The Rescue สุดยอดสารคดีเบื้องหลัง ภารกิจถ้ำหลวงช่วยเหลือ 13 หมูป่า

The Rescue สุดยอดสารคดีเบื้องหลัง ภารกิจถ้ำหลวงช่วยเหลือ 13 หมูป่า

The Rescue
สุดยอดสารคดีเบื้องหลัง
ภารกิจถ้ำหลวงช่วยเหลือ 13 หมูป่า

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาใครเป็นสายชอบหาดูสารคดีผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคงจะเห็นว่ามีการพูดถึงสารคดีเรื่อง “The Rescue” กันอยู่มากตามโซเชียลมีเดีย ต้องยอมรับว่าก่อนจะตัดสินใจดูก็แอบรู้สึกว่าจะน่าติดตามหรือไม่ ในเมื่อก็รู้ตั้งแต่ต้นจนถึงบทสรุปของเหตุการณ์จริงแล้ว เพราะนี่เป็นสารคดีที่เล่าย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อน ที่ทีมนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนรวม 13 ชีวิต หายตัวไปในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือกลุ่มเด็กๆ เป็นข่าวโด่งดังระดับโลกแรมเดือน

แต่ปรากฏว่าตัวสารคดีทำออกมาได้ดีมาก และน่าติดตามเลยทีเดียว “The Rescue” ใช้การตั้งกล้องสัมภาษณ์บอกเล่าจากบุคคลต่างๆ พร้อมตัดสลับฟุตเทจที่หลายซีนนั้นก็เป็นฟุตเทจที่เราอาจจะทั้งเคยเห็นและไม่เคยเห็น สลับกับการแสดงจำลองสถานการณ์อยู่บ้าง ซึ่งทั้งหมดทำได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะฉากและฟุตเทจที่เกี่ยวกับการดำน้ำค้นหาและช่วยเหลือนั้นทำออกมาได้ดีมากๆ ซึ่งว่ากันตามจริงก็ถือว่าอยู่ในขอบข่ายฝีมือของทีมงานสร้างอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นสารคดีที่ได้ทีมงานจาก “National Geographic” พร้อมกับที่ทีมผู้สร้างก็เคยทำสารคดีชนะออสการ์มาแล้วอย่าง “Free Solo” เรื่องราวของนักปีนเขาสูงด้วยมือเปล่า

การดำเนินเรื่องของ “The Rescue” ช่วงแรกจะเป็นเรื่องราวการเกิดเหตุที่นำมาสู่การรวมตัวของนักดำน้ำในถ้ำฝีมือพระกาฬ ที่มาปฏิบัติภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย โดยสารคดีได้ตั้งกล้องสัมภาษณ์นักดำน้ำชาวอังกฤษอย่าง ริก สแตนตัน และ จอห์น โวลันเธน โดยทำให้คนดูรู้จักภูมิหลังของทั้งสองคนผ่านการพูดคุยถึงชีวิตความเป็นมา การเติบโตมาอย่างไร ให้พอเห็นนิสัยใจคอ และแตะเรื่องราวส่วนตัวให้เราเชื่อมโยงกับนักดำน้ำในถ้ำทั้งสองคนนี้

Advertisement

เรื่องที่เพิ่งรู้จากในสารคดีคือ นักดำน้ำทั้งสองคนถึงกับเคยถอดใจยกเลิกภารกิจแล้วหลังจากดำน้ำไปไม่กี่วันและพบว่าโอกาสจะพบเจอผู้รอดชีวิตอาจจะเป็นศูนย์ กระทั่งพวกเขาตัดสินใจกลับมาร่วมปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง และเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังวันที่พบเด็กๆ ทั้ง 13 คนว่า พวกเขาตัดสินใจจะหยุดดำน้ำต่อไปข้างหน้า แล้วหันหลังดำกลับออกมา แต่มีสัญชาตญาณบางอย่างให้เขาลองดำน้ำไปข้างหน้าดูอีก และในที่สุดก็ได้พบเด็กๆ

หลังจากพบเด็กๆ เรื่องราวเขยิบไปสู่ความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อถึงตอนกลางของเรื่องที่เขยิบมาเล่าถึงการค้นพบเด็กๆ แล้ว แต่ติดปัญหาสำคัญคือ จะเคลื่อนย้ายทั้ง 13 คนออกจากถ้ำที่มีน้ำท่วมมิดหัวนี้ได้อย่างไร ซึ่งนำมาสู่เรื่องราวการหาทางออก กระบวนการวางแผน และเตรียมทีมเพื่อช่วยเหลือ รวมทั้งขยายบทสัมภาษณ์ไปยังวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย ริชาร์ด แฮริส ที่ต้องมาดูแลการวางยาสลบให้และยังต้องดำน้ำในถ้ำด้วย ซึ่งเรื่องราวในส่วนนี้ถือว่ามีรายละเอียดมาก และหลายเรื่องเราก็เพิ่งทราบ รวมทั้งการได้ถ่ายทอดความรู้สึกและความกลัวมากมายมหาศาลของเหล่านักดำน้ำที่จะต้องเข้าไปช่วยทยอยวางยาสลบและนำเด็กๆ ออกมาทีละคน ซึ่งเมื่อได้ย้อนอดีตไปพูดคุยนั้น แต่ละคนยอมรับว่าเป็นการเข้าไปช่วยเหลือภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก สู้กับทั้งจิตใจตัวเองที่กลัวจะทำเด็กตายระหว่างการพาร่างที่ไร้สติจากการถูกวางยาสลบดำน้ำออกจากถ้ำมาพร้อมกัน พร้อมกับการมุ่งมั่นเพื่อที่จะช่วยให้พวกเขารอดออกมาได้

แม้จะเป็นสารคดีที่เล่าเรื่องราวที่ตึงเครียด ความเป็นความตาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าทีมงานสร้างได้วางจังหวะให้เกิดการเล่าที่น่าติดตามและดึงดูดคนดูให้ตามต่อกันไปจนจบ โดยเฉพาะช่วงท้ายที่เล่าถึงการลงมือช่วยเหลือ ที่ในส่วนนี้สารคดีเล่าได้ขยี้มาทั้งเสียงสัมภาษณ์จากตัวจริงและภาพฟุตเทจสลับการแสดงเสริมบางฉากที่ช่วยขยายการรับรู้ และทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

สารคดีเล่าชนิดที่ทำให้เราเห็นได้เลยว่านี่คือภารกิจที่ยากที่สุดในชีวิตของบรรดานักดำน้ำในถ้ำที่มาปฏิบัติภารกิจนี้ท่ามกลางสายตาและการเอาใจช่วยจากคนทั้งโลก

ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าสารคดีจะมุ่งเน้นไปแค่กลุ่มนักดำน้ำในถ้ำ แต่มีความพยายามจะเฉลี่ยเรื่องราวบางส่วนมาที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ไทยด้วย ผ่านทั้งบทสัมภาษณ์และการยกย่องในกรณีของ “จ่าแซม” นาวาตรีสมาน กุนัน ที่เสียสละชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจ รวมทั้งมีการเล่าเหตุการณ์เคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการ ทั้งวิธีการช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานไทย ไปจนถึงเรื่องราวเหนือธรรมชาติของครูบาบุญชุ่ม ที่สารคดีเล่าเชื่อมโยงให้เห็นถึง “ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ” ที่ช่วยพยุงจิตใจเหล่าพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผู้สูญหายทั้ง 13 คน ให้มีกำลังใจและมีความหวัง ซึ่งเรื่องเล่าส่วนนี้ก็มาพร้อมกับ “ความเชื่อ” ในภารกิจที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ผ่านการตั้งคำถาม ผ่านความสงสัย และความไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จจนดูเป็นเรื่องราวที่ปาฏิหาริย์

นอกจากนี้ ในเรื่องยังได้รวมอีกหลายเหตุการณ์ที่สารคดีเก็บได้ครบ โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการร่วมแรงสามัคคีในการช่วยกันผันน้ำเปลี่ยนเส้นทางน้ำเพื่อช่วยประคองระดับน้ำในถ้ำไม่ให้ท่วมสูงมากกว่านี้ ซึ่งสารคดีดูจะให้ความสำคัญส่วนนี้มากเช่นกันว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญให้ภารกิจสำเร็จ

ในสารคดี “The Rescue” มีหลายฟุตเทจและหลายภาพที่ก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เห็นถึงรายละเอียดและแง่มุมต่างๆ เข้าถึงหัวจิตหัวใจเหล่านักนักดำน้ำที่เข้าไปกอบกู้ชีวิต 13 หมูป่านั้น กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักหน่วง

อีกส่วนหนึ่งที่ชื่นชอบมากๆ คือเครดิตท้ายเรื่องที่งานภาพซีจีน่าประทับใจมาก เพราะใช้วิธีสรุปเรื่องราวผ่านภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมาร้อยเรื่องเข้าด้วยกัน

“The Rescue” ถือเป็นงานสารคดีที่ประณีตมากทั้งวิธีร้อยเรียง การเล่า มู้ดและโทนตลอดเรื่องที่จบลงได้สวยงาม ใครอยากชมสารคดีเรื่องนี้สามารถดูได้ที่สตรีมมิ่ง Disney+

ภาพประกอบ
Youtube Video / National Geographic

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image