‘นาคี’ ฉบับพงษ์พัฒน์ งานดีแต่ยังมีเรื่องให้ถก

ได้รับเสียงนิยมชมชื่นอึงคะนึงกับหนังชุดสองทุ่มของช่อง 3 เรื่อง ‘นาคี’ ฝีมือพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เพียงสองตอนแรกจันทร์อังคารที่ผ่านมา สื่อสาธารณะก็ยกนิ้วโป้งกดไลค์ให้เป็นแถว

เสียงชมมากที่สุดคือความพยายามในการฝึกตัวละครให้ใช้ภาษาอีสานเดินเรื่อง ตามภูมิหลังของสถานที่ ตามมาด้วยการชมความงามของตัวละครนำ ณฐพร เตมียรักษ์ ทั้งในชุดโบราณ และการไม่แต่งหน้ามาก ซึ่งประการหลังดูจะควบคุมให้พอดีไปถึงตัวละครอื่นๆด้วย

จากนั้นจึงพูดกันถึงการใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ เพราะเป็นเรื่องงูกับนางพญางูในจินตนาการ มีหงอน ไม่ใช่งูพันธุ์ซึ่งมีอยู่ในโลก ต้องใช้ซีจีหรือกระบวน ทางคอมพิวเตอร์ผลิตขึ้นมา ก็ได้เสียงชมที่สามารถทำให้กลมกลืนไปกับการแสดงของตัวละครได้ ไม่โดดเป็นการ์ตูนผสมหนังออกมา

แล้วจึงเป็นการชมกระบวนงานสร้าง ซึ่งที่เด่นจนเห็นได้คือการพยายามใช้แสงจริงตามกาลเทศะ เช่นแสงตะเกียงตอนกลางคืนเป็นต้น นอกเหนือความตั้งใจให้สมจริงของสภาพแวดล้อมหมู่บ้านในเรื่อง

Advertisement

sf

นาคีเป็นนิยายของตรี อภิรุม ซึ่งโด่งดังมาจากนิตยสารบางกอก ตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว เจ้าของ ‘แก้วขนเหล็ก’ กับ ‘จอมเมฆินทร์’ ที่เคยเป็นทั้งหนังและละครมา โดยเฉพาะเรื่องหลัง (2516) เป็นที่รู้กันว่าสมบัติ เมทะนี พระเอกตลอดกาลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังไทย รับบทเป็นผู้ร้ายหรือตัวร้ายเป็นเรื่องแรก ซึ่งไม่ธรรมดาที่สุดสำหรับยุคนั้น ที่พระเอกจะมาเป็นผู้ร้าย

อาจเทียบได้กับดาราตุ๊กตาทองเกรกอรี่ เปค จาก ‘ทู คิล อะ มอคกิ้งเบิร์ด’ To Kill a Mockingbird (2505) กับบทซึ่งถูกโหวตว่าเป็นพระเอกคนดียิ่งกว่าบทใดของฮอลลีวู้ด และเป็นพระเอกมาทุกเรื่อง

จนเมื่อรับบท ‘ดร. โจเซฟ เมงเกเล่’ นาซีเยอรมันเจ้าแห่งความตาย ที่คิดหาวิธีฆ่าชาวยิวให้ได้มากที่สุดในเวลาน้อยที่สุด และใช้ชีวิตมนุษย์ทดลองวิปริตต่างๆ ในหนังเรื่อง ‘เดอะ บอย ฟรอม บราซิล’ The Boys from Brazil (2521) จึงเป็นข่าวกล่าวขวัญไม่ธรรมดาเช่นเดียวกัน

‘นาคี’ เคยเป็นหนังมาแล้วแต่ปี 2522 เป็นงานของรัตน์ เศรษฐภักดี ที่อาจไม่ได้อยู่ในความทรงจำผู้คน เพราะไม่ได้นักแสดงที่ผู้คนจดจำ แล้วมาเป็นหนังโทรทัศน์ปี 2531 กาญจนา จินดาวัฒน์กับเอกพันธุ์ บรรลือฤทธิ์ แสดง ก่อนจะเป็นงานสร้างครั้งที่ 3 คราวนี้

นาคีคี

เป็นเรื่องอดีตที่บรรจบกับปัจจุบัน เมื่อนักเรียนโบราณคดีหนุ่มกลับไปพบเจ้าแม่นาคีที่ยังสิงสู่ในเทวสถาน ซึ่งรอชายคนรักที่พรากจากกันมาหลายภพหลายชาติ

เพียงสองตอนแรกอาจยังพูดอะไรไม่ได้มาก แต่บางประเด็นก็สามารถถกกันระหว่างผู้สร้างกับผู้ชมได้ เช่นการมีบทนักศึกษาหญิงที่เกาะเพื่อนชายแจนั้น ยังสร้างอารมณ์รู้สึกแก่ผู้ชมจำนวนไม่น้อยได้ ว่าหมั่นไส้น่ารำคาญไปต่างๆ ทั้งๆเป็นส่วนไม่สมจริงในความประเจิดประเจ้อของพฤติกรรมนักศึกษาเช่นนั้น แต่เป็นบทในละครทั่วไปที่ผู้สร้างอาจคิดว่าต้องมี

นี่ยังเป็นประเด็นว่าทำไมผู้สร้างจึงไม่หล่อหลอมผู้ชมให้เกิดความเคยชินใหม่ๆที่ก้าวไกลไปจากเดิม ด้วยการสร้างภาพที่สมจริงยอมรับได้ขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนบทบรรดาตัวตลกตามพระในลิเก อย่างพวกเพื่อนพระเอก ทำไมพระเอกต้องเก่งและรู้มากอยู่คนเดียว เพื่อนๆทำได้เพียงจำอวดเรียกเสียงหัวเราะ เพื่อให้พระเอกเด่นขึ้นมา ทำไมเพื่อนพระเอกซึ่งเรียนหนังสือมาด้วยกัน สติปัญญาต้องแตกต่างไปได้มากถึงขนาดนั้น ให้พระเอกคิดอะไรได้อยู่คนเดียว

หรือเพียงอยากให้มีเสียงหัวเราะหรือบทตลกสลับเนื้อหาเข้มๆ ในยุคที่หนังชุดเกาหลีแพร่หลายอยู่นี้ ผู้ชมไม่น้อยเห็นอยู่ได้เองว่าพระเอกนางเอกก็ตลกเองไปตามเนื้อหาได้ ไม่ต้องใช้รูปแบบลิเกเดิมๆ

ddd

ขณะเดียวกัน นักเรียนโบราณคดีที่อ่านมากรู้มาก ตอบคำถามอาจารย์ได้จนเพื่อนๆแปลกใจ ไฉนไม่รู้จักผีตาแฮก (รูปสมมติทำขึ้นเป็นที่อยู่ผีซึ่งปกปักไร่นา)ซึ่งพื้นฐานที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมเกษตรกรรม เช่นเดียวกับนักเรียนนายร้อยเยอรมัน ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ ใน ‘เพชรพระอุมา’ ที่ไม่รู้จักซีซาเรียน (Caesarean) หรือการผ่าท้องคลอด ทั้งๆที่รู้เรื่องหลักๆและตรรกะมากมาย

จริงอยู่ นักเรียนนายร้อยเยอรมันอาจมีที่ไม่รู้จักซีซาเรียน แต่ในกรณีดังกล่าว รายละเอียดของเนื้อหาทำให้ผู้อ่านยอมรับได้ยากกว่า ถ้าเป็นเรื่องโรคเลือดหรืออะไรอื่นที่ซับซ้อนจนหมอดาริน วราฤทธิ์ ต้องอธิบายเพราะรพินทร์อาจไม่รู้ ผู้อ่านอาจยอมรับได้ง่ายกว่า

นี่เป็นอีกแง่มุมที่อาจถกเถียงกันได้ไม่ว่าจะเขียนนิยายหรือเขียนบทละคร

สุดท้าย สำหรับสองตอนแรกที่ผู้ชมชื่นชอบก็คือ การชักชวนให้ฟังเพลงคู่คอง (รอคอย) ของก้อง ห้วยไร่ และดนตรีประกอบที่สันทัดจัดเจนกับอารมณ์ภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องยกความชอบให้ผู้กำกับที่ควบคุมงานสร้างไปด้วย.

 

 

ขอบคุณคลิปจาก 【series@thaidrama】

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image