ลูกชาย ‘เสี่ยแหบ วิทยา’ แถลงแจงพ่อไม่ได้เสียเพราะโรคมะเร็ง พร้อมตั้งข้อสงสัยในการรักษา

ลูกชาย ‘เสี่ยแหบ วิทยา’ แถลงแจงพ่อไม่ได้เสียเพราะโรคมะเร็ง พร้อมตั้งข้อสงสัยในการรักษา

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่วัดราชวรินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานศพนายวิทยา ศุภพรโอกาส นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ลูกชายของนายวิทยา พร้อมด้วยนายธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือเป็ด เชิญยิ้ม, นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และนายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของวิทยา

โดยนายศุภวิทย์ กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อน วิทยาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ขั้นที่ 1 จึงได้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดและให้คีโมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และหลังจากนั้นมีการตรวจเช็คอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนกันยายน พ.ศ.2564 นายวิทยามีอาการไอ และมีเลือดออกมากับเสมหะ เมื่อไปหาหมอได้รับการวินิจฉัยว่ากล่องเสียงอักเสบ เลือดออกเพราะไอมาก กล่องเสียงเป็นแผล อย่างไรก็ดีหมอแนะนำเช็คปอดไปพร้อมกัน ผลจากการเอ็กซ์เรย์พบจุดก้อนมะเร็งที่ปอดทั้ง 2 ข้าง

“คุณพ่อไม่เคยเจ็บป่วยจากมะเร็งตรงนี้ ก็วางแผนการรักษากับทีมโรงพยาบาลเดิม วิธีการรักษาคือให้คีโม 8 ครั้ง ตลอด 8 เดือน จนถึงกุมภาพันธ์ ปี 2565 ให้คีโมครบ 8 ครั้งแล้ว หมอแนะนำว่ามะเร็งฝ่อแล้ว ถ้าให้หายขาด ต้องผ่าตัด เฉือนก้อนเนื้อเล็กๆ ที่เหลืออยู่ออก เพื่อให้หายขาด อยู่ได้อีก 10 ปี เราก็ตกลงตามนั้น จนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มีการเตรียมตัว ตรวจสุขภาพ เทสต์เลือด เทสต์ทุกอย่าง ผลออกมาว่าพ่อพร้อม สามารถผ่าตัดได้”

Advertisement

ลูกชายของวิทยาเล่าด้วยว่า การผ่าตัดมีขึ้นในวันที่ 3 เมษายน ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5 ชั่วโมง ทราบภายหลังจากญาติที่เป็นหมอได้เข้าเยี่ยมโทรมาบอกว่า พ่อฟื้นแล้ว และสามารถทักทายกันได้ดี ก็สบายใจว่าคงปลอดภัย ขณะเดียวกันตอนนั้นครอบครัวไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้จากมาตรการโควิด จึงตัดสินใจกลับบ้าน อย่างไรก็ตามตี 3 ของคืนนั้นได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลว่าพ่ออาการไม่ดี ให้รีบไปโรงพยาบาล

“ไปถึงประมาณตี 4 ภาพที่เห็นมีทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตคุณพ่อในไอซียู มีแพทย์ท่านหนึ่งเดินมาแนะนำตัวว่าท่านมาจากอีกโรงพยาบาลหนึ่ง บอกว่าพ่อเกิดวิกฤติ มีเลือดออกจากปอด หายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ หรือเครื่องเอคโม่ที่ขอยืมมาจากจุฬาฯ และจะพาไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลจุฬาฯ”

Advertisement

เขายังเล่าอีกว่าเมื่อเครื่องมาถึง ก็มีการดำเนินการต่างๆ จนวิทยาเข้ารักษาตัวต่อในห้องไอซียูของโรงพยาบาลจุฬาฯ กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. หมอที่ไปรับตัวก็แจ้งว่าอาการคนไข้คงที่แล้ว ปอดและหัวใจคงที่ พร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ว่าเมื่อคืนพ่อมีอาการหายใจลำบาก ทางไอซียูโรงพยาบาลแรกจึงทำการสอดเครื่องช่วยหายใจ

“แต่ปอดเพิ่งได้รับการผ่าตัดมาทั้ง 2 ข้าง เครื่องช่วยหายใจอัดลมเข้าไป ทำให้ปอดแตก มีเลือดออกมา ปอดทำงานไม่ได้เต็มที่ ทำให้อ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ แต่พอใส่เครื่องเอคโม่จากจุฬาฯ อาการดีขึ้นตามลำดับ แต่มีเรื่องเป็นห่วง 2 ข้อคือ หนึ่งจะไม่ฟื้นอีก เพราะสมองขาดอ๊อกซิเจนนานในระหว่างการช่วยชีวิต และสองอาจจะต้องตัดแขนซ้ายทิ้ง เนื่องจากระหว่างการช่วยเหลือมีการใส่อุปกรณ์ทำให้เลือดไปไหลเวียนไม่ได้ ทำให้มือตาย ให้รอดู 48 ชั่วโมง

ซึ่งพอฟังก็ได้ถามไปว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในไอซียูของโรงพยาบาลจุฬาฯ จะเป็นแบบนี้ไหม หมอบอกคงไม่เป็นแบบนี้ เพราะมีอุปการณ์ครบ ผ่านไป 48 ชั่วโมง ผมก็รอว่าน่าจะมีปาฏิหาริย์ ทำให้พ่อตื่นขึ้นมาได้ จะตัดแขนก็ไม่เป็นไร รอไป 3-4 วันได้รับการคอนเฟิร์มทีมแพทย์จุฬาฯ ว่าสมองตายเพราะเสียหาย รอไปอีก 2 สัปดาห์ จนเช้าวันที่ 18 เมษา คุณพ่อก็หมดลมไปเอง”

การเสียชีวิตดังกล่าวนายศุภวิทย์ตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ปกติหรือไม่ โดยได้ประเด็นไว้ 4 ข้อคือ 1. การประเมินของทีมแพทย์ผ่าตัด ว่าผ่าตัดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างถูกต้องไหม เพราะแม้จะดูแข็งแรง แต่พ่อของตนอายุ 72 ปีแล้ว ทำไมต้องตัดพร้อมกันทั้งสองข้าง และเตรียมความพร้อมหลังผ่าตัดไว้แค่ไหน สำหรับรองรับผู้ป่วย 2. ในเมื่อคนไข้ฟื้นหลังผ่าตัดฟื้น แล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จึงมีเหตุวิกฤติ อีกทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นในห้องไอซียู เกิดเหตุบกพร่องอะไรหรือไม่ในการช่วยชีวิต 3. การช่วยชีวิตในห้องไอซียู การใช้เครื่องช่วยหายใจ จนปอดฉีกออกมา มีเลือดออก ทำถูกต้องหรือไม่ เพราะปอดเสียหายจากการผ่าตัดแล้ว 4. เมื่ออาการเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ต้องใช้เครื่องเอคโม่ มีการขอยืมจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งกว่าเครื่องจะมาถึงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เหตุใดจึงไม่มีการเตรียมเครื่องนี้ไว้ตั้งแต่แรก และถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ ควรจะทำการผ่าตัดที่นั่นหรือเปล่า ทั้งนี้หลังการเสียชีวิต โรงพยาบาลได้พูดคุยกับตนและครอบครัว ได้แสดงความเสียใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนการรักษาตามมาตราฐานอย่างครบถ้วน ซึ่งต่อมาทางครอบครัวได้ขอให้มีชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และจะพิจารณาดำเนินการทางกฏหมายต่อไป

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาว่าโรงพยาบาลที่ให้การรักษา ว่าทำให้เสียชีวิต เพียงแต่นำข้อมูลทั้งหมดมาบอก ส่วนถ้าโรงพยาบาลให้คำตอบมาแล้ว ก็ต้องดูว่าทางครอบครัวของวิทยาจะยอมรับหรือไม่อย่างไร

ส่วนถ้ามองว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ทำให้โรงพยาบาลเสื่อมเสียชื่อเสียง นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ก็ว่านี่เป็นการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการกล่าวหาโรงพยาบาลและทีมแพทย์

“เป็นข้อสงสัยที่มีเหตุผล เพราะมีข้อมูลบางอย่างทางการแพทย์ที่ครอบครัวได้มา ผมมองกลับกันว่า การที่เรามาพูดวันนี้ ถ้าโรงพยาบาลตั้งใจจะแก้ปัญหา โรงพยาบาลแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ผมว่าโรงพยาบาลกลับได้นะ”

เรื่องที่โรงพยาบาลจะฟ้องกลับหรือไม่ นายธงชัยก็ว่า ในมุมของตน มองว่าโรงพยาบาลน่าจะเป็นมืออาชีพในเรื่องนี้มากกว่า

เป็ด เชิญยิ้ม, นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์, ศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส, ธงชัย พรเศรษฐ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image