Sky Ladder ศิลปะแห่ง‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอน1)

Sky Ladder ศิลปะแห่ง‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอน1)

Sky Ladder
ศิลปะแห่ง‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอน1)


“Sky Ladder : The Art of Cai Guo-Qiang” คือสารคดีชีวิตของศิลปินชาวจีน “ไช่กั๋วเฉียง” หนึ่งในศิลปินร่วมสมัยระดับโลกที่มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ศิลปะดอกไม้ไฟอันตราตรึง และแสดงโชว์ในเมืองใหญ่ๆ หลายประเทศ ทั้ง นิวยอร์ก ปารีส โดฮา เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เบอร์ลิน ฯลฯ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานศิลปะที่ขึ้นชื่อและโดดเด่นด้วยการใช้ดินระเบิดแทนสีเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างภาพเขียนบนผืนผ้าใบยักษ์

สารคดีติดตามดูรากเหง้า แก่นแท้ของชีวิต “ไช่กั๋วเฉียง” และความพยายามอันยาวนานหลายปีของเขาในการสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า “Sky Ladder” หรือ “บันไดไต่ฟ้า” ที่ไม่มีทีท่าจะสำเร็จ นอกจากนี้ สารคดีได้ตั้งคำถามและหาคำตอบจากศิลปินคนหนึ่งเมื่อถึงจุดที่ประสบความสำเร็จมากได้รับการยอมรับระดับโลก เมื่อถึงจุดนั้นเขาจะยังสามารถท้าทายตัวเองไปได้อีกแค่ไหน โดยสารคดีได้พาไปดูหลากหลายผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “ไช่กั๋วเฉียง” ในอดีต โดยหนึ่งในฉากอันน่าตราตรึงคือ ฟุตเทจวิดีโอการจัดแสดงพลุดอกไม้ไฟเปิดนิทรรศการคลื่นลูกที่เก้าที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2014 ที่ “ไช่กั๋วเฉียง” ได้รังสรรค์ลวดลาย รูปทรงของพลุสีที่เหมือนภาพวาดที่มีชีวิต ซึ่งต้องยอมรับว่างานชิ้นนี้สะกดคนดูไว้ได้ผ่านการแสดงพลุ 3 ชุด ว่าด้วยการไว้อาลัย การระลึกถึงและการปลอบประโลม ในสารคดียังได้สอดแทรกอีกหลายฟุตเทจที่ทำให้เห็นตั้งแต่อดีตว่าเขาพยายามสร้างงานอันน่าตื่นเต้นไม่จำเจมาได้หลายครั้ง ด้วยผลงานที่คู่ขนานระหว่างศิลปะที่ท้าทายความสะใจของตัวเองไปเรื่อยๆ กับการรับใช้ให้ความบันเทิงกับผู้ชม

Advertisement

แม้จะมีบางช่วงที่เขาต้องผ่านงานที่ต้องประนีประนอมระหว่างความอิสระอย่างสร้างสรรค์ไร้ขีดกรอบกับงานที่มีข้อจำกัดและเพดานให้แหกกฎไม่ได้ โดยสารคดีได้พาไปสัมผัสช่วงเวลานั้นสองครั้งจากการที่ “ไช่กั๋วเฉียง” ต้องร่วมงานกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสร้างสรรค์ออกแบบศิลปะการจัดแสดงพลุดอกไม้ไฟใน “พิธีเปิดโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง” เมื่อปี 2008 และ “การจัดประชุมเอเปค” ที่จีนเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2014

ทั้งสองอีเวนต์ “ไช่กั๋วเฉียง” ยอมรับว่าเขาถูกริบความคิดสร้างสรรค์คืนไปบางส่วน แต่ก็ยังคงเดินหน้าทำโปรเจ็กต์นี้จนสำเร็จออกมาสวยงามตามมาตรฐาน ด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ทางการไม่อนุญาตให้เขาทำ พร้อมคำอธิบายว่าโปรเจ็กต์ระดับชาติ มีข้อบังคับทางการเมืองที่เขาไม่สามารถฝ่าฝืนกฎนี้หรือเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งพออนุมานได้ว่าแนวคิดดั้งเดิมในโปรเจ็กต์นี้น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อความอ่อนไหวจากทางการจีน ทั้งที่เป้าหมายของ “ไช่กั๋วเฉียง” ในการรับงานของรัฐบาลจีนก็มาด้วยแนวคิดที่ต้องการออกแบบโชว์พลุดอกไม้ไฟที่ทันสมัย เป็นสากล และเป็นศิลปะมากขึ้น และเชื่อว่าถ้าเขาทำได้ดีก็จะเป็นการช่วยเหลือประเทศในระดับที่ไม่ใช่แค่ทำให้คนในประเทศรู้สึกสำคัญและภาคภูมิใจเท่านั้น แต่หมุดหมายคือ ทำให้นานาประเทศเห็นถึงการเปิดกว้างมากขึ้นของจีน

แต่ “ไช่กั๋วเฉียง” ที่แม้จะเกิดและเติบโตที่ประเทศจีน แต่เอาเข้าจริงเขาโด่งดัง และผลิตงานศิลปะด้วยแนวคิดจากฟากฝั่งของประเทศตะวันตกโลกเสรีเสียมากกว่า ทั้งยังใช้ชีวิตปักหลักสร้างครอบครัวในนิวยอร์กตั้งแต่กลางยุค 90

Advertisement

ในสารคดีย้อนดูชีวิต “ไช่กั๋วเฉียง” ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เกิดที่เมืองฉวนโจว มณฑลฝูเจี้ยน เขาเติบโตวัยเด็กมาในยุคเหมาเจ๋อตง ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมเข้มข้นที่ปฏิเสธทุกอย่างจากจารีตสมัยก่อน รวมทั้งศิลปะเก่าแก่ด้วย แต่ความที่เขาอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นศิลปินนักเขียนตัวอักษรด้วยพู่กัน และยังเป็นศิลปินวาดภาพทิวทัศน์ ตั้งแต่เด็กๆ เขาจึงคุ้นเคยที่ลานบ้านของเขาจะเป็นแหล่งรวมศิลปินประจำเมืองที่จะมานั่งวาดรูปกันในช่วงวันหยุด ซึ่ง “ไช่กั๋วเฉียง” ก็รับเอาพรสวรรค์นี้จากพ่อมาเต็มๆ ในฐานะที่พ่อคือศิลปินนักเขียนอักษรด้วยพู่กันที่มักจะหยิบพู่กันจุ่มหมึกลงมืออย่างฉับพลันบนกระดาษด้วยสัญชาตญาณ ส่วนตัวเขาก็เริ่มต้นใช้วิธีนำระเบิดดินปืนมาจุดระเบิดใส่ลงบนภาพวาดสีน้ำมันของเขาเพื่อให้เกิดภาพและลวดลายจากแรงระเบิดที่เขาได้ออกแบบไว้บนผืนผ้าใบ จากนั้นเขาได้พัฒนาผลงานศิลปะวาดภาพด้วยระเบิดดินปืนจนโด่งดังและถูกกล่าวขานในแวดวงศิลปะร่วมสมัย ในฐานะที่สามารถหยิบจับเอาวัตถุหรือวัสดุที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะมาประยุกต์ใช้เป็นผลงานเฉพาะทางของตัวเองอย่างโดดเด่น จนมีผลงานจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์กที่สร้างประวัติศาสตร์มีคนเข้าชมจำนวนมาก

อีกหนึ่งในไฮไลต์ของสารคดีเรื่องนี้คือ การตามติดแนวคิดโปรเจ็กต์ที่ “ไช่กั๋วเฉียง” รักและอยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ นั่นคือ โปรเจ็กต์ “Sky Ladder” ที่จะสร้างสรรค์ดอกไม้ไฟรูปทรงขั้นบันไดสูงทอดยาวขึ้นไปบนฟ้า โดยตัวขั้นบันไดจะใช้บอลลูนดึงขึ้น ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ต้องใช้ความพยายามทั้งด้านวิศวกรรม งานเทคนิค งานวางแผน การเตรียมวัสดุที่เหมาะสม และที่สำคัญพื้นที่และสภาพอากาศที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเขาต้องใช้ความพยายามนี้ยาวนานถึง 22 ปี เพื่อแสดงผลงานที่ผู้คนจะได้เห็นแค่ 150 วินาที เท่านั้น

จะเป็นอย่างไรมาเล่าต่อในสัปดาห์หน้า

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image