ทราย ขอหยิบประสบการณ์ เล่าเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า เมื่อประกันชีวิตไม่ครอบคลุมค่ารักษา

ทราย ขอหยิบประสบการณ์ เล่าเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า เมื่อประกันชีวิตไม่ครอบคลุมค่ารักษา

หลังจากออกมาเปิดเผยว่า ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า กระทั่งต้องเข้ารับการรักษา จนวันนี้ ยัวร์บอย ทีเจ หรือเต๋า จิรายุทธ ผโลประการ ได้ออกมาพูดถึงค่ารักษาว่าแพงถึง 6 แสนบาท ทำให้สังคมถกเถียง ถึงประเด็นค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไปหรือไม่

ล่าสุด ทราย อินทิรา เจริญปุระ ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว ให้ข้อมูลถึงการรักษาพยาบาล โดยว่า

“จากประสบการณ์ส่วนตัวนะคะ

ประกันชีวิต (ถ้ามี) คือไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายใดๆ ทางจิตเวชเลย เต๋ารักษาด้วยวิธี ECT นอกจากรักษาและต้องแอดมิตดูอาการ กินยาต่อเนื่องด้วย

Advertisement

ตอนแม่ทรายที่ประเมินว่าต้องรักษาด้วยวิธี ECT นี้ ทรายก็ต้องโยกเอาประวัติแม่มาที่ศรีธัญญาเพื่อรับการรักษา เพราะยอมรับว่าสู้ค่าใช้จ่ายที่เอกชนที่รักษาอยู่เดิมไม่ไหว ก็มาตรงนี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมแบบ รพ.รัฐ ซึ่งมีปัญหาพอสมควรสำหรับคนป่วยเหมือนกัน เพราะแม่ทรายไม่ชิน และเค้าไม่ได้จะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ค่ะ ก็ให้นอนวอร์ดวีไอพีไป แพงแต่ก็ยังถูกกว่าเอกชน

แม่ทรายทำประกันชีวิต+สุขภาพไม่ได้ตั้งแต่ต้น เพราะมีประวัติทางจิตเวช กินยามาตั้งแต่ยังสาว ทำได้แต่ประกันอุบัติเหตุอะไรพวกนี้ การมีประวัติทางจิตเวชคืองานยากที่สุดในการขอประกัน ยากแบบเปอร์เซ็นต์ได้แทบจะเป็นศูนย์ นอกจากจะหยุดยามาเกินปี+ไม่มีประวัติทำร้ายตัวเองเลย+ยินยอมให้ทาง บ.ประกันเข้าถึงประวัติการรักษา+ค่าเบี้ยเพิ่ม

ก็อาจจะทำได้แบบบางกรณี แต่ถึงทำได้ ก็จะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางจิตเวช (ถ้ากลับไปกินยาอีก) และอาการบางอย่างที่อาจจะเป็นผลต่อเนื่องมา

Advertisement

ทรายทำประกันชีวิตไว้ก่อนเป็นซึมเศร้า นี่ที่จริงจังกับการพยายามหยุดยาก็เพราะอยากทำประกันสุขภาพ+โรคร้ายแรงเพิ่ม ตอนนี้ผ่านแล้วแต่ก็ตามเงื่อนไขข้างบน คือเคสบายเคสมาก แทบจะสาธุกับตัวแทนสุดๆ
เป็นกำลังใจให้เต๋าและทุกคนที่สู้อยู่นะคะ”

ทั้งนี้ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เคยให้ข้อมูลไว้ในการแถลงข่าว เปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ

“ระบบการเข้าถึงบริการทางจิตเวชในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ยังไม่เพียงพอ หนึ่งในแนวทางการป้องกันความรุนแรงของโรค คือการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ขั้นต้น (screening and early detection)”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image