ก่อนจะถึง ‘นาคี’ มีนาคเท่าไหร่ที่คนไทยรู้จัก

ก่อนที่หนังชุดจากนิยายของ ตรี อภิรุม เรื่อง ‘นาคี’ ฝีมือกำกับของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง จะมาสร้างความสนุกสนานตื่นตาอีกครั้งกับผู้ชม เราคนไทยรู้จักนาคมาแต่เมื่อไหร่ ในรูปลักษณะใดบ้างน่าทบทวนดูไหม

นาคี

อย่างแรกน่าจะรู้จักนาคจากพระพุทธศาสนา เด็กๆไปวัดเมื่อไหร่หรือวิ่งเล่นกับเพื่อนในวัดคราวใด ก็ต้องเห็นพญานาคสะดุ้งทอดตนอยู่บนบันไดโบสถ์ หรือนาคลำยองบนหลังคา หรือต้องเห็นพระพุทธรูปปางนาคปรก หรือนาคที่เขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์กันเป็นปกติธรรมดา

นาคในพระพุทธศาสนานั้น ยังมีประเพณีที่สืบมาจนปัจจุบัน จากการบวชที่ต้องเป็นนาคก่อนเป็นพระ เล่ากันมาแต่เดิมว่า พญานาค(บ้างระบุนามว่ามุจลินทร์ ซึ่งพ้องชื่อพญานาคที่มาแผ่พังพานปกพระพุทธองค์จากฝนหลังตรัสรู้)ศรัทธาในพระศาสนาจึงแปลงเป็นมนุษย์มาขอบวช ครั้นจำวัดจึงกลายร่างคืนเป็นนาค (นาคแปลงร่างได้ แต่จะคงรูปเดิมใน 5 สภาวะคือ เกิด, ลอกคราบ, ผสมพันธุ์กับนาคด้วยกัน, หมดสติหรือหลับ, ตาย) เมื่อพระพุทธองค์ทรงได้ความจึงให้สึก พญานาคอาลัยในเพศบรรพชิตจึงขอฝากนามไว้ว่า ต่อไปหากผู้ใดได้บวชขอให้เรียกว่านาค เช่น ที่มีการขานนาคระหว่างพิธีบรรพชาอยู่ขณะนี้

Advertisement

และด้วยเหตุดังนั้น การขานนาคจึงมีคำถามจากพระอุปัชฌาชย์อยู่ข้อหนึ่งว่า “มนุสโส สิ” เป็นมนุษย์หรือเปล่า

แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเขียนเรื่องนาคไว้หลายประเด็นบอกว่า อินเดียไม่มีการบวชนาค

ต่อเมื่อเรียนหนังสือจึงได้รู้รสความเปรียบจาก โคลงโลกนิติ ที่ว่า “นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย / เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า / พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง / ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี” เนื้อหากินใจเป็นอกาลิโก

Advertisement

ว่ากันว่านาคมีพิษถึง 64 ชนิด จะต้องคายพิษทุก 15 วัน แต่ละครั้งจะมีสัตว์มาเลียไป เช่น งูที่มาก่อนก็ได้พิษไปมาก มาทีหลังอย่างแมงป่อง ตะขาบ มด ฯลฯ ก็ได้แค่เอาหางมาป้าย

ถัดมาคือเรื่องนาคจากอินเดียที่เป็นเทพปกรณัม เช่น พญาอนันตนาคราชผู้เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ซึ่งประทับ ณ เกษียณสมุทร และว่านาคเป็นปฏิปักษ์กับครุฑ ทั้งเรื่องนาคใน  ‘มหาภารตยุทธ’

IMG_9804

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นาคผูกพันเกี่ยวข้องกับทั้งพุทธ พราหมณ์ และการนับถือผี กลายเป็นความเชื่อที่คละร่วมกันไปในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ แม้นาคจะเกิดได้ทั้งในน้ำและบนบก แต่มีเรื่องนาคเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่เป็นหลัก คติสังคมเกษตรกรรมเรื่องฟ้าฝนว่าเป็นเพราะนาคให้น้ำมากน้ำน้อยในแต่ละฤดูจึงเกิดขึ้นสืบมา

แต่ในทางมานุษยวิทยานั้น นาคมีรากคำมาจากภาษาอินโด-ยุโรเปียน แปลว่าเปลือย (ว่ากันว่าเป็นต้นคำ naked ปัจจุบัน) อาจมาจากกลุ่มชนชาวนาคหรือนาคาที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียหรือตะวันตกของพม่า ที่ไม่นุ่งผ้า คนรู้จักนุ่งผ้าจึงดูถูก ต่อมาชาวอินเดียโบราณจึงเหมาเรียกกลุ่มชนทางตะวันออกของตนว่านาค หรือคนเปลือย ที่อย่างมากก็มีเพียงใบไม้หรือทางมะพร้าวปกปิดร่าง เช่นเดียวกับเรียกงูว่านาค เพราะงูก็เป็นสัตว์ที่เปลือยคือไม่มีขน

การใช้คำว่านาคจึงเหมือนการย่ำเหยียดผู้คนที่เห็นว่าล้าหลังกว่าไป เห็นว่ามิใช่คนเหมือนตน แต่ต่ำระดับกว่า ชั้นเดียวกับสัตว์ กับยักษ์ไปโน่น

จิตร ภูมิศักดิ์ จึงว่า อาจด้วยเหตุนี้ที่มิให้นาคบวช ไม่ใช่เพราะเป็นนาคที่เลื้อยคลาน แต่เป็นนาคคนที่ฝ่ายยกตนเหนือกว่า(อารยัน)ไม่เห็นว่าเป็นคน จากสถานะที่ถูกกดไว้
เรื่องนาคมีรายละเอียดให้เรียนรู้ได้อีกมาก จากที่นำมาให้เห็นเป็นประเด็นคร่าวๆ ความเชื่อเรื่องนาคยังคงอยู่แม้ใน พ.ศ. ปัจจุบัน เช่นเรื่องนาคในแม่น้ำโขงที่ ปองพล อดิเรกสาร เขียนเป็นนิยายไว้สนุก

ยังมีบั้งไฟพญานาคที่พุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงในช่วงออกพรรษาราวเดือนตุลาคน ซึ่งทำให้เงินสะพัดจากการรอชมเช่นในจังหวัดหนองคาย ที่มีให้เห็นหลายจุด หรือรอยเลื้อยพญานาคบนฝากระโปรงรถยนต์ที่ยังเป็นข่าวฮาได้เสมอ

ที่จะเชื่อว่ามีสิงสู่อยู่ตามเทวาลัยจริงหรือไม่ ก็ตามดูหนังชุดจากโทรทัศน์ไปก่อน อย่าเพิ่งปักใจ.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image