก ดูแค่ใกล้ๆ บ้านก็ได้ ในอินเดียไม่มีการแปลเพราะคิดว่าอารยธรรมที่มียิ่งใหญ่ที่สุด จนอังกฤษเข้ามาแล้วถูกบังคับให้แปลเพราะเป็นอาณานิคม ก่อนหน้านี้สิ่งที่ใกล้เคียงกับการแปลในอินเดีย คือการเอามหากาพย์ ไม่ว่าจะเป็นมหาภารตะหรือรามายณะไปเล่าในภาษาอื่นๆ เช่น ทมิฬหรือเบงกอล ซึ่งแน่นอนว่าเวลาเอาไปเล่าต่อก็จะเชิดชูตัวละครบางตัว ตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น เป็นจุดที่ทำให้มหากาพย์เหล่านี้มีหลากหลายแบบ ซึ่งใกล้เคียงกับการแปล เมื่ออังกฤษเข้ามา ก็ถามว่าการแปลในภาษาของคุณคืออะไร ก็ไม่มีใครบอกได้ จนเกิดคำว่าอนุวาท ที่แปลว่าพูดอีกครั้งหนึ่ง เป็นการพูดซ้ำ

“เพราะฉะนั้นคำว่าแปลไม่ได้ถูกจำกัดโดยภาษาอย่างเดียว การแปลเป็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ ที่ให้ความหมายการแปลเปลี่ยนไป เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของคำว่าการแปลตลอดเวลา

“แนวคิดเรื่องการแปลคือความถูกต้องเป็นกระแสที่มาจากตะวันตก แต่เราเรียนรามเกียรติ์ สามก๊กในชั่วโมงภาษาไทย ไม่ใช่ชั่วโมงการแปล ชี้ให้เห็นว่าเรามองข้ามกิจกรรมการแปลหลายอย่าง เครดิตรามเกียรติ์คือรัชกาลที่ 1 เครดิตสามก๊กคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ งานพวกนี้มีคนแปลมากกว่า 1 คน เพราะกวีราชสำนักร่วมกันแต่ง สามก๊กมีคนจีนมาช่วยอ่าน อาลักษณ์มาช่วยถอดความ แต่เราไม่เคยเห็นคนตัวเล็กๆ เหล่านั้นมาร่วมกันแปล ซึ่งทำให้เรื่องของความหมายของใครเป็นคนสร้าง ใครเป็นคนกำหนด ยิ่งน่าปวดหัวถ้ามองย้อนกลับไป มีความเคลือบแคลงและกว้างมาก ขึ้นอยู่แต่ละกรณีว่าจะเรียกกระบวนการนั้นอย่างไร

“ความแปลจึงไม่จำเป็นต้องเท่าตรง เพราะเป็นวาทกรรม บางทีอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวภาษาเสมอไป เพราะอยู่ที่วาทกรรมแวดล้อมตัวภาษานั้นอีกทีหนึ่งด้วย ถูกกำหนดด้วยวาทกรรมข้างนอกมากกว่าตัวภาษาเอง”

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม

“พูดถึงงานเขียนภาคใต้ในเชิงวรรณกรรม ก็คิดถึงวรรณกรรมจำนวนหนึ่ง คนแรกที่คิดถึงคือมนัส จรรยงค์ เพราะเขียนเรื่องภาคใต้มาก มีลักษณะบางอย่างในงานเขียนเรื่องภาคใต้ งานมนัส จรรยงค์ เขียนเรื่องแปลกๆ ในภาคใต้อย่าง บาโหย ท่อนแขนนางรำ ซาเก๊าะ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่เหนือจริง แต่มีอาถรรพ์ มนต์อะไรที่เราเข้าใจไม่ได้ มีอารมณ์บางอย่าง แล้วต่อมาเรื่องที่ทำให้ผมคิดถึงคืออิงอร เขียนเรื่อง ดรรชนีนาง ซึ่งดูลึกลับมาก แล้วเรื่องอีกเรื่องที่เข้ามาในความคิด คือไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่คนทำงานวิชาการเกี่ยวกับวรรณกรรมภาคใต้ไม่เคยพูดถึงเลยคือเรื่อง ต่วนรายา ของ เพชร สถาบัน คือเขียนเรื่องภาคใต้ แต่มีเสือสมิง มีวังวิเศษเลย เป็นเรื่องลึกลับ แต่เรื่องที่คิดถึงมากที่สุดคือเรื่องสั้นตังกาเด็ง ของรัตนะ ยาวะประภาส ว่าด้วยโจรที่ฆ่ากันตายเพราะแย่งแม่ม่ายที่มีเงาะสีงาช้าง ซึ่งเรื่องพวกนี้มีความลึกลับซับซ้อน

“พอไปดูงานวิชาการที่ว่าด้วยวรรณกรรมภาคใต้ จะเห็นประเด็นที่เสนองานเขียนเกี่ยวกับโลกมลายูมากกว่า ว่ามีความลึกลับ ความแปลกที่เข้าถึงไม่ได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าวิธีคิดแบบนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการคิดถึงวรรณกรรมแบบเรียลลิสติก สัจนิยม ความสมจริง

“แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นยังมีอีกด้านนึงที่น่าสนใจ คือ วรรณกรรมจำนวนหนึ่งที่เขียนเรื่องภาคใต้โดยคนใต้ แต่ไม่ได้เขียนถึงโลกมลายู รวมถึงดงจระเข้ ของเทพ มหาเปารยะ ที่เขียนถึงดงจระเข้ที่ปากพนัง ที่ลึกลับ มีอาถรรพ์ เป็นเรื่องที่แปลกไม่สมจริง แต่เรื่องที่ทำให้ผมคิดถึงมากที่สุดคือเรื่องของ อัตถากร บำรุง ในรวมเรื่องสั้น หมู่บ้านแห่งเมืองหลวง มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ แสงสะท้อนของเกล็ดปลาพลวง พูดถึงหมอยาสั่งที่ขี่ม้าผ่านช่องเขาแล้วจะถูกดักฟัน เลยเด็ดใบไม้เหน็บหูแล้วหายตัวได้ แบบนี้อธิบายด้วยลักษณะสมจริงไม่ได้ เรื่องแบบนี้มีอยู่ทั่วไปในจารีตของภาคใต้ และเป็นลักษณะเรื่องเล่าของความเป็นใต้ที่เราไม่ค่อยพูดถึง เป็นเสน่ห์ของงานเขียนท้องถิ่นที่เราลืมไป จริงๆ ถ้ามองไปจากงานเขียนของนักเขียนภาคใต้ มีนักเขียนคนหนึ่งที่เอาจารีตแบบนี้มาเล่าได้ดีมากๆ คือ ภู กระดาษ ในรวมเรื่องสั้น ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ (สนพ.มติชน) มีหลายเรื่องที่หยิบจารีตท้องถิ่นแบบนี้มาเล่าอย่างไร้กาลเวลา และมีความร่วมสมัยของวรรณกรรมสมัยใหม่ในนั้นด้วย แล้วยังเล่นประเด็นตำนานกับอำนาจรัฐได้ดีมาก

“เพราะฉะนั้นงานเขียนภาคใต้ไม่มีแค่วรรณกรรมในโลกมลายู ลักษณะเรื่องเล่าในจารีตท้องถิ่นอย่างที่กล่าวมีไม่น้อย และมีเสน่ห์มาก แต่เราหลงลืมไปเพราะเราถูกครอบงำด้วยนักเขียนฝ่ายซ้ายหลัง 2500 นั่นเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image