ดูเมื่อไหร่ก็สนุก ‘บริดจ์ ออฟ สปายส์’ สมัยที่อารมณ์เหนือกฎหมาย

ด้วยชื่อเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำจากหนังสือชื่อ ‘บริดจ์ ออฟ สปายส์’ (Bridge Of Spies) ของไจล์ส วิทเทิล ขณะเดียวกันก็มีส่วนจากหนังสืออีกเล่มของเจมส์ บี. โดโนแวน เรื่อง ‘สเตรนเจอร์ส ออน อะ บริดจ์’ (Strangers on a Bridge) อันเป็นเรื่องจากเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง จากการแลกเปลี่ยนสายลับรัสเซียกับนักบินอเมริกันในเยอรมันยุคสงครามเย็น ที่กำแพงเบอร์ลินตั้งขึงตระหง่าน

เหตุการณ์นี้ หากผู้อ่านที่วัยเกิน 60 ปียังมีความทรงจำไม่พร่อง ก็คงนึกได้ว่ากรณีนี้เป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากความเข้มข้นของข่าวกระทบความเชื่อความหวาดกลัวของผู้คนขณะนั้น

เพราะเพิ่งสิ้นสงครามโลกครั้งหลังไม่นาน เป็นความเชื่อและความหวาดกลัวคอมมิวนิสม์ ที่เห็นสายลับเป็นคนเลวร้ายจากพฤติกรรมเลวร้าย ที่แทรกซึมเข้าบ่อนทำลายประเทศอื่น

ปี 2500 ในเขตบรุคลิน นิวยอร์ค เอฟบีไอจู่โจมเข้าจับชายชรา รูดอล์ฟ เอเบิล และส่งฟ้องว่าเป็นสายลับโซเวียต อันมีโทษถึงประหารชีวิต

Advertisement

บริด

เพื่อให้โลกเห็นว่าสหรัฐเป็นประเทศอารยะ โดโนแวนทนายผู้ชำนาญคดีประกัน ทอม แฮงค์ ถูกขอให้รับเป็นผู้แก้ต่างแก่สายลับผู้นั้น ผู้ซึ่งไม่เคยพูดถึงงานของตัว หรือยอมรับว่าเป็นสายลับ

โดโนแวนพยายามทำงานอย่างตรงไปตรงมา โดยซื่อสัตย์ กระทั่งการจู่โจมเข้าจับกุมและเข้าค้นโดยไม่มีหมาย ก็ยกเป็นประโยชน์ตามกฎหมายแก่จำเลย เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติแก่จำเลยอื่นๆ

Advertisement

หากมิใช่ด้วยบรรยากาศในยามนั้น แม้แต่ผู้พิพากษาก็ไม่ยอมรับข้อโต้แย้ง เห็นว่าการทำหน้าที่ทนายก็แค่ทำๆไปเท่านั้น ไม่เห็นต้องจริงจังเพราะนั่นคือสายลับ (เหมือนกับคนทั่วๆไปคิด) อย่างไรก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดอยู่แล้ว เช่นเดียวกับภรรยาที่ว่ารับทำคดีเช่นนี้ได้อย่างไรโดยไม่นึกถึงครอบครัว ทนายสายลับย่อมเน่าเหม็นน่ารังเกียจเท่าสายลับไปด้วย

นี่เอง ที่ทำให้อย่างน้อยๆสหรัฐอเมริกาก็มีความแตกต่างจากอีกหลายประเทศ ที่ปัจเจกชนสามารถยืนหยัดด้วยความเชื่อที่ถูกต้อง ต่อสู้กับทั้งระบบอันคลอนแคลนโดยบุคคลได้ ในที่นี้คือถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

สตีเวน สปิลเบิร์ก ผู้กำกับชั้นเยี่ยมคนหนึ่ง ชูประเด็นเห็นชัดนี้ได้อย่างน่าชม

บริด 3

แต่ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิต ตามระดับอารมณ์ของผู้คนขณะนั้น โดโนแวน ทอม แฮงค์ เข้าพบผู้พิพากษาอีกครั้ง แจกแจงผลได้ผลเสียจากการตัดสินคดีโดยไม่รู้ว่าผู้พิพากษาคิดอย่างไร

ขณะเดียวกันนั้นเอง นักบินสอดแนม ยู 2 ซึ่งบินได้สูงถึง 7 หมื่นฟุตเพื่อลอบถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆ ถูกยิงตก นักบินถูกจับ นักบินซึ่งก่อนบินถูกบอกเป็นนัยๆว่า ตายดีกว่าถูกจับ กลายเป็นข่าวกระฉ่อนไปทั่วโลก

พร้อมๆกับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์อเมริกันอีกคนถูกกุมขัง เพราะไปอยู่ผิดข้างระหว่างโซเวียตก่อกำแพงเบอร์ลิน

ความคิดในการแลกเปลี่ยนผู้ถูกจับกุมจึงเกิดขึ้น และโดโนแวนกลายเป็นตัวกลางไปโดยปริยาย ชนิดไม่สามารถอ้างว่าเป็นตัวแทนของใครหรือฝ่ายใดเสียด้วย

สายลับที่รอดตะแลงแกงกลับบ้านไปแล้ว ย่อมถูกผู้คนหวาดระแวงว่าคายความลับใดไปบ้าง นักบินซึ่งหากกลับบ้านได้ก็เกือบไม่มีใครพูดด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่คายอะไรไปแล้ว ตรรกะที่แม้ผู้ถูกจับทั้งสองจะปิดปากได้สนิทก็ไม่มีใครเชื่อถือ จะทำร้ายจิตใจคนขนาดไหน

หนังเรื่องนี้ถูกเสนอชื่อชิง 6 ตุ๊กตาทองออสการ์ รวมทั้งหนังยอดเยี่ยม แต่ได้รางวัลเดียวคือนักแสดงสมทบยอดเยี่ยม มาร์ค ไรแลนซ์ ที่เล่นเป็นสายลับโซเวียตนั่นเอง.

บริด อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image