โรงเหล้าแสงจันทร์ ลั่น อย่าเอาแต่สั่งปิด ประกาศเชื่อนายกฯ ตั้งเป้าเปิด 1 ธ.ค. ขอ ศบค.แจงมาตรการที่ต้องทำ
จากกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ออกมาแถลงเรื่องการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่าจากเดิมที่มีการหารือกันว่าอาจจะให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม แต่ล่าสุดที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการเปิดบริการออกไปก่อน เพราะยังมีข้อกังวล ทั้งในเรื่องการระบายอากาศ พื้นที่ใกล้ชิด ความแอดอัดซึ่งต้องใช้มาตรการควบคุมอย่างสูง จึงขอใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 เตรียมความพร้อม
- ‘บิ๊กตู่’ลั่น เปิดรับนักท่องเที่ยวตปท.ฉีดวัคซีนครบ 1 พ.ย.ไม่ต้องกักตัว 1 ธ.ค.ดื่มในร้านได้ สถานบันเทิงเปิดบริการได้
- ดับฝัน ‘ผับ บาร์ คาราโอเกะ’ ปิดยาวถึง 15 ม.ค.65 ลดพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 6 จังหวัด
- สถานบันเทิงชื่อดัง โอดเลื่อนเปิด 15 ม.ค. หลังนายกฯเคยส่งสัญญาณเปิด เรียก พนง.กลับมาแล้ว ทำไง!
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายอนันต์ สุวรรณปาน ประธานกรรมการโรงเหล้าแสงจันทร์ ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ โรงเหล้าแสงจันทร์ สาขาต่างๆ ในเครือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยว่าโรงเหล้าแสงจันทร์ ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐมาตลอด เพราะเคารพการอยู่ร่วมกับสังคม แต่ตอนนี้สุดจะอดกลั้น เนื่องจากสถานบริการถูกปิดมา ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศว่าให้เปิดได้ในวันที่ 1 ธันวาคม ก็มีความหวัง แจ้งให้ร้านในเครือติดต่อพนักงานที่ออกไปทำงานพาร์ตไทม์ช่วงก่อนให้กลับมาเตรียมเริ่มงานใหม่ ให้ทำความสะอาด จัดการทุกอย่างให้พร้อมเปิด แต่ล่าสุด ศบค.กลับประกาศว่าให้เลื่อนการเปิดออกไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม ซึ่งก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
“พอนายกฯประกาศจะเปิดประเทศ 1 ธันวาคม สถานบริการเปิดได้ ผมก็ประกาศต่อ เพราะผมเชื่อนายกฯ นายกฯพูดแล้ว ก็เรียกพนักงานทุกสาขามารวมกัน บอกพนักงานว่า ถ้าอยากกลับมาทำงานต้องฉีดวัคซีนเท่านั้น ลูกค้าต้องฉีดวัคซีน แล้วสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดคืออะไร”
นายอนันต์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนข้องใจคือ เรื่องที่กลัวสถานบริการแพร่เชื้อ ถามว่าสถานบริการปิดมา 8 เดือนแล้ว การแพร่เชื้อยังเกิดไหม ขณะที่สถานที่ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีการแพร่เชื้อ ล้วนกลับมาเปิดบริการได้ภายใต้มาตรการต่างๆ แต่สถานบริการ สถานบันเทิงกลับไม่มีมาตรการใดๆ มาให้ปฏิบัติตาม บอกแค่เพียงเป็นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
“ศบค. หรือรัฐบาลมองเรายังไง มีมาตรการอะไรมาให้เราไหม ไม่มี อยากปิดก็ปิด พูดได้แค่นี้ สั่งให้ปิด สั่งง่ายมากครับ ปิดเดือน 5 วัน 10 วัน ผมไม่ว่า แต่นี่ 8 เดือนแล้ว ทุกคนต้องกินต้องใช้ พ่อแม่คุณกินข้าว พ่อแม่ผมก็กินข้าว ลูกเมียคุณกินข้าว ลูกเมียผมก็กินข้าว อาชีพทุกอาชีพเปิดบริการได้ แต่สถานบริการมีปัญหาตรงไหนถึงเปิดไม่ได้ ยุติธรรมกับพวกเราไหม”
นายอนันต์ยังกล่าวด้วยว่า พนักงานของเขาทุกสาขารวมแล้วกว่า 1 พันคน ขณะที่คนในภาคบริการนี้มีทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน ยังไม่นับรวมคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ
“โชว์ทุกวันว่าฉีดวัคซีนไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมเราเปิดไม่ได้” นายอนันต์กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้ศบค.ต้องทบทวน และต้องมีมาตรการมาให้แก้ไข
“แต่ถ้าคุณจะปิดอย่างเดียวพวกผมก็จะเปิดเหมือนกัน เพราะจนตรอกแล้ว จะตายกันหมดแล้ว พวกคุณมีรถหลวงใช้ มีบ้านหลวงพัก มีอันจะกิน คุณไม่รู้หรอกว่า คนอย่างพวกผมอยู่กันยังไง คุุณไม่มีวันรู้ เพราะคุณไม่เคยมาเป็นเหมือนเรา คุณเป็นบุคคลชั้นสูง คุณไม่รู้หรอก พวกเราลำบากยังไง วันนี้สุดทน สุดกล้ำกลืนแล้ว ถึงเวลาต้องออกมาพูดให้ ศบค. ให้รัฐบาลเข้าใจ”
นายอนันต์กล่าวอีกว่า ไม่มีใครอยากติดโควิด พนักงานไม่อยาก ลูกค้าก็ไม่อยาก ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีมาตรการมาให้ ตนก็จะนำมาตรการเหล่านั้นมาขยาย เพิ่มเกณฑ์การปฏิบัติให้มากขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งนี้ อยากฝากคนที่สามารถสื่อถึง ศบค.ได้ ช่วยบอกให้ทีว่า ไม่สามารถคุมการติดเชื้อโควิดได้ผ่านการพูด ในส่วนของพวกตนซึ่งเป็นองค์กรเล็กๆ ใช้วิธีช่วยป้องกัน โดยจะให้พนักงานตรวจ ATK พร้อมกับต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ที่ต้องเข้มงวดอย่างนั้น เพราะรู้ดีว่าถ้าเปิดแล้วมีผู้ติดเชื้อจะต้องโดนตำหนิ ว่าหละหลวม ติว่าสถานบริการเป็นที่รวมของคนแพร่เชื้อ
นายอนันต์ยังบอกด้วยว่าที่ผ่านมาเคยรวมกลุ่มกันไปยื่นหนังสือต่อภาครัฐ บอกข้อเท็จจริงทุกอย่าง จนตอนนี้ตัดสินใจจะไม่ไปอีก เพราะไปกี่รอบก็เหมือนเดิม
“แต่ก่อนเขาบอกว่าเชื่อผู้นำชาติเจริญ ผมเชื่อมาตลอด ยอมหมด ก้มหน้าก้มตาทำตามที่เขาบอก ผู้นำที่ดีต้องดูแลประชาชนทุกคนให้มีอยู่ มีกิน แนะนำเขา บอกเขาให้เขาทำยังไง คนไหนไม่ทำถือว่าผิด คนไหนทำต้องให้โอกาสเขาทำ”
“ผมเชื่อนายกฯ นายกฯบอกวันที่ 1 เปิดได้ ด้วยเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ ผมเชื่อนายกฯคนเดียว เพราะฉะนั้นวันที่ 1 เราก็จะเปิด แล้วจะมีมาตรการต่างๆ เปิดให้ภาครัฐดู ว่าสิ่งที่เราทำ ทำได้ละเอียดรอบคอบมากมายขนาดไหน แต่อย่าบอกอีกว่าเดี๋ยวก็ติด เพราะวันนี้มันก็ติดอยู่แล้ว ทุกอาชีพก็ติดหมด เราต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เราไม่เรียกร้องให้รัฐมาช่วยอะไรเลย แต่ขอให้พิจารณาหามาตรการให้คนกลางคืน ผู้ประกอบการสถานบริการได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากบ้าง เพราะมันสุดทางแล้วจริงๆ พวกเราทุกคนนั่งรอมาตรการจาก ศบค. รัฐบาลว่าถ้าให้เราเปิด เราต้องทำอะไรบ้าง แต่เราจะไม่ฟังว่าปิดอย่างเดียวห้ามเปิด โดยไม่มีเหตุผล ไม่มีมาตรการมาให้ทดลอง ”
ทั้งนี้ หากมีมาตรการมาแล้ว ร้านไหนไม่ปฏิบัติตาม มีการแพร่เชื้อก็ต้องปิดไป อีกทั้งต่อไปก็ต้องส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักป้องกันตั สถานที่ไหนทำดี ก็มอบป้ายเชิดชูความดี ไม่ใช่ติดมาจากไหนไม่รู้ แต่สถานบริการต้องปิดไป
“ถ้าคุณทำแบบนี้ทุกคนจะเห็นแก่ตัว ไม่สร้างความดี จะไม่ช่วยกันป้องกัน”