Love & Anarchy รักวินาศสันตะโร ซีรีส์แนะนำจากสวีเดน

Love & Anarchy รักวินาศสันตะโร ซีรีส์แนะนำจากสวีเดน

Love & Anarchy
รักวินาศสันตะโร ซีรีส์แนะนำจากสวีเดน

เคยเขียนถึงซีรีส์สวีเดนเรื่องนี้เมื่อครั้งให้ดูบนสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์ในซีซั่นแรก ปรากฏว่าอยากจะกลับมาเล่าถึงซีรีส์เรื่องนี้อีกรอบ เพราะซีรีส์เพิ่งจะคัมแบ๊กซีซั่นสองมาให้ดูกันสดๆ ร้อนๆ ไม่นานมานี้ และปรากฏว่าเรื่องราวซีซั่นสองนี้มีประเด็นที่อยากเอามาเล่าสู่กันฟังอย่างมาก โดยเฉพาะในสายของคนที่หลงใหลวรรณกรรม หรืออยู่ในแวดวงหนังสือ วรรณกรรม

ก่อนจะไปเรื่องดังกล่าว ต้องย้อนกันสักนิดว่า ซีรีส์ เรื่องนี้เล่าเรื่องเหมือนจะเกี่ยวกับความรักระหว่างวัย ด้วยมู้ดโทนตลกร้ายนิดๆ เป็นเรื่องราวของหญิงสาววัยสามสิบปลายๆ อย่าง “โซฟี” ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และคุณแม่ลูกสองชนชั้นกลางที่เพียบพร้อมทั้งครอบครัว หน้าที่การงาน มาได้เจอกับ “แม็กซ์” หนุ่มวัยรุ่นติสต์เซอร์ที่เป็นพนักงานไอทีในออฟฟิศสำนักพิมพ์ที่ “โซฟี” ไปรับงานวางแผนโมเดลทางธุรกิจให้ หน้าที่ของโซฟีคือเข้ามาวางกลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรให้หารายได้ในยุคดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดของสำนักพิมพ์

ในซีซั่นแรกน้ำหนักของเรื่อง คือการเล่าเรื่องเกมเดิมพันตลกร้ายระหว่าง “โซฟี” กับ “แม็กซ์” ที่ผลัดกันท้าให้อีกฝ่ายทำอะไรห่ามๆ พิสดารและเพิ่มระดับการท้าทายแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกมของทั้งคู่ทำไปทำมาก็ต่างเริ่มตกหลุมรักกัน ซึ่งตัวเรื่องหลักเล่าเรื่องราวการก่อเกิดสิ่งเล็กๆ ที่เริ่มเป็นความเสน่หาระหว่างกัน จนชักจะเลยเถิดเป็นความรักของทั้งคู่ขึ้นมาแบบเบาบาง แต่กลับมีผลกระทบแบบวินาศสันตะโรทั้งกับชีวิตส่วนตัวของ “โซฟี” และองค์กรสำนักพิมพ์ที่ทั้งคู่ทำงาน

Advertisement

ความสนุกนอกจากเรื่องราวของคู่พระนางตัวหลักแล้ว จุดแข็งอีกอย่างของซีรีส์เรื่องนี้ คือบรรดาเรื่องย่อยรายล้อมที่มีมิติมาก อาทิ เรื่องและเหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ จากเพื่อนร่วมงานในสำนักพิมพ์ ปัญหาชีวิตคู่ของโซฟีกับสามีที่ชอบบงการและเข้มงวด ความพยายามสื่อสารระหว่างกันของเธอกับลูกสาวที่กำลังสับสนย่างเข้าสู่วัยรุ่น รวมทั้งเส้นเรื่องระหว่างโซฟี กับพ่อที่มีอาการสมองเสื่อม และภาวะโรคซึมเศร้าแฝง ซึ่งพ่อยังมักจะแสดงออกถึงการต่อต้านทุนนิยมจนทำให้ “โซฟี” ต้องคอยเข้าไปเคลียร์ปัญหาให้เสมอ

ในซีซั่นหนึ่งเรื่องราวจบลงแบบวินาศสันตะโร โซฟีปลดแอกตัวเองจากชีวิตคู่ สำนักพิมพ์ที่เธอเข้ามาวางแผนกลยุทธ์พัฒนารายได้ดูจะไปไม่รอด เรื่องราวของเธอกับ “แม็กซ์” ก็ยังคาราคาซัง

     ซีรีส์จากสวีเดนเรื่องนี้เลือกหยิบยกมุมมานำเสนอได้น่าสนใจ โดยซีซั่นหนึ่งเราจะได้เห็นเรื่องราวร่วมสมัยที่เกิดขึ้นทั่วไป อาทิ ความรักระหว่างวัย การปรับตัวของคนทำงานออฟฟิศต่างเจเนอเรชั่น รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดั้งเดิมสู่โลกดิจิทัล ไปจนถึงการปะทะกันของแนวคิดคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ทุนนิยมหรือรัฐสวัสดิการ

มาในซีซั่นสอง ซีรีส์ขับเน้นเรื่องแบบดราม่ามากขึ้น ลดความตลกร้ายลง แต่เคร่งขรึมและจริงจังมากขึ้น เมื่อเรื่องเล่าต่อเนื่องที่ต่อมา “โซฟี” หย่าขาดจากสามี เธอและ “แม็กซ์” ติดต่อกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนในสถานะ เรื่องราวการท้าทายเล่นเกมเดิมพันให้อีกฝ่ายทำอะไรแผลงๆ มีน้อยลง แต่ก็ยังมีใส่อยู่ในเรื่อง แต่ซีรีส์เลือกจะให้ความท้าทายนี้เป็นบทสรุปท้ายเรื่องที่จบได้เท่ที่สุด ใครอยากรู้ก็ต้องไปลองดูกันเอง

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ซีซั่นสองนี้มีมู้ดและโทนเรื่องที่เคร่งขรึมและดราม่าขึ้นมากกว่าจะตลกร้ายแบบในซีซั่นที่หนึ่ง โดยในซีซั่นสองนี้เลือกเล่าประเด็นหลักไปที่ โครงสร้างธุรกิจวัฒนธรรมอย่างสำนักพิมพ์ที่เน้นพิมพ์งานวรรณกรรม ทั้งยังพูดลงลึกไปถึงวัฒนธรรมการเขียนและการอ่าน ผ่านเรื่องราวของกลุ่มนักเขียนวรรณกรรม กวี นวนิยาย เรื่องสั้น ซึ่งเล่าเรื่องได้มีมิติและสะท้อนไปถึงโครงสร้างปัญหาของธุรกิจวรรณกรรมในยุคนี้ได้น่าสนใจ

เมื่อถึงยุคหนึ่งมีการตั้งคำถามว่า คนรุ่นใหม่อ่านวรรณกรรมน้อยลง แล้วบรรดานักเขียนจะทำอย่างไร สำนักพิมพ์ในฐานะผู้พิมพ์วรรณกรรมเหล่านี้จะเติบโตไปทิศทางไหน เมื่อคุณค่าและรสนิยมกำลังทั้งถูกสั่นคลอนและทำให้เปลี่ยนไป เราจะได้เห็นโมเดลธุรกิจที่พยายามหาทางออกให้ธุรกิจสำนักพิมพ์ ซึ่ง “โซฟี” เป็นคนคิดขึ้นมาจนถูกประท้วงและต่อต้านจากเหล่านักเขียนอย่างหนัก เมื่อเธอคิดจะแบ่งนักเขียนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่ม A ที่เป็นนักเขียนที่มีผลงานขายดี และกลุ่ม B กลุ่มนักเขียนมีฝีมือมีงานเขียนเฉพาะกลุ่มและแน่นอนไม่ใช่กลุ่มสร้างรายได้ โดยสำนักพิมพ์จะจัดเก็บค่าตีพิมพ์หนังสือจากนักเขียนที่ถูกจัดเข้ากลุ่ม B เพื่อลดภาระต้นทุน รวมทั้งเธอยังเลือกจะติดต่ออินฟลูเอนเซอร์วัยรุ่นที่มีชื่อเสียงมาจากการทำเรื่องไร้สาระลงบนโซเชียลมีเดีย แต่มีแฟนคลับผู้ติดตามนับล้านมาออกพ็อคเก็ตบุ๊กกับทางสำนักพิมพ์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่ง “โซฟี” ได้พยายามจะตอบสนองนายทุนในหลายด้านจนทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของงานวรรณกรรมที่ถูกลดทอน

Love & Anarchy ในซีซั่นสองนี้จึงได้เห็นทั้งอาการหลงทางทั้งหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของ “โซฟี” ที่มีปัญหาต่อสู้ทางจิตใจที่หนักหนายิ่งกว่าซีซั่นแรก โดยเฉพาะปมระหว่างเธอกับพ่อที่ถูกขยี้มากขึ้นในซีซั่นนี้ และหนทางอันน่าสับสนของเธอกับ “แม็กซ์” ที่แม้โซฟีจะมีอิสระที่จะเลือกความรักของเธอได้แล้ว แต่ก็อย่างที่ผู้หญิงวัยสามสิบปลายๆ อย่างเธอต้องเผชิญ ทั้งวิกฤตตัวตน วิกฤตหน้าที่การงาน การกดดันตัวเองแบบไม่รู้ตัว ทำให้เธอสับสนงุนงงกับชีวิต จนต้องบอกกับแม็กซ์ว่า “ฉันไม่รู้ว่าฉันต้องการอะไร”

ประเด็นต่างๆ ที่ถูกนำมาเล่าในซีรีส์เรื่องนี้ผ่านบทสนทนาของตัวละครแต่ละคนนั้นเฉียบคมและให้มุมมองมาก

รวมทั้งการหยิบประเด็นมาเล่ายังคงร่วมสมัยและสะท้อนมุมมองวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและปัญหาของชนชั้นกลางในประเทศที่ผู้คนมีแนวคิดเปิดรับความหลากหลาย มีความก้าวหน้า เปิดกว้างและให้อิสระในการแสดงความคิดและมุมมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งนี้ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรม เราจะได้เห็นการที่นักเขียนกล้าที่จะนำเสนอมุมมองของตัวเองอย่างไม่ต้องเกรงกลัวการถูกตัดสินใดๆ มันอาจจะถูกวิจารณ์ ถูกเกลียดชัง ถูกตั้งคำถาม แต่ความกล้าหาญในการเล่าเรื่องแบบนั้น ก็ทำให้งานศิลปะก้าวหน้าและร่วมสมัย ซึ่งซีรีส์ก็ให้ความเคารพที่จะเลือกให้คุณค่างานวรรณกรรมในมุมนี้ในท้ายที่สุด

ส่วนในพาร์ตเรื่องราวรักวินาศสันตะโรระหว่างวัยของ “โซฟี” และ “แม็กซ์” ในซีซั่นสองนี้ แม้จะไม่อลหม่านเท่าซีซั่นแรก แต่ด้วยเรื่องราวทั้งหมดก็นำพามาสู่บทสรุปที่ถือว่าจบได้สมบูรณ์แบบแล้ว ใครสนใจตามไปดูกันได้ในเน็ตฟลิกซ์

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image