Persuasion เขย่าเล่าใหม่นิยาย ‘เจน ออสเตน’ เวอร์ชั่นที่คนดูไม่ค่อยจะรัก

Persuasion เขย่าเล่าใหม่นิยาย ‘เจน ออสเตน’ เวอร์ชั่นที่คนดูไม่ค่อยจะรัก

Persuasion
เขย่าเล่าใหม่นิยาย ‘เจน ออสเตน’
เวอร์ชั่นที่คนดูไม่ค่อยจะรัก

“Persuasion” ภาพยนตร์พีเรียดจากผลงานนิยายดังของนักเขียนหญิงตำนานโลก เจน ออสเตน ถูกนำมารีเมกอีกรอบ จากที่มีสร้างกันมาแล้วหลายรอบทั้งแบบภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวที หนนี้ถูกนำมาเล่าใหม่แบบที่ทำเอาคนดูที่เป็นแฟนคลับนิยายเจน ออสเตน ออกมาวิจารณ์ทางลบสับแหลก

 

แต่พอไปลองดูมุมมองคนดูทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับนิยาย เจน ออสเตน กลับปรากฏว่าตัวหนังได้คะแนนกลางๆ ไม่ได้ค่อนไปทางลบซะด้วยซ้ำ

Advertisement

แปลว่าจนแล้วจนรอดหนังที่ตีความใหม่ห่างไกลจากนวนิยายต้นฉบับก็มักจะลงเอยถูกแบ่งเป็นสองความเห็นจากกลุ่มที่พอดูได้ กับกลุ่มที่ชิงชังหนังเรื่องนั้นไปเลย

ก่อนจะเล่าถึงมุมมองคนดูกันต่อ สำหรับใครที่ไม่เคยรู้พล็อตเรื่อง หรือเคยอ่านนิยาย รวมทั้งไม่เคยดู หนัง ละคร เรื่อง “Persuasion” มาก่อน นี่คือเรื่องราวช่วงยุครีเจนซี่ของอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ตัวละครหลัก คือ “แอนน์ เอลเลียต” หญิงโสดวัย 27 ซึ่งในยุคสมัยนั้น ผู้หญิงอายุเท่านี้และไม่ได้ออกเรือนแต่งงานก็ถือเป็นสาวใหญ่แล้ว

แต่ที่มาที่ไปที่แอนน์ต้องคงสถานะสาวใหญ่ ก็มาจากที่เธอฝังใจกับความรักในอดีตกับนายทหารเรือ เฟร็ด
เดอริก เวนท์เวิร์ธ ที่ไม่มีพื้นเพชาติตระกูลที่ดี ไม่ร่ำรวย จนถูกทั้งพ่อและผู้คนใกล้ชิดครอบครัวหว่านล้อมให้เธอต้องถอนหมั้นบอกเลิกกับเฟร็ดเดอริก และเธอก็เป็นโสดมาโดยตลอด ส่วน “เฟร็ดเดอริก” ที่ถูกหักอกช้ำรักก็ออกเรือเดินทะเลไปหลายทวีป

Advertisement

ต่อมาเรื่องราวก็ดำเนินผ่านมา 7 ปี อดีตคู่หมั้นนายทหารเรือกลับประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นนักเดินเรือมากประสบการณ์ที่ราชนาวีถึงกับเทียบเชิญให้เข้าร่วมกองทัพเรือ เขากลับมาพร้อมชื่อเสียงและความมั่งมี ขณะที่ฐานะทางบ้านของแอนน์กลับค่อยๆ ตกต่ำลง

เวลาหมุนวนกลับมาให้ทั้งคู่ได้เจอกันอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศชวนอึดอัดสงวนท่าทีกันและกัน กว่าจะได้เปิดใจเข้าใจชีวิตแบบผู้ใหญ่ขึ้นก็ต้องรอและลุ้นกันตามทำนองเรื่องราวแนวนี้

เล่ามาแบบนี้โครงเรื่องชวนน้ำเน่า เป็นแนวรักๆ ใคร่ๆ แต่อันที่จริงแล้วเสน่ห์ของนิยายเจน ออสเตน คือ การเล่าเรื่องที่มีมุมมองถากถางชนชั้นสูงของอังกฤษกับการตั้งคำถามกลายๆ ถึงจารีตหลายอย่าง รวมทั้งตัวละครหญิงต่างๆ ของเธอจากนิยายแต่ละเรื่องก็มักจะไม่ได้มีลักษณะตามครรลองสังคมส่วนใหญ่ขณะนั้น

ตัวละครนำหญิงของเธอจึงมีเสน่ห์ตลอดกาล ขณะเดียวกันตัวอักษรของเจน ออสเตน นั้นก็สวยงามคมกริบในการบรรยายความคิดของตัวละคร ไปจนถึงสะท้อนให้คนอ่านตีความและเข้าใจความคิดภายในลึกๆ ของตัวละครได้อย่างแหลมคม

และบนโครงเรื่องแนวรักๆ ใคร่ๆ แฝงแนวคิด การทำความเข้าใจตัวตนและชีวิตของตัวละคร การวางโครงเรื่อง พล็อตต่างๆ ในนิยายของเจน ออสเตน ก็ถือว่ามีอิทธิพลต่องานบันเทิงต่างๆ ในยุคต่อมาและส่งต่อมาเรื่อยๆ ขณะที่ความคลาสสิกของนวนิยายแต่ละเรื่องของเธอผ่านมาเป็น 200 ปี ก็ยังสามารถนำมาเล่าใหม่ทั้งแบบตามนวนิยาย ตีความใหม่บ้าง ไปจนถึงตีความใหม่ขึ้นไปอีก เช่นในภาพยนตร์ Persuasion เวอร์ชั่น 2022 ที่ถือว่าฉีกการเล่าเรื่องชนิดที่แฟนคลับเจน ออสเตน ตั้งคำถามกับผู้กำกับไปจนถึงการพูดว่านี่อาจจะเป็นหนังที่สร้างจากนิยายของ เจน ออสเตน ที่แย่ที่สุด แล้วมันแย่ขนาดนั้นหรือไม่

ถ้ามองจากมุมแฟนคลับที่รักนิยายเจน ออสเตน ก็ต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะตัวหนังสลัดทิ้งทุกอย่าง ลดการเล่าที่ลุ่มลึก ขาดอรรถรสทางภาษาที่สวยงาม ที่สำคัญคือการปรับคาแร็กเตอร์ตัวละครหลักอย่าง “แอนน์” ไม่เหลือมิติแบบในนิยาย แอนน์ที่มีความนิ่ง สงบ ฉลาดเฉลียวแบบเก็บงำ ถูกตีความใหม่เป็น “แอนน์” แบบหนังรอมคอมน่ารัก โก๊ะๆ แต่ฉลาด บุคลิกมั่นใจในตัวเองฉายออกมาชัดทั้งท่วงท่าและคำพูด ขณะที่โครงเรื่องอื่นๆ ก็ดูแบนๆ ไป ความนิ่ง ความซับซ้อนของเรื่องดูหายไป แต่ได้บรรยากาศเหมือนดูหนังตลกโรแมนติกยุคปัจจุบันบางๆ เพราะตัวละครในเรื่องถูกดีไซน์ให้ร่วมสมัยอยู่มาก

ในอีกด้านถ้ามองจากมุมคนดูทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สัมผัส หรืออินลงลึกกับงานเจน ออสเตน ก็มองว่าเรื่องนี้ดูได้สนุกกลางๆ ไม่ได้ค่อนเลวร้ายอย่างใด ซึ่งว่ากันตามตรงคือ ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการให้ “แอนน์” ใน Persuasion เวอร์ชั่นนี้เข้าถึงกลุ่มคนดูวัยรุ่น คนดูรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ด้วยภาษาพูดที่ฟังง่าย ลดอรรถรสทางภาษาสวยลงไป เลือกจะเล่าให้แมสขึ้นมา โดยเฉพาะการให้ตัวละคร “แอนน์” คอยมองกล้องบอกเล่ามุมมองความคิดที่เธอมีต่อคนอื่น รวมทั้งเผยความรู้สึกลึกๆ ข้างใน แบบตรงไปตรงมา มองหน้าพูดกับคนดูเลย ซึ่งเทคนิคการเล่าเรื่องสไตล์นี้แม้จะไม่ได้ใหม่ แต่ผู้กำกับดีไซน์บทสนทนา และวางจังหวะการแสดงให้เหมือน เราดูอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์กำลังเล่านั่นนี่ให้ฟังบนโซเชียลมีเดีย

ข้อดีก็คือ หากทำใจเปิดกว้างก็จะพบว่า คาแร็กเตอร์ “แอนน์” ในเวอร์ชั่น 2022 ก็ถือว่ามีเสน่ห์ ซึ่ง “ดาโกต้า จอห์นสัน” ผู้รับบทแอนน์ เอลเลียต ก็ถ่ายทอดคาแร็กเตอร์ตีความใหม่เวอร์ชั่นนี้ได้มีเสน่ห์เอาการ แต่ถ้ารู้สึกว่า แอนน์ เอลเลียต ในนวนิยายนั้นสง่างาม นิ่งขรึม คมและเก็บงำภายในมากกว่า ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง

โดยรวมคะแนนวิจารณ์ในต่างประเทศนักวิจารณ์ที่เป็นคอหนังและนิยายเจน ออสเตน ให้คะแนนทางลบ ส่วนนักวิจารณ์ทั่วไปก็บอกว่าดูได้เพลินๆ ไม่แย่ไม่ดี

ภาพรวมด้วยชื่อชั้นของหนัง และที่มาเป็นนวนิยายอมตะคลาสสิกระดับโลก ย่อมถูกคาดหวังเสมอ ดังนั้น ถ้าใครไม่ได้ตั้งความหวังใดๆ ไว้กับหนังเรื่องนี้ก็ย่อมจะไม่ผิดหวัง เพราะตัวหนังก็ดูได้เพลินๆ แบบไม่ต้องคิดมาก

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image