“ทำอย่างไรเมื่อเด็กสูญเสียพ่อแม่?” เรื่องเล่าจาก ‘ดวงใจพิสุทธิ์’ ในสายตา ‘หมอ’

เพิ่งออกอากาศไปได้แค่ไม่กี่ตอนก็ถูกยกให้เป็นหนึ่งในละครนำดีอีกเรื่อง สำหรับ ‘ดวงใจพิสุทธิ์’ ทางช่อง 3 ที่เรื่องราวว่าถึงเด็ก 2 คน โดยคนหนึ่งนั้นแรกเริ่มเดิมทีเป็นหัวใจของบ้าน คุณพ่อคุณแม่รักใคร่อุ้มชู แถมมีคุณย่าคอยให้ความรักความอบอุ่น แต่ว่าภายหลังกลับต้องเสียพ่อแม่ไป และยังถูกป้าสะใภ้คอยทำร้ายร่างกายและจิตใจอีกด้วย

สำหรับประเด็นการสูญเสียพ่อแม่นั้น ล่าสุด  พญ.เบญจพร ตันตสูติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แอดมินเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ก็ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่อเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ 

โดยว่า…

#แม่ไปสวรรค์แล้วค่ะ_พ่อก็ไปด้วย
หมอได้มีโอกาสดูละครเรื่อง ดวงใจพิสุทธิ์ ที่เพิ่งฉายไปไม่กี่ตอนทางช่องสาม เป็นละครอีกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กๆ และผู้ใหญ่น่าจะมีโอกาสได้ดู
ในตอนแรกของละคร มีเรื่องราวของปุ๊กกี้ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งสูญเสียพ่อแม่ไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
“แม่ไปสวรรค์แล้วค่ะ พ่อก็ไปด้วย” เป็นคำพูดที่ปุ๊กกี้บอกกับคุณน้า น้องชายของแม่ ในงานศพของพ่อแม่ปุ๊กกี้
“ไม่เป็นไรนะคะปุ๊กกี้ ยังมีคนรักปุ๊กกี้อีกเยอะแยะเลย ไม่ต้องกลัวนะคะ นี่คุณย่าให้น้ามาตามเข้าไปข้างใน ปุ๊กกี้อยากเข้าไปด้วยกันมั้ยคะ” น้าชายพยายามปลอบ
ปุ๊กกี้ไม่ตอบ ร้องไห้กอดตุ๊กตา ตุ๊กตาที่แม่เป็นคนเย็บให้เป็นของขวัญวันเกิด
“อย่างนั้นน้าจะนั่งอยู่ตรงนี้เป็นเพื่อนปุ๊กกี้นะคะ ปุ๊กกี้อยากเข้าไปข้างในเมื่อไหร่ บอกน้านะ”
สักพักปุ๊กกี้ก็ตามน้าเข้าไปในงานศพอย่างเศร้าสร้อย
ในกรณีนี้ หมออยากพูดถึงสองประเด็นที่เกี่ยวข้อง หนึ่งคือ ความเข้าใจเรื่องการตายตามวัยต่างๆของเด็ก สองคือ การพาเด็กที่สูญเสียไปงานศพ
.
สำหรับเด็ก ประสบการณ์การสูญเสียเป็นสิ่งที่ใหม่ และน่าเศร้า แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง เราที่เป็นผู้ใหญ่จะช่วยเด็กให้ผ่านพ้นเวลานั้นไปได้อย่างไร
เมื่อคนที่รักและใกล้ชิดเสียชีวิตเป็นประสบการณ์ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องรู้สึกเจ็บปวด
สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ความคิดความเข้าใจยังไม่พัฒนาเพียงพอ เพราะฉะนั้น เด็กเด็กไม่ได้ต้องการคำอธิบายที่ซับซ้อนมากมาย แต่สิ่งที่เด็กๆต้องการ คือ การปลอบโยน และความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด
เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี จะเห็นว่าความตายเป็นเรื่องที่ชั่วคราวและคิดว่าความตายจะกลับคืนย้อนกลับมามีชีวิตได้
ส่วนในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยอายุ 6 ถึง 8 ปีจะเริ่มพัฒนาความเข้าใจในเรื่องความตายให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเด็กอายุไม่ถึง 9 ปี เด็กก็ยังไม่เข้าใจว่าความตายนั้นเป็นเรื่องที่ถาวรและย้อนกลับไม่ได้
ด้วยเหตุผลนี้ สำหรับเด็กเล็กๆ ผู้ใหญ่จึงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายซับซ้อนเพราะเด็กจะไม่เข้าใจ
สมมติว่าเด็กเล็กในวัย 3-5ปี ที่คุณพ่อเสียชีวิต เด็กวัยนี้มักจะคิดว่า การตายเป็นเหมือนการนอนหลับ ตายแล้วอาจจะฟื้นขึ้นมาอีก เด็กอาจจะถามเราบ่อยๆว่า เมื่อไหร่ พ่อจะฟื้นขึ้นมา เราอาจจะต้องอธิบายบอกแกบ่อยๆว่า พ่อจะไม่ฟื้นอีก ไม่ตื่นขึ้นมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยว่า ผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่จะดูแลและอยู่ข้างๆเขา ไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้ใหญ่ไม่ควรโกหกเด็ก บางทีคำอธิบายที่ไม่เป็นความจริง เรื่องผีปีศาจ จะยิ่งทำให้เด็กกังวลใจ กลัว สับสน และกลายเป็นไม่เชื่อใจ
บางทีเด็กเล็กๆจะคิดว่าที่คนที่รักตายไปเป็นเพราะเค้าทำอะไรผิดหรือเปล่า ก็จะมีคำถามมาถาม
เช่น
“ทำไมพ่อของหนูตาย เป็นเพราะหนูดื้อ เป็นเด็กไม่ดีหรือเปล่า”
“พ่อตายแล้วไปไหน แล้วจะได้เห็นพ่ออีกไหม”
“ถ้าหนูเป็นเด็กดีพ่อจะกลับมาไหม”
ผู้ใหญ่ควรตอบเด็กด้วยความจริงใจ ไม่ต้องซับซ้อน ใช้คำพูดที่เด็กจะเข้าใจได้ง่ายตามวัยของเด็ก
.
ส่วนในกรณีที่ต้องพาเด็กไปงานศพ เช่น ปุ๊กกี้ เราจะเห็นในละครว่า ปุ๊กกี้ร้องไห้มาก ดูลังเลที่จะเข้าไปในงานศพ แล้วถ้าเราเจอกรณีเช่นนี้ในชีวิตจริง ควรทำอย่างไร
อย่างแรกคือ ควรหาผู้ใหญ่ที่เด็กเชื่อและไว้ใจ เข้าใจเด็กพอสมควร เป็นคนที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตาย เช่น เป็น คุณน้าหรือคุณอา
ผู้ใหญ่คนนี้จะทำหน้าที่ อธิบายให้เด็กฟังง่ายๆว่าจะเจออะไรบ้างในงานศพ พิธีการต่างๆเป็นอย่างไร ถ้าเด็กยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมพิธีเต็มที่ก็อาจจะร่วมเท่าที่เด็กจะรู้สึกสบายใจ เช่น นั่งร่วมพิธีอยู่ข้างนอกที่ห่างออกมาหน่อย เป็นต้น คอยอยู่เป็นเพื่อนเด็กตลอดพิธี สังเกตปฏิกิริยาเด็ก ดูว่าไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหว รู้สึกไม่ดี ก็อนุญาตให้เด็กออกจากพิธีได้
ถ้าเด็กยืนกรานจะไม่ร่วมพิธี ก็อย่าบังคับ อย่าพูดให้เด็กรู้สึกผิด เช่น เดี๋ยวพ่อแม่ที่ตายไปจะเสียใจนะ ถ้าหนูไม่เข้าไป
ในเด็กที่โตหน่อยและพร้อมก็ควรลองกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในพิธีกับผู้ใหญ่ เช่น กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ เด็กจะสามารถจัดการกับความเป็นจริงที่เกิดในเรื่องการตาย อยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น โดยมีผู้ใหญ่และคนรอบข้างคอยให้กำลังใจและช่วยเด็กให้ผ่านไปได้
ในเด็กที่ยืนกรานว่าไม่ยอมไปร่วมงานศพ โดยเฉพาะเด็กโตแล้ว เราควรหาสาเหตุที่เด็กไม่ไปร่วมงาน อย่างไรก็ดีถ้าเด็กยืนยันที่จะไม่ไป ก็ไม่ควรบังคับ เคารพในการตัดสินใจนั้นๆของเด็ก
แม้เป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่เด็กจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้
แต่สำหรับปุ๊กกี้ เรื่องเศร้าๆ ยังไม่จบแค่นี้
ไว้หมอจะเขียนต่อวันหลังนะคะ
#หมอมินบานเย็น
#ดวงใจพิสุทธิ์

Advertisement

นับเป็นคำแนะนำที่น่าจะช่วยเป็นทางออกให้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ได้ดีทีเดียว

 

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก  เข็นเด็กขึ้นภูเขา 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image