แนะนำ 3 หนังสารคดี สะท้อนความแสนเข็ญของชีวิตเกษตรกร

แนะนำ 3 หนังสารคดี สะท้อนความแสนเข็ญของชีวิตเกษตรกร

แนะนำ 3 หนังสารคดี
สะท้อนความแสนเข็ญของชีวิตเกษตรกร

เรื่องร้อนๆ ในบ้านเราวันนี้ต่างก็พูดถึงเหล่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและปศุสัตว์มีต้นทุนและราคาที่ปรับสูงขึ้น จนนำมาสู่คำว่า “แพง” และการพูดถึงเรื่องคู่ขนานอย่าง “กลไกตลาด” ก็ตามออกมา

สัปดาห์นี้จึงขอแนะนำภาพยนตร์สารคคี 3 เรื่อง ที่ถ่ายทอดและเล่าให้เห็นเส้นทางของสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ของโลก ซึ่งที่มาของสินค้าเกษตรเหล่านี้มีเบื้องหลังแบบที่เราก็อาจนึกไม่ถึงเลยก็ได้

เริ่มจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก “Super Size Me 2: Holy Chicken!” สารคดีแนวเสียดสีอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ในสหรัฐอเมริกา สร้างโดย มอร์แกน สเปอร์ล็อค นักทำหนังสารคดีชาวอเมริกัน ที่เคยมีผลงานรู้จักไปทั่วโลกอย่าง Super Size Me ภาคแรกที่พูดถึงธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด สำหรับในสารคดีภาคสอง เขาทำตัวเป็น “นักทดลอง” ด้วยการเปิดร้านป๊อปอัพสโตร์เป็นเจ้าของร้านขายแซนด์วิชไก่ ก่อนที่เขาจะค่อยๆ ย้อนห่วงโซ่อุปทานกลับขึ้นไปจากคนขายแซนด์วิชไก่ มาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ซะเอง โดยการใช้วิธีซื้อโรงเลี้ยงไก่มาทำตัวเป็นผู้ผลิตตั้งแต่เริ่มแรก โดยฟาร์มไก่ของเขาต้องการผลิตไก่ในแนวทางอินทรีย์มีความเป็นธรรมชาติสูง และในสารคดีก็ชี้ให้เห็นว่าการลงมือเพื่อทำฟาร์มไก่แบบอินทรีย์แท้ๆ นั้นยากลำบากมาก แม้อยากจะเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ แต่ก็พบว่าต้นทุนของธุรกิจไก่แบบอินทรีย์นั้นแพงเกินไป

Advertisement

หนังสารคดีจึงพาไปดูสิ่งที่เกษตรกร คนเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่เขาทำกันจริงๆ ในห่วงโซ่อุปทานนี้ ตั้งแต่ล่างจนถึงบน กระทั่งเนื้อไก่ส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเต็มไปด้วยสารพัดการแฉ และจิกกัดให้คนดูเห็นถึงระบบของวงการเลี้ยงไก่ พาไปสำรวจอุตสาหกรรมไก่จากเหล่าบริษัทบิ๊กของสหรัฐ และยังสะท้อนความเห็นจากตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่บางรายที่รู้สึกกดดันให้ต้องเข้าสู่ระบบแข่งขัน จำยอม เพื่อแข่งกันเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนักมาก ขนาดตัวใหญ่เพื่อส่งให้บริษัท

“Super Size Me 2: Holy Chicken!” อาจเป็นหนังสารคดีที่่มีสไตล์ตั้งธงและตีประเด็นแบบจิกกัด แต่เมื่อมีนักทำสารคดีที่อยากสะท้อนให้เราเห็นในหลายมิติก็ถือเป็นเรื่องเปิดมุมมองที่คนดูจะได้เห็นเหรียญหลายด้านของเรื่องราว และที่สุดก็เป็นวิจารณญาณของผู้ชม

ถัดจากไก่มาสู่หนังสารคดีที่แฉให้รู้ว่าผลไม้ซุปเปอร์ฟู้ดอย่าง “อะโวคาโด” นั้นมีเบื้องหลังที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมากในประเทศเม็กซิโก ซีรีส์สารคดีเรื่อง “Rotten” ตอน “สงครามอะโวคาโด” พาเราไปดูว่า ผลไม้ที่ช่วยชุบชีวิตให้ผู้คนนับพันนับหมื่นในประเทศเม็กซิโกลืมตาอ้าปากได้ จนเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญสร้างรายได้ให้ตั้งแต่เกษตรกรรายเล็ก รายใหญ่ ไปจนถึงชาวบ้านที่เข้าไปทำงานในวงจรสวนและโรงงานคัดแยกบรรจุเพื่อส่งออกนั้น กลับเป็นทั้งพรและคำสาปของผลไม้ทำเงินนี้ เพราะอะโวคาโดได้กลายเป็นช่องทางหาเงินของเหล่าแก๊งมาเฟีย แก๊งยาเสพติด และแก๊งอาชญากรรมต่างๆ ในเม็กซิโก ที่ต่างมองเห็นว่าอะโวคาโดมีมูลค่าเฉกเช่นสินค้าที่สร้างรายได้มหาศาล จึงทำให้เกิดการลักพาตัวเจ้าของสวนอะโวคาโดเพื่อเรียกค่าไถ่ บางสวนก็ถูกรีดไถส่วยอะโวคาโด มีการบังคับให้เจ้าของสวนจ่ายค่าคุ้มครอง ใครไม่จ่ายก็จะถูกลักตัวเรียกค่าไถ่ ชาวบ้านเกษตรกรจึงต้องนำเงินจากผลผลิตมาจ่ายค่าไถ่ และต่อมายังลุกลามไปถึงการจับญาติพี่น้องของเกษตรกรมาเรียกค่าไถ่ บางกรณีก็ปิดล้อมสวนเพื่อข่มขู่

Advertisement

เรื่องราวบานปลายโดยที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่งผลให้ชาวสวน เกษตรกร ชาวบ้านในวงจรอุตสาหกรรมอะโวคาโดของเม็กซิโก ต้องรวมตัวกันลงขันจ้างกองกำลังป้องกันตัวเองขึ้นมา ที่ตลกร้ายคือ กองกำลังนี้ก็พัฒนามาจากอดีตแก๊งมาเฟียที่มีกลาดเกลื่อน

หนังสารคดียังขยายต่อไปถึงปัญหาการปลูกอะโวคาโดในประเทศชิลี ที่กลายเป็นสงครามแย่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยที่ต่างมีวิธีเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้แตกต่างกัน และนั่นคือเรื่องราวของเกษตรกรที่ปลูกผลไม้เศรษฐกิจสร้างรายได้ แต่ด้านหนึ่งก็ลงเอยที่น้ำตาของเกษตรกร

ปิดท้ายที่ภาพยนตร์สารคดีสั้นสัญชาติจอร์เจีย “Sovdagari” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “The Trader” หนังสารคดีที่ชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์

“The Trader” ติดตามชีวิตของพ่อค้าเร่ที่ตระเวนเข้าไปขายสินค้ามือสองในชนบทอันห่างไกลของประเทศจอร์เจีย ที่นั่นสิ่งแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้านไม่ใช่ “เงิน” แต่เป็น “มันฝรั่ง” ที่ชาวบ้านชาวไร่ในชนบทปลูกกันทั่วไป โดยชาวบ้านจะนำมันฝรั่งวัดเทียบเป็นจำนวนกิโลกรัมมาใช้แทนเงินเพื่อซื้อสินค้ามือสองจากพ่อค้าเร่ สินค้าที่ซื้อขายก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นของมือสองที่สภาพยังใช้การได้ อาทิ รองเท้า เสื้อโค้ต หรือเครื่องสำอาง ของเล่นเด็ก แม้กระทั่งผลไม้อื่นก็นำไปแลกกับมันฝรั่งได้

หนังสารคดีพาไปดูชีวิตผู้คนในชนบทที่ช่วยกันเก็บเกี่ยวมันฝรั่งในไร่ใส่ถุงกระสอบไว้เพื่อรอนำไปแลกกับข้าวของที่พวกเขาอยากได้จากพ่อค้าเร่ พร้อมกับถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดูไม่เห็นอนาคตหรือความหวังที่ดีไปกว่านี้ พวกเขาไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีเพียงมันฝรั่งที่ลงแรงปลูก คือ สิ่งของมีค่าที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าให้พ่อค้าเร่รวบรวมและขนมันฝรั่งไปขายปลีกต่อที่ตลาดในเมืองหลวง

“The Trader” พูดถึงชะตากรรมของผู้คนในชนบทที่ไม่มีทางเลือก และชีวิตของพ่อค้าเร่ที่ก็ต้องปากกัดตีนถีบเช่นกัน โดยนำเสนอไปกับการซ่อนนัยโครงสร้างทางสังคม และระบบทุนไปด้วย เรื่อยไปถึงมันฝรั่งคือภาพแทนของ “โครงสร้างภาคเกษตร” ที่ “สินค้าเกษตร” ถูกกำหนดและกดราคาโดยที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก หรือแม้แต่จะมีอำนาจต่อรองด้านราคาได้เลย

ถือเป็นหนังสารคดีที่ได้แง้มหน้าต่างบานเล็กๆ แต่กลับทำให้เห็นปัญหาระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเขตชนบทที่มีในทุกที่ทั่วโลก ถ่ายทอดชีวิตผู้คนในชนบทให้สัมผัสแบบเต็มตา ตั้งแต่การขาดแคลนโอกาส ความไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่น่าพอใจ และที่สำคัญแก่นแกนคือปัญหาความยากจน

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image