เปิดใจชอร์ตลิสต์ ‘ซีไรต์’ ในวันที่ ‘กวี’ เงียบงัน

เป็นปีที่กระแสรางวัลวรรณกรรมที่แทบจะกลายเป็นสถาบันอย่าง ‘ซีไรต์’ ค่อนข้างเงียบ ถ้าเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งอาจเพราะปีนี้เป็นผลงานประเภทกวีนิพนธ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับงานประเภทอื่นแล้วความนิยมทั้งในแง่การอ่านการเขียนจะน้อยกว่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน คณะศิลปศาสตร์ มธ. ร่วมกับ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดงาน ‘เส้นทางกวีนิพนธ์ไทยกับ (ว่าที่) กวีซีไรต์ ประจำปี 2559’ ซึ่งว่าที่ ‘กวีซีไรต์’ มาร่วมงานครบถ้วน และนี่คือสิ่งที่พวกเขาเล่าให้ฟังในวันนั้น

โรสนี นูรฟารีดา ผู้เขียน ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’

Advertisement

“การเขียนเริ่มต้นจากค่ายวรรณกรรม การเข้าค่ายทำให้รู้ว่า ในโลกของการเขียนมีกลอนอยู่แบบหนึ่งที่ไม่มีสัมผัสเลย หรือที่เรียกว่า กลอนเปล่า พอเรียนจบก็ทำงานข่าว ซึ่งทำให้เราทราบข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ ต้องฝึกคิดให้เชื่อมโยงกันว่าแต่ละสถานการณ์ส่งผลกระทบถึงกันอย่างไร แล้วจากวิธีการที่เราต้องรีบ เพราะเราเป็นข่าวออนไลน์ ก็จะได้เรื่องของฝึกคิด ว่าควรจะใช้คำให้สั้น กระชับ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นทำงานวิทยุ ซึ่งเป็นอีกทักษะหนึ่ง ซึ่งการทำงานข่าวก็มีบางอย่างที่เราไม่สามารถพูดไปในข่าวได้ ก็เป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจ บางทีก็เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวที่เราอยากบอกคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ อยากจะบอกใครก็ตามที่จัดฉากขึ้น อยากจะบอกพวกที่ได้รับผลกระทบว่า เรามีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง เราแค่อยากจะสื่อสารว่า ยังมีคนคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนี้อยู่ในโลก

ทุกๆ วันจะมีการบันทึกความรู้สึกที่หลงเหลือ และออกมาในรูปกลอนเปล่า โพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วก็จะมีเพื่อนๆ เข้ามาอ่าน แต่พอรวมเล่มเราก็ขัดเกลาภาษาให้สละสลวยขึ้น”

โรสนี นูรฟารีดา
โรสนี นูรฟารีดา

ศิวกานท์ ปทุมสูติ ผู้เขียน ‘ทางจักรา’

Advertisement

“การเขียนหนังสือเกิดจากการคิดที่มากระทบและก็เอารูปแบบมาเพื่อรับใช้ความคิด ก่อนค้นพบในเวลาต่อมาว่าการเขียนจากความคิดไม่ใช่สิ่งที่ดี เอาเรื่องมาแปลก็ทำได้ ในที่สุดก็พบว่าการเขียนหนังสือ ถ้าเราได้เขียนชีวิตอย่างจริงแท้คือสิ่งที่ดีที่สุด ทีนี้ความจริงแท้คืออะไร ความจริงแท้เป็นการใช้ชีวิตแค่นั้นหรือ? ตัวเราแค่นั้นหรือ? มันไม่ใช่ น่าจะไม่ใช่เรา ที่เป็นตัวข้า ตัวผม ตัวฉัน แต่น่าจะเป็นความหมายชีวิตที่มากกว่าตัวเองและตัวบุคคลอื่น ผมกำลังเข้าถึงทักษะในช่วงหนึ่งของชีวิต…ทักษะของชีวิตที่แท้จริง บางทีมันไม่ได้อยู่ในกายสังขาร แต่อยู่ในการเชื่อมโยงของวิญญาณที่เราสัมผัสความรู้สึก ที่เราเดินทางไปด้วยกัน”

ศิวกานท์ ปทุมสูติ
ศิวกานท์ ปทุมสูติ

พลัง เพียงพิรุฬห์ เจ้าของกวีนิพนธ์ ‘นครคนนอก’

“ผมชอบการเขียนบทกวี ผมทำงานรับจ้างมาหลายอย่าง ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นซะจนรู้สึกว่าชีวิตมันไม่ท้าทาย วันหนึ่งเดินไปตามฟุตปาธ เจอร้านหนังสือที่ภูเก็ต ผมเป็นคนที่ไม่เคยอ่านหนังสืออะไรมาก่อน ไปสะดุดตากับปกหนังสือเล่มหนึ่ง ก็หยิบขึ้นมาอ่าน เป็นเล่มแรกที่ซื้อมา นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเริ่มสนใจการเขียน”

“ผมคิดว่าบทกวีเรื่องแรกของผมทำให้ชีวิตผมเปลี่ยน ผมคิดว่าหนังสือก็คือสื่อในการเขียน ผมไม่ได้มาจากค่ายต่างๆ ไม่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้ตกอยู่ในเงื่อนไขของกล่องอะไร แต่การที่ผมมาเจอหนังสือเล่มแรกที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ ก็เหมือนกับเป็นหลักฐานให้ผมได้มีกล่อง กล่องของผมก็ได้มีที่ไว้ใส่ภาษา และทำให้ผมได้เก็บเรื่องราวมหาศาล ตอนนี้ผมก็รักการเขียนหนังสือ ถ้าวันไหนไม่ได้เขียนก็เหมือนจะตาย ไม่มีข้าวกิน การเขียนหนังสือก็เหมือนการทำกับข้าวให้ผมกิน”

“สำหรับ ‘นครคนนอก’ เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีแรงขับเคลื่อนสูงถึงขั้นเปลี่ยนโลกได้ คนในนครคนนอกก็เป็นคนธรรมดา แต่เป็นผู้คนหลากหลายที่หยิบมาใส่ในนครแห่งนี้ เหมือนจำลองหน้าเฟซ บุ๊กไว้ในบทกวี แสดงวิถีคนยุคสมัยนี้มีการติดแฮชแท็กเพื่อเชื่อมต่อและแสดงตัวตนของคนในนครแห่งนี้ ชอบบทสุดท้ายในนครคนนอกที่สุด เพราะไม่มีผู้คนอยู่เลย เป็นเรื่องของภาษาล้วนๆ ผมวาดรูป เขียนกวี เอาชีวิตแลกชีวิตออกมาเป็นผลงานที่ปรากฏ หนังสือแต่ละเล่มเป็นชีวิตของผมที่ผ่านการเคี่ยวกรำ”

พลัง เพียงพิรุฬห์
พลัง เพียงพิรุฬห์

บัญชา อ่อนดี ผู้เขียน ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’

“ตอนเด็กๆ ผมชอบฟังละคร ลิเกตามแม่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าลิเกก็คือกลอน ทำให้ผมขียนกลอนเป็น พอโตมา เริ่มรู้สึกนึกคิดผูกเรื่องเล่า ยังไม่เป็นที่เป็นทาง แต่ก็ทำให้ใจผมเริ่มค้นหาบางสิ่งที่หนังสือเคยมี ตอนนี้ผมมีผลงานรวมเล่มเล็กๆ ทั้งนวนิยาย บทกวี ความเรียง สารคดีท่องเที่ยว แต่จะเขียนเรื่องที่รู้จริง ไม่ชอบขวนขวายหาเนื้อหามาเขียน และสิ่งที่รู้คือเรื่องของคน คนและเหตุการณ์ที่เขียนต้องกระทบใจจนอยากบอกเล่าออกไป เรื่องของคนมีทั้งสนุกสนาน ตื่นเต้น และเป็นโศกนาฏกรรม แล้วยังชวนมองเรื่องของคนรอบข้าง คนหลายเชื้อชาติที่กำลังเผชิญปัญหาร่วมกันโดยที่เราคาดไม่ถึง”

“สำหรับบทสุดท้าย บางคนอาจเดินสวนทางเราไป เหมือนขีดเส้นใต้ให้ผู้อ่านจดจำ เพราะบางคนเดินสวนเราไปไม่นานถูกพรากวิญญาณไป”

พลัง เพียงพิรุฬห์
พลัง เพียงพิรุฬห์

วิสุทธิ์ ขาวเนียม ผู้เขียน ‘พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล’

“หลังพฤษภาทมิฬ ผมก็มีความใฝ่ฝันอยากเขียน กลับไปบ้าน ท้องถิ่นภาคใต้มีเรื่องราวหลากหลายมาก พวกเรื่องราวต่างๆ ชวนให้ผมคิด ผมกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวสวนยาง เรื่องราวชายแดนภาคใต้มีพวกความเชื่อต่างๆ มีสัญญะพวกกรีกโบราณ พวกพราหมณ์ ผมเข้าไปในห้วงเวลาที่รู้สึกว่าโลกที่เราอยู่เป็นมายากลจริงๆ เรื่องในอดีตที่ผมเขียนมันเป็นมายากลที่ชีวิตของผมผูกพันอยู่ มายากลของฤดูกาล ของความเชื่อ แล้วโลกอีกใบที่ผมพลัดหลงเข้ามาเป็นโลกของมายากลอีกมากมายที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรจริง ไม่จริงหมุนเวียนไป”

“กวีนิพนธ์ชุดนี้เขียนจากความอาลัยอาวรณ์โลกใบเก่าที่ตนเองเติบโต เคยปลูกข้าว วิ่งเล่นข้างโรงหนังตะลุง จู่ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นโลกที่สับสน คลุมเครือ ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เรากำลังจะไปที่ไหน คล้ายอาการพลัดหลง เหมือนนักมายากลทำสิ่งที่คาดไม่ถึง บทกวีเล่มนี้สะท้อนทุกวันนี้ มีมายากลหลายรูปแบบแฝงในรูปความรุนแรง สงคราม ความสูญเสีย และความขัดแย้ง ทำให้เราทิ้งโลกใบเก่าไว้ข้างหลัง ใช้ทั้งกลอนและกลอนเปล่าร้อยเรียงเรื่องราวทั้งเล่ม”

วิสุทธิ์ ขาวเนียม
วิสุทธิ์ ขาวเนียม

โขงรัก คำไพโรจน์ ผู้เขียน ‘ริมแม่น้ำแม่โขง’

“ผมเกิดริมแม่น้ำโขง การได้ซึมซับวิถีของคนริมแม่น้ำคือ จ.หนองคาย ได้ฟังเสียงแม่น้ำทุกวัน แม้ไม่รู้ตัวก็ตาม ลมที่มันโยกไหวใบมะพร้าว เสียงระฆังจากวัด เสียงกระดิ่งจากคอควาย ผมโตมาพร้อมยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่แรกเกิดจนไปจากแม่น้ำโขง ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในชุมชนต่างๆ ที่เกิดจากความเชื่อ มีบรรยากาศของความเชื่อว่ากระทบกับอะไรบ้าง ผมก็ไปฝึกคิด พยายามมองและนำกลับมาในเนื้อใน”

“ผมฝึกฝนเรื่อยมา กลับไปบ้าน ไปนอนฟังเสียงแม่น้ำกว่า 1 เดือน พร้อมรวบรวมวิถีชีวิตทางอีสานของตนตั้งแต่วัยเยาว์ สภาพสังคม ประสบการณ์ตรง ก่อนจะคลี่คลายออกมาเป็น ‘เพลงแม่น้ำ’ เขียนเป็น 3 ช่วง ต้นน้ำพูดถึงพ่อ แผ่นดินเกิด กลางน้ำ การปะทะสังสรรค์จากชนบทเข้ามาสู่เมืองหลวง และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นที่มาของเส้นทางสายแม่น้ำ”

โขงรัก คำไพโรจน์
โขงรัก คำไพโรจน์

เป็นบทกวี 6 เล่มที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image