ตู้หนังสือ : ปฏิวัติปลายลิ้น กบฏแมนฮัตตัน

โลกไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ ความคิดไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ แม้คนยืนยันว่าโลกกลม กาลิเลโอ กาลิเลอี ขัดความต้องการของคริสตจักรที่ให้บอกว่าโลกแบน จะ “นอกรีต” ถูกจำกัดบริเวณจนตาย แม้วีรสตรี เช่น ฌาน ดาร์ค ผู้ต่อสู้เพื่อแผ่นดินจะถูกทรยศเผาทั้งเป็นเพราะ “นอกรีต” แต่ความคิดก้าวหน้าก็ยังคงก้าวไป ถึงความอยุติธรรมยังคงอยู่ ความไม่เท่าเทียมยังคงอยู่ คำประณามว่า “นอกรีต” ยังคงถูกใช้อยู่ กระนั้นความคิดก้าวหน้า ผู้คนก้าวหน้า ก็ยังเกิดมาสร้างความแตกต่างได้อยู่ดีเช่นเดียวกัน

ตรงกันข้าม สังคมที่บ้านเมืองภาคภูมิใจในเอกราช กลับคงความคิดอาณานิคม สืบทอดความคิดอาณานิคมไว้ได้เหนียวแน่นชวนประหลาดใจ

เพียงเพื่อฝ่ายหนึ่งมีสถานะอำนาจเหนืออีกฝ่ายเท่านั้นเอง แม้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็ตาม กระทั่งในพื้นที่ที่ถูกเรียกขานยกย่องว่า ปัญญาชน

5 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศยกเลิก “ระบบโซตัส” ไม่อนุญาตให้ทุกองค์กรกิจกรรมภายใต้ อบ.ก.จัดงานที่เกี่ยวข้องกับระบบโซตัสอย่างเด็ดขาด

Advertisement

ทั้งย้ำการเลิกประกวดทูตกิจกรรม ดาว-เดือน ตั้งแต่ปี 2563 และต่อต้านความคิด “บรรทัดฐานความงาม” กับค่านิยม “สิทธิพิเศษจากความงาม” อีกด้วย

อู๊ยยย… ถูกใจพ่อแม่พี่น้อง

ก่อนหน้านั้น หน้าจอสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศ “คณะรัฐศาสตร์ของเรา ใส่ชุดอะไรไปเรียนก็ได้ เราเน้นผลผลิตเพื่อสังคม มากกว่าคุณค่าเครื่องแบบอันจอมปลอม และมรดกของศักดินา…

Advertisement

“ขอสนับสนุนเพื่อนนิสิต แสดงความเป็นตัวเองผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์ที่คุณมั่นใจ พร้อมร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ที่มีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และก้าวพ้นกรอบทางเพศที่กำหนดโดยเครื่องแบบนิสิต”

เยี่ยมมม…

และก่อนหน้านั้นอีกวัน 1 มิถุนายน สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศ “ยกเลิกการใช้คำนำหน้าระบุเพศ” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โอบรับความหลากหลายทางเพศ และเคารพสิทธิของความเป็นมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชน

สมเป็นเดือนแห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยแท้

นี่คือความคิดของลูกหลานไทยที่เคลื่อนไปข้างหน้า ชนิดไม่ต้องกลัวตกโลกหากโลกแบน เพราะจะวนกลับมาข้างหน้าเรื่อยๆตามวงวัฏของอนิจจัง

วันก่อน กฎหมายสุราก้าวหน้า ผ่านไปด่านหนึ่งแล้ว วันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านไปอีกด่าน นี่คือหน้าที่สภานิติบัญญัติที่แสดงต่อคนรุ่นใหม่ และต่อคนรุ่นเก่าที่ไม่รู้ว่า ส.ส. ในสภาต้องทำหน้าที่อะไร นอกจากไปงานบวช งานแต่ง งานตาย รับร้องเรียนเรื่องจิปาถะ หรือเลี้ยงกาแฟชาวบ้าน

ถ้านับจากวันที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยพูดว่า “วีเมน’ส ลิเบอเรชั่น (women’s liberation ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี) เป็นเรื่องของผู้หญิงอยากมีหนวด” เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันนักการเมืองไทยส่วนหนึ่งเดินทางมาไกลมากแล้ว ด้วยการทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนที่แท้ และเป็นความหวังต่ออนาคตของบ้านเมืองที่แท้

⦁ มาแล้ว หนังสือดีสั่งจองล่วงหน้า ราคาพิเศษ ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน” จากเล่มละ 495 บาท เหลือเพียง 420 บาท ที่เขียนเล่าเสนอเองโดย นิยม สุขรองแพ่ง อดีตจ่าทหารเรือที่ร่วมกบฏ ปรับปรุงโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์
เหตุการณ์การเมืองที่สำคัญของไทย เมื่อคณะกู้ชาตินำโดยนายทหารเรือหนุ่ม จี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้รัฐบาลออกจากอำนาจ แต่ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารและตำรวจตอบโต้อย่างรุนแรงจนเป็นการปะทะนองเลือด กระทั่งฝ่ายคณะกู้ชาติพ่ายแพ้ กองทัพเรือถูกลดบทบาทและอำนาจ รัฐบาลรัฐประหารสามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการ โดยมีกองทัพบกเป็นขุมกำลังสำคัญ ยืนยงต่อมาหลายทศวรรษ
ผู้เขียนเล่าว่า “เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผม ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปนับสิบๆ ปี เหตุการณ์ต่างๆ ยังเด่นชัดอยู่ในมโนภาพ เสียงปืน เสียงระเบิด เปลวเพลิง ควันไฟ สีแดงสดของเลือดที่ทะลักออกจากบาดแผล ไหลชุ่มเสื้อกางเกงส่งกลิ่นคาวคลุ้ง ใบหน้าที่บิดเบี้ยวเหยเกแสดงความเจ็บปวดรวดร้าวของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อวัยวะบางชิ้นหลุดออกจากร่างกาย บาดแผลเหวอะหวะ เศษเนื้อที่ขาดกะรุ่งกะริ่งคลุกด้วยเลือดและเศษกระดูก
“ใบหน้าซีดจนขึ้นเขียวบวมอลึ่งฉึ่งของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในที่ลับตา บางศพในเครื่องแบบราชนาวีลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา วันแล้ววันเล่าโดยไม่มีใครสนใจไยดี เขาเป็นลูกใคร พ่อใคร ผัวใคร จึงต้องมาตายอยู่ในสภาพนี้ เศษซากของอาวุธนานาชนิดที่ถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายทหารเรือ ก็ได้มาจากภาษีอากรของราษฎร…”
การพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ได้เพิ่มบทบรรณาธิการขยายแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน กับภาคผนวกบันทึกของผู้ร่วมเหตุการณ์ตั้งแต่นายพลจนคนสามัญ
น่าอ่านสุดสุดเช่นนี้ สั่งจองได้ภายใน 22 มิถุนาฯ และเริ่มส่งตั้งแต่ 27 มิถุนาฯ
หนังสือที่สะท้อนให้เห็นว่า นี่คืออำนาจการเมืองจากอาวุธ ที่รู้เวลามา แต่ไม่รู้เวลาไป ผู้เดือดร้อนจากความล้าหลังทั้งหลายคือประชาชนคนเดินถนน ซึ่งไม่เคยได้ลืมตาอ้าปากกับสิทธิตามกฎหมายประชาธิปไตยที่ถูกฉีกไปนั่นเอง-ฮ่วย

⦁ ส่วนหนังสือดีอีกเล่มที่มากับวาระ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งแนะนำไปสัปดาห์ที่แล้ว ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร จากการค้นคว้าของ ณัฐพงศ์ ใจจริง ก็ลดราคาจาก 480 บาทเหลือ 400 บาท ด้วยการสั่งจองภายใน 22 มิถุนาฯและเริ่มส่ง 27 มิถุนาฯนี้ เช่นกัน

⦁ หนังสือได้ความรู้ และอ่านสนุก เพลิดเพลินกับอดีตความทรงจำที่ไม่เคยถูกรื้อฟื้นให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักรับรู้อีกเล่มก็คือ ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติอาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475 ค้นคว้ามาเสนอโดย ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ มาชวนลิ้มรสชาติการปฏิวัติปลายลิ้น ปรุงแต่งการกินไปเป็นแบบประชาธิปไตย
หลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้นำแนวคิดโภชนาการเข้ามาประสานการเมืองสมัยใหม่ ผลักดันให้ประชาชนสนใจการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ทั้งส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมอาหาร ความสำเร็จในการปฏิวัติที่ปลายลิ้นยังนำไปสู่กระบวนการช่วงชิงความหมาย และสร้างนิยามมาตรฐานด้านรสชาติอาหารใหม่อีกครั้งของกลุ่มชนชั้นสูงในเวลาต่อมา
มาติดตามกันว่า หากกลุ่มใดในสังคมสามารถครองอำนาจนำที่ปลายลิ้นได้ ก็ย่อมสามารถครองอำนาจทางการเมือง วัฒนธรรม ในระดับมวลชนได้เช่นเดียวกัน จริงหรือไม่
หนังสือเล่มนี้ก็สามารถสั่งจองได้ภายใน 22 มิถุนาฯนี้ และเริ่มส่งตั้งแต่ 27 มิถุนาฯ เป็นต้นไป ด้วยราคา 300 บาท จากราคาปก 360 บาท และหนังสือทั้งสามเล่มที่กล่าวมา ยังมีของขวัญเช่นเข็มกลัดหมุดคณะราษฎร ที่คั่นหนังสือสามแบบ กับสมุดจดข้อความ แนบมาด้วยครบทุกเล่มเป็นที่ระลึก

⦁ หนังสืออีกเล่มของนายทหารนักเขียน ที่วันนี้ยังทำหน้าที่ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ที่น่าอ่านอีกแง่มุมก็คือ 2475 เส้นทางคนแพ้ ซึ่งช่วยให้เห็นภาพความจริงที่เป็นอนิจจังหลายๆ ด้าน
สงครามเป็นเรื่องโหดร้ายซึ่งทิ้งร่อยรอยที่ลบไม่ออกไว้ในใจผู้คน ปัจจัยเดียวที่ช่วยไถ่ถอนเจ็บปวดได้บ้าง คือความกล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อของเหล่าสหาย ความเสียสละที่มีแก่กัน ความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ ทำให้ความรักและสามัคคีในหมู่ทหารทั้งในยามสงบและยามรบเข้าใจได้ไม่ยาก เป็นกฎเหล็กอันนำไปสู่เรื่องราว หรือตำนานมากมาย ที่เล่าขานต่อกัน จนมี
คำกล่าวติดปากกันมาว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือประโยคเช่น “เอาศพคืนไม่ได้ก็เพิ่มศพเข้าไป” ของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นตัวอย่าง
มิตรภาพของ “สี่ทหารเสือ” (พระยาศรีสิทธิสงคราม, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ) ผู้เสี่ยงชีวิตเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งก่อนหน้าและเริ่มแรกก็เป็นเช่นดังกล่าวมา แต่เพียงชั่วเวลาข้ามปี ทุกอย่างพลันเปลี่ยนไปจนกลายเป็นชะตากรรมอันน่าเศร้า ไม่ว่าจะในความเป็นมนุษย์ หรือในนิยามของมิตรภาพ หอกดาบอาจไม่สามารถทำลายมิตรภาพในหมู่ทหารได้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทำลายมิตรภาพที่เคยเหนียวแน่นลงได้จริงจังก็คือ “อำนาจ” นั่นเอง
ลองหาอ่าน เพื่อเข้าใจภาพเต็มของมนุษย์ผู้กำหนดชะตากรรมตัวเองดู

⦁ หนังสือที่เป็นประวัติศาสตร์นอกตำรายุคใกล้ที่น่าสนใจอีกเล่ม อยู่ในเวลาร่วมสมัยที่ผู้คนยังรู้จักจำได้ ควรรู้ควรเรียนก็คือ พ่อค้าไทยยุค 2480 เล่ม 1 และเล่ม 2 ค้นคว้าและรวบรวมมาเขียนโดย เอนก นาวิกมูล ประกอบจากงานสารคดี 39 ตอน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากหนังสือเล่มเล็กชื่อ “สมุดรำลึกเนื่องในวันงานที่ระลึก สถาปนากะซวงพานิช วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2486” โดยกล่าวถึงพ่อค้าในยุค 70 กว่าปีก่อนซึ่งการค้าและอุตสาหกรรมกำลังขยายตัว รัฐบาลจอมพล ป. ก็ต้องการให้คนไทยค้าขายตามรัฐนิยม ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ ส่งผลให้เกิดพ่อค้ามากหน้าหลายตา ที่ต่อมาเป็นบุคคลสำคัญ ส่งผลมากระทั่งปัจจุบัน เช่น
เจือ เพ็ญภาคกุล ห้างขายยาเพ็ญภาค, หลวงนรเสถสนิท ห้างสรรพานิชสโตร์, ทองห่อ เช็งสุทธา สามมิตรยนต์, บุนรอด จุลโมกข์ ห้างขายยาจุลโมกข์, เชื้อ ชนานพ เสื้อเชิตสำเร็จรูป “นพรัตน์”, ร.ต.ซง บุนยรัตเวช ห้างขายยาสุคนธโอสถตราม้า, เลิศ เศรษฐบุตร รถเมย์ขาว เรือเมย์ขาว, เลิศ เลิศดำริห์การ จาตุรงคอาภรณ์, วรกิจ พ.รังควร โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม ฯลฯ
เป็นหนังสือสองเล่มที่เห็นสินค้าแล้วยังต้องตา รำลึกถึงอดีตที่ผ่านมายังทันไกลเท่าไหร่ได้

⦁ นิตยสารทรงคุณค่าระดับโลกในพากย์ไทย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายนนี้ว่าด้วย “อาณาจักรปะการัง” ความงามของธรรมชาติที่กำลังถูกทำลายล้าง เมื่อโลกมหัศจรรย์สีครามตระการตาที่สุดแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ กำลังเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศและการประมงคุกคามอย่างสาหัส
อ่านการระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้เกิดการกระหาย “สัมผัส” อันทรงพลังต่อสุขภาพและความเป็นมนุษย์อย่างล้นเหลือเช่นไร, ใครรู้จัก “ออโตโครม” บ้าง ไปชมอดีตอันงดงามราวภาพเขียน จากแผ่นกระจกออโตโครมหลายพันชิ้น จากชุดสะสมใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก ในคลังภาพ “เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก” กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อันน่าตื่นตาตื่นใจ, ดูแหล่งพักพิงที่เปราะปรางของช้างป่าแอฟริกัน
จากนั้นไปพบถ้ำลึกที่สุดในโลกในเม็กซิโก การปฏิวัติสองล้อ สิ่งประดิษฐ์ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งสร้างวิถีชีวิตใหม่ให้กับชาวโลก ฯลฯ อ่านเพลิน ดูภาพเพลินตลอดเดือนที่ร้อนแดดและเย็นฝนนี้

⦁ “ประเทศนี้เป็นของราษฎร” ความทรงจำของเยาวรุ่นเมื่อ 90 ปีก่อน ในนิตยสารอ่านเอาเรื่องเกี่ยวกับอดีตของตัวเองอันเป็นรากฐานมั่นคงของอนาคต ศิลปวัฒนธรรม เดือนมิถุนายน ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ “ประชาธิปไตย” ไทย ตั้งแต่เหตุจูงใจนักเรียนนายร้อยให้มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ความทรงจำของคนหนุ่มสาวเยาวชนในวันที่ 24 มิถุนายน กับที่มาของความหมาย และการฝังหมุดคณะราษฎรเพื่อเป็นอนุสรณ์ ที่บางคนรุ่นหลังพยายามแซะให้หายไป
อ่านหลักเมืองนครบาล แนวคิด รูปแบบ สู่ศิลปะ สถาปัตยกรรมหลักเมืองสมัยใหม่ และอ่าน “ลูกจีน” เจ้าสังเวียนมวยไทย เพลินกับความรู้ตลอดเดือน

⦁ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัวรายสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วย “เคสครูพี่โอ๊ะ จริยธรรม โอ๊ย โอ๊ย” เมื่อนักเลือกตั้งทำผิดกฎหมาย และมรรยาทนักการเมืองมาตรฐานสากลไม่ปรากฏกับนักเลือกตั้งไทย
อ่านยุทธการซักฟอกครั้งสุดท้าย จะพังสิบนั่งร้าน หรือจะเด็ดจะสอยได้เท่าไหร่หรือไม่ ลองฟังความดู, วิกฤตปัญหาเชื้อเพลิง รัฐไล่บี้ “ค่าการกลั่น” บีบบริษัทน้ำมัน และจะอุ้มดีเซลได้ขนาดไหน, อ่าน 3 จุดเปลี่ยนทัพเรือ จากเรือดำน้ำถึง ผบ.ทร. กับปัญหา 3 ทหารคอหนังกรณี ผบ.นย. มีอะไรให้ชาวบ้านดู
อ่านเปิดใจ “สุราก้าวหน้า” ถ้าไม่ผลักดันกฎหมาย จะเป็น ส.ส.กันทำไม, อ่านศิโรตม์เขียน มรสุมเศรษฐกิจจะเป็นวิกฤตรัฐบาล, คำผกา เขียน เศรษฐกิจชุดนักเรียน, สุจิตต์เขียน ฉะเชิงเทรา “ทวารวดี” ที่พนมสารคาม สนามชัยเขต, พิษณุเขียน ความยาวของแขน บอกความเป็นยอดนักกีฬา กับรายงานพิเศษ ชวนส่งงานเขียนประกวด “มติชน อวอร์ด” จากนักเขียนมือรางวัล

⦁ “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย” เพลงยาวถวายโอวาท สุนทรภู่
ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ชักมาฟันแล้ว อาวุธใครในบ้านเมืองสนิมเขรอะชักไม่ออก ก็ควรถอยไปอยู่ข้างหลัง อย่าขวางทางให้ชาวบ้านลำบาก – ฮ่วย อีกหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image