Operation Varsity Blues จากปัญหาการศึกษาสู่แนวคิดใครดีใครได้

Operation Varsity Blues จากปัญหาการศึกษาสู่แนวคิดใครดีใครได้

Operation Varsity Blues
จากปัญหาการศึกษาสู่แนวคิดใครดีใครได้

สัปดาห์ก่อนฟังเสวนาแนะนำหนังสือ “The Tyranny of Merit” (เผด็จการความคู่ควร) ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 หนึ่งในประเด็นที่ขอหยิบยกมาเล่าจากวงเสวนา คือ ประเด็นเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะในระดับปริญญาที่ในสังคมอเมริกามีผู้คนจำนวนไม่น้อยมุ่งมั่นและเชื่อว่าปริญญาจะช่วยนำพาชีวิตให้พ้นจากความเหลื่อมล้ำได้ผ่านการเลื่อนระดับชั้นทางสังคม

สาระที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามว่า แนวคิดแบบนี้จะยิ่งนำไปสู่สภาพโครงสร้างสังคมที่มีค่านิยมที่เรียกว่า “Meritocracy” ซึ่งในหนังสือใช้คำแปลว่า “คู่ควรนิยม”

คำคำนี้บ้างก็ให้คำจำกัดความที่เห็นภาพมากขึ้นไปอีกนิดว่า “แนวคิดใครดีใครได้”

Advertisement

ด้วยเรื่องราวในหนังสือจะเป็นกรณีและปรากฏการณ์รวมทั้งการวิเคราะห์ในบริบทสังคมอเมริกัน ทว่าผู้ร่วมเสวนามองว่าประเด็นจากในหนังสือเล่มนี้คล้ายคลึงกับระบบการศึกษาบ้านเรามาก รวมทั้งในอีกหลายประเทศที่วางระบบการศึกษาที่จบปริญญาเสมือนหนึ่งเป็นใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดีกว่า จนทำให้เกิดสภาพที่นักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครองล้วนถูกกดดัน และเชื่อในคุณค่าแบบนี้ จนส่งผลกระทบทางจิตใจ และยังมีผลต่อโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองด้วย

วงเสวนาได้ร่วมแลกเปลี่ยนบรรยากาศของการเรียนหนังสือยุคนี้ที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่ กำลังเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นยิ่งกว่าคนยุคก่อน พวกเขาถูกกดดันทั้งทางตรงทางอ้อม จนกลับมากดดันตัวเองอีกทอดหนึ่ง ทำให้เด็กๆ ที่เรียนหนังสือในยุคนี้สุดท้ายไม่ว่าจะลูกคนมีเงิน หรือฐานะยากจน และลูกหลานชนชั้นกลางต่างก็มีความเครียด เปราะบางทางจิตใจกันมากขึ้น

ในวงเสวนานักวิชาการด้านการศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยยุคนี้มีเรื่องพิศวงมากขึ้นเรื่อยๆ มีตั้งแต่พ่อแม่ติดต่อขอพบอาจารย์เพื่อขอให้แนะนำหนังสือที่พ่อแม่จะได้ไปอ่าน เพื่อช่วยลูกทำรายงานให้ได้เกรดดี ซึ่งเดิมเราอาจเคยได้ยินเรื่องพ่อแม่ช่วยลูกทำการบ้านในระดับประถม มัธยม แต่ขณะนี้ลามมาถึงขั้นระดับอุดมศึกษา

Advertisement

ทำไมสังคมถึงเชื่อมั่นกันว่าการเรียนจบปริญญาและได้เกรดดีคือใบเบิกทางความสำเร็จขั้นต้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนค่านิยมแบบ “Meritocracy” ที่เป็นกับดักของผู้คนที่เชื่อว่าหากตั้งใจเรียนได้รับปริญญา ทำงานจนประสบความสำเร็จมีเงินเดือน หน้าที่การงานดี นี่คือชีวิตที่คนคนหนึ่งคู่ควรจะได้รับจากความพยายาม ถือเป็นชัยชนะ ส่วนคนที่ทำไม่ได้คือคนพ่ายแพ้ ล้มเหลว ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ซ้ำเติมคนที่พ่ายแพ้ เพราะพยายามไม่มากพอ แม้ว่าที่จริงแล้วคนคนนั้นก็อาจจะพยายามแล้ว และจำนวนไม่น้อยแพ้มาตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะโอกาสไม่เท่ากัน

ในสังคมอเมริกามีความพยายามของคนที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไอวีลีกส์ท็อปๆ แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น และโอกาสนั้นก็มักจะเปิดช่องให้เด็กที่มีฐานะร่ำรวยมากกว่าด้วยซ้ำ เมื่อพูดถึงประเด็นนี้เลยขอแนะนำให้ดูสารคดีที่น่าจะขยายความให้เห็นภาพมากขึ้น

นั่นคือสารคดีเรื่อง “Operation Varsity Blues : The College Admissions Scandal” ที่เล่าเรื่องจริงของวงการศึกษาที่อื้อฉาวในสหรัฐ เป็นข่าวโด่งดังช่วงปี 2018-2019 โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเข้าทำการตรวจสอบและพบพฤติกรรมเครือข่ายโกงเข้ามหาวิทยาลัยดังในสหรัฐอเมริกา มีการตั้งข้อหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 50 คน

พูดง่ายๆ นี่คือเรื่องราวขบวนการโกงเพื่อให้ลูกคนที่มีฐานะ ลูกคนดังระดับชนชั้นกลางเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดังได้ แน่นอนว่าปัญหานี้ก็หยั่งรากลึกมาจากระบบสังคมที่ให้คุณค่ากับแนวคิด “Meritocracy” ใครดีใครได้ในสังคม เพราะถ้าเข้ามหาวิทยาลัยท็อปของประเทศได้ก็เท่ากับยกระดับสถานะ มีหน้ามีตา และยังสร้างเครือข่ายคอนเน็กชั่นเพื่อนฝูงจากมหาวิทยาลัยดังด้วยกัน นั่นทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองยอมเสี่ยงคุกตะรางซื้อใบเบิกทางให้ลูก

หนังสารคดีเล่าเรื่องแบบ ‘Fiction Documentary’ กึ่งภาพยนตร์ มีนักแสดงมาสวมบทตัวละครที่มีอยู่จริง ซึ่งขบวนการมีตั้งแต่หัวหน้าโค้ชทีมกีฬามหาวิทยาลัย ผู้คุมสอบ และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งโดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นลูกค้า

สารคดีตีแผ่ให้เห็นปัญหาระบบรับเด็กเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยดัง เริ่มจากวิธีแรกที่เป็นวิธีเข้าเรียนทั่วไปคือแข่งขันทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูงสุด รวมถึงใช้วิธีเขียนจดหมายแนะนำตัวที่น่าสนใจเพื่อสมัครเข้าเรียน ส่วนอีกวิธีที่ยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คือ บรรดาผู้มั่งคั่งระดับมหาเศรษฐี และตระกูลชั้นนำในสหรัฐ มักใช้วิธีมอบเงินบริจาคการกุศลเพื่อใช้ในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในจำนวนที่มากพอ โดยมากไม่ต่ำกว่าเลข 7 หลัก เงินการกุศลนี้ก็จะส่งผลให้ลูกหลานผู้บริจาคได้รับการพิจารณาเข้าเรียน

เมื่อมีวิธีที่สองกลุ่มมิจฉาชีพจึงคิดค้นวิธีที่สามขึ้นมา เพื่อเจาะตลาดพ่อแม่ชนชั้นกลางที่อยากเขยิบสถานะให้ลูก ด้วยการสร้างธุรกิจโค้ชชิ่งด้านการศึกษา พร้อมตั้งกองทุนการกุศลขึ้นมาบังหน้า โดยพ่อแม่ผู้ปกครองยอมจ่ายเงินให้กับ “ตัวกลาง” ผ่านกองทุนที่ว่านี้ ทำนองคล้ายๆ จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะผ่านตัวกลางที่ไม่ใช่จ่ายตรงเข้ามหาวิทยาลัย โดยจำนวนเงินที่จ่ายถือว่ามากเอาการ แต่ก็ยังจ่ายน้อยกว่ากลุ่มมหาเศรษฐี

โดยตัวกลางจะหว่านล้อมให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการเลือกใช้วิธีนี้ประหยัดเงินได้มากกว่าการสนับสนุนเงินบริจาคตรงให้มหาวิทยาลัย และเมื่อตกลงใช้บริการ ตัวกลางก็จะทำการสร้างประวัติปลอมให้เด็กเพื่อทำเป็นจดหมายและเอกสารแนะนำตัวเด็กที่จะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดัง วิธีนำเสนอก็จะสร้างความน่าประทับใจเกินจริง โกหกว่ามีทักษะต่างๆ พร้อมกับมีการตัดต่อภาพ หรือหาภาพมาจัดฉากสร้างเอกสาร สร้างเรื่องให้เด็กมีความสามารถด้านกีฬาเฉพาะทางที่มหาวิทยาลัยต้องการ ทั้งที่เด็กคนนั้นไม่ได้เป็นนักกีฬาใดๆ เพื่อให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยในฐานะโควต้านักกีฬาได้ ซึ่งก็มักเป็นกีฬาที่คนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงง่าย เช่น กีฬาพายเรือ ขี่ม้า โปโลน้ำ เป็นต้น

ขณะที่สารคดีสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยดังเก่าแก่เหล่านี้ก็ต้องการเงินบริจาคทุกปีอยู่แล้ว เพราะต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง มันจึงเท่ากับเปิดช่องให้มีขบวนการติดสินบนทางอ้อม หนังสารคดีก็แฉให้เราได้เห็นว่าแม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็ตามน้ำไปกับการหารายได้เข้าสถาบัน โดยไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบ

“นอกจากนี้ ยังมีวิธีโกงอื่นๆ อาทิ ลักไก่ให้เด็กปกติทั่วไปได้ไปสอบในสนามสอบสำหรับเด็กพิเศษที่มีหลักฐานการแพทย์ยืนยันว่าเป็นเด็กบกพร่องต้องได้รับสิทธิเพิ่มเวลาทำข้อสอบมากกว่าเด็กปกติ ในห้องที่จัดให้ไว้ต่างหาก โดยขั้นตอนนี้จะมีการติดสินบนคนคุมสอบให้ตัวคนคุมสอบมาทำข้อสอบแทนเด็กในช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้คะแนนสอบเพิ่มขึ้น”

“Operation Varsity Blues” ชำแหละระบบการศึกษามหาวิทยาลัยดังในสหรัฐที่พังทลาย “บทสรุปของเหตุการณ์นี้มีพ่อแม่ผู้ปกครองรับสารภาพผิดติดคุกกันตั้งแต่ 14 วัน จนถึง 5 เดือน ส่วนฝั่งขบวนการโกงยังให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีกันอยู่”

เรื่องราวที่เล่ามานี้เกิดขึ้นเพราะค่านิยมของผู้คนที่เชื่อว่าปริญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาวิทยาลัยดังจะยิ่งทำให้เด็กๆ มีระดับชั้นทางสังคมที่เหนือกว่าคนอื่นๆ จนเกิดค่านิยมใครดีใครได้ เพื่อที่จะพยายามเขยิบสถานะและนำมาสู่การแข่งขัน มีผู้ชนะผู้แพ้ขึ้นมา และแนวคิดใครดีใครได้ก็มักเกิดขึ้นในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image