ผู้เขียน | ติสตู |
---|
จากหนังคังคุไบสู่หนทางโสเภณีถูกกฎหมาย
ความร้อนแรงของกระแสภาพยนตร์อินเดียบอลลีวู้ด Gangubai Kathiawadi หรือ คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ที่เป็นหนังฮิตในประเทศไทย กลายเป็นความสำเร็จที่งดงามของหนังอินเดียเรื่องนี้ และทำให้หนังอินเดียกลับมาถูกพูดถึงกันอีกจากกระแสหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงประเด็นอาชีพโสเภณีถูกกฎหมายที่กลับมาอยู่ในกระแสเช่นเดียวกัน
หนังเรื่องนี้หลายคนน่าจะได้ดูกันแล้ว หรือพอจะรู้แล้วว่าตัวละครหลักทำอาชีพโสเภณี และมีเรื่องราวสู้ชีวิตอันน่าเศร้า กระทั่งเธอยืนหยัดลุกขึ้นสู้เป็นปากเป็นเสียงเพื่อสิทธิผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าบริการเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมจากรัฐ ซึ่งเนื้อหาก็สนุกน่าติดตาม ทั้งชีวิตสุดดราม่าและประเด็นเรียกร้องสิทธิจนคังคุไบไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำหญิงโสเภณีในย่านการค้าเก่าแก่ของมุมไบได้สำเร็จ
แต่ก่อนจะเล่าถึงประเด็นอาชีพโสเภณีที่เป็นสาระสำคัญของหนังเรื่องนี้ ขอเล่าถึงสถานการณ์ตลาดหนังอินเดียขณะนี้กันก่อน ปัจจุบันหนังอินเดียมีฐานคนดูอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านคนทั่วโลก กลุ่มคนดูก็จะเป็นคนอินเดียในประเทศ คนอินเดียในต่างประเทศ และกลุ่มคนดูจากชาติอื่นๆ เลย ซึ่งหนังอินเดียบอลลีวู้ดก็ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของอินเดียไม่น้อย นอกจากอาหารและการท่องเที่ยว
หนึ่งในความสำเร็จของหนังอินเดีย คือ ภาพยนตร์เรื่อง “Dangal” หนังดราม่าชีวิตนักมวยปล้ำที่ต้องสวมบทเป็นโค้ชคุณพ่อปั้นลูกสาวสองคนไปเป็นนักกีฬามวยปล้ำสมัครเล่นระดับประเทศ สามารถเข้าไปตีตลาดหนังในประเทศจีนได้แบบกวาดรายได้ถล่มทลาย และหนังก็ถูกอกถูกใจคนดูชาวจีนมากจนเปิดใจที่จะดูหนังอินเดียเรื่องอื่นๆ
เช่นเดียวกันหนังอย่างคังคุไบที่สามารถเปิดตลาดคนดูหน้าใหม่ๆ ให้รู้จักหนังอินเดียมากขึ้น แต่เวลาเราพูดถึงหนังอินเดียนั้น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หนังอินเดียมีการสร้างแยกย่อยอีกหลากหลายภาษา เช่น หนังภาษาเบงกาลี ภาษาทมิฬ ภาษาเตลู เป็นต้น เพราะชาวอินเดียพูดกันไม่ต่ำกว่า 20 ภาษา ตามแต่ละภูมิภาค แต่จะมีภาษาหลักที่ใช้เป็นภาษาสื่อสารกับภาครัฐ และเป็นภาษาพูดของคนส่วนใหญ่ คือ ภาษาฮินดี ดังนั้นหนังบอลลีวู้ดที่เราดูกันโดยมากก็คือหนังภาษาฮินดีนั่นเอง
คำว่า “บอลลีวู้ด” ก็มาจากการรวมคำระหว่าง บอมเบย์กับฮอลลีวู้ด ซึ่งเมืองมุมไบ (ชื่อเดิมบอมเบย์) ถือเป็นอุตสาหกรรมหนังหลักของประเทศอินเดีย เหมือนฮอลลีวู้ดที่อยู่ในลอสแอนเจลิส ซึ่งปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมหนังของอินเดียอยู่ที่ประมาณกว่าแสนล้านรูปี คิดเป็นเงินไทยเฉลี่ยที่ราวกว่า 8 หมื่นล้านบาท
กลับมาพูดกันถึงหนังบอลลีวู้ดที่กำลังได้ใจคนดูชาวไทยตอนนี้อย่างคังคุไบกัน ด้วยเนื้อหาชีวิตของโสเภณีที่เรียกร้องความเท่าเทียมกัน และความเข้มข้นของการเขียนบทพูดเรียกร้องสิทธิผ่านตัวละครนำที่ทำให้ประเด็นการทำให้อาชีพโสเภณีไทยถูกกฎหมายถูกจุดประเด็นแสดงความเห็นอีกครั้งบนโซเชียลมีเดีย
อาชีพ Sex Worker ในประเทศไทยนี้ เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เคยเขียนอ้างอิงถึงงานวิจัยประวัติศาสตร์โสเภณีไทยในอดีต ถึงการศึกษาหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่า มีการจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอีกหลายชนิด ซึ่งภาษีนี้ทำเงินให้รัฐบาลได้มากทีเดียว ทำให้สันนิษฐานได้ว่านับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นภาษีที่เรียกว่า “ภาษีบำรุงถนน”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตรากฎหมายให้สถานบริการทางเพศต้องจดทะเบียนและมีชื่อของผู้ประกอบอาชีพโสเภณีที่ตรวจสอบได้ และแต่ละคนก็ต้องไปจดทะเบียนกับเจ้าพนักงาน รวมทั้งให้ค้าประเวณีได้แค่ในสำนักโสเภณี (อ้างอิง พ.ร.บ.สัญจรโรค ร.ศ.127 หรือ พ.ศ.2451)
กฎหมายนี้ใช้ต่อเนื่องถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้หัวเมืองทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2456 กระทั่งถึงยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งออก พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีมาใช้แทน ใน พ.ศ.2503 บนแนวคิดขององค์การสหประชาชาติขณะนั้นว่า การค้าประเวณีทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ตกต่ำลง เป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรม ทั้งการค้ามนุษย์ และแพร่ระบาดของโรค
นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้โสเภณีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และดำเนินไปอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
World Population Review รายงานสถานการณ์ล่าสุดของปี 2565 ว่าประเทศที่มีการเปิดให้ค้าประเวณีอย่างถูกกฎหมายแบบสมบูรณ์ทั่วโลกขณะนี้มี 15 ประเทศ ที่ว่าเปิดเสรีแบบสมบูรณ์หมายความว่า เป็นการค้าประเวณีในความหมายที่เป็นธุรกิจ และเปิดให้มีธุรกิจสถานบริการแนวนี้ และมีมาม่าซังคนดูแลอย่างถูกกฎหมาย
ทว่ายังมีอีกหลายประเทศที่แม้จะไฟเขียวให้ Sex Worker คืออาชีพสุจริตถูกกฎหมาย (มากกว่า 15 ประเทศ) กล่าวคือ คนทำอาชีพนี้ต้องเสียภาษี ได้รับประกันสังคม ระบบสาธารณสุขรองรับ แต่ในรายละเอียดยังมีการควบคุมบางด้าน เช่น ไม่อนุญาตให้เปิดเป็นธุรกิจสถานบริการ หรือซ่องโสเภณีที่มีมาม่าซังดูแล เพราะยังกังวลเรื่องการค้ามนุษย์ แต่คนที่ขึ้นทะเบียนสามารถประกอบอาชีพโสเภณีได้ถูกกฎหมาย
รายงานของ World Population Review ได้ให้คำจำกัดความธุรกิจโสเภณีของประเทศไทยด้วยว่า แม้การค้าประเวณีถูกระบุเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่กฎหมายมีความคลุมเครือและมักไม่มีการบังคับใช้
นอกจากนี้บางประเทศที่อยู่ในกลุ่มคลุมเครือเช่นเดียวกับไทย เช่น ญี่ปุ่น ที่กฎหมายการค้าประเวณีผิดกฎหมาย แต่ก็จะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนบริบทเพื่อเลี่ยงกฎหมายในการคิดค้นและหาช่องทางเลี่ยงบาลีออกไป เช่น การสร้างธุรกิจเกี่ยวกับเพศโดยใช้คำทำนองว่า Fashion Health บ้าง บริการจัดส่งสุขภาพบ้างไปจนถึงการทำให้ดูเหมือนไม่ใช่ธุรกิจตรงๆ เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย
ปิดท้ายที่รายงานตัวเลขรายได้การค้าประเวณีทั่วโลก อ้างอิงจาก Havoscope ซึ่งจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจตลาดมือทั่วโลก ได้จัดทำรายงานธุรกิจค้าประเวณีของโลกขึ้น Prostitution: Prices and Statistics of the Global Sex Trade (อ้างอิง https://havocscope.com/prostitution-revenue-by-country/) โดยได้คำนวณว่าทั่วโลกสร้างรายได้จากธุรกิจอาชีพนี้มากถึง 1.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ติสตูติสตู
แถมยังมีรายงานในส่วนของประเทศไทยว่ามีตัวเลขรายได้สูงถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินเดีย มีรายงาน 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศที่ให้โสเภณีเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย อย่างเยอรมนี มีรายได้ธุรกิจนี้ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนังคังคุไบถือเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การดูเพื่อความบันเทิงและการรับชมเพื่อเข้าใจในชะตากรรมของมนุษย์และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาเกียรติของตัวเองไว้ โดยไม่ถูกตัดสินหรือถูกด้อยค่าจากอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ ด้วยส่วนผสมทั้งเรื่องราว การแสดงของนางเอก “อาเลีย บาตต์” ที่แบกหนังทั้งเรื่องไว้ได้ดีตั้งแต่ต้นจนจบ ส่งผลให้ “คังคุไบ” เป็นหนังอินเดียที่สร้างมุมมองที่เปิดกว้างให้คนไทยทั้งการได้รู้จักหนังอินเดียมากขึ้นและได้กลับมาทำความเข้าใจอาชีพโสเภณีที่ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราจะต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจและเห็นว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่ควรได้เข้ามาในระบบคุ้มครองแรงงาน
ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix / Internet)