‘ฮิญาบ’ การแสดงที่ตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์และความเท่าเทียม

 

เรื่อง: แก้วตา เกษบึงกาฬ
ภาพ: ธีระพงษ์ สีทาโส

หลังจากที่สวมบทบาทหลากหลายในละครเวทีนับไม่ถ้วนมาอย่างยาวนานเกือบ 25 ปี ‘ฟารีดา จิราพันธุ์’ ได้สร้างสรรค์ผลงานเดี่ยวเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วในเทศกาลละครกรุงเทพที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยการแสดงนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมไม่น้อยจากการถ่ายทอดบทบาทใหม่ในชีวิตเมื่อเธอตัดสินใจคลุม ‘ฮิญาบ’ ซึ่งทำให้เธอตั้งคำถามมากมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมถึงการเป็นนักแสดง

Advertisement

การแสดงโซโล่เรื่องแรกของฟารีดาที่มีชื่อเรียบง่ายตรงตัวว่า ‘ฮิญาบ’ ได้กลับมาอีกครั้งในปีนี้ และจัดแสดงในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 23-24 และ 30-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงละครกาลิเลโอเอซิส (GalileOasis) พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ในซอยโรงเรียนกิ่งเพชร ราชเทวี โดยในรอบที่ไปดูนั้นมีฝนตกโปรยปราย โรงละครจึงเปิดให้ผู้ชมได้เข้าไปนั่งรอก่อนเวลาแสดงจริงตอนบ่าย 3 ซึ่งมีฟารีดาคอยต้อนรับผู้ชมอย่างเป็นกันเองและเชิญให้เลือกที่นั่งที่จัดไว้ล้อมรอบพื้นที่การแสดงทั้ง 3 ด้าน

แม้ฟารีดาจะสวมชุดแตกต่างออกไปจากการแสดงที่เคยดูก่อนหน้าด้วยเสื้อแขนยาวสีดำ กางเกงผ้าขายาวสีดำ และผ้าคลุมผมสีดำ แต่เธอก็ยังคงแพรวพราวด้วยอารมณ์ขันไม่ต่างจากเมื่อก่อน พร้อมเชิญชวนให้เราเข้าไปรับฟังเรื่องราวในชีวิตของเธอที่เชื่อมโยงกับความรักในศิลปะการแสดง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ด้วยการหยิบผืนผ้าที่แขวนไว้บนราวมาทีละผืนและให้ผู้ชมช่วยบอกว่าเมื่อนำผ้าไปใช้กับส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะเรียกผ้าผืนนั้นว่าอะไร ซึ่งคำตอบก็มีทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคาดเอว และสำหรับผ้าที่ใช้คลุมผมนั้นก็มีชื่อเรียกว่า ‘ฮิญาบ’

Advertisement

หลังจากนั้น ผ้ามากมายหลากสีสันบนราวแขวนก็ถูกฟารีดาหยิบมาทีละผืนเพื่อสวมคลุมทับไปบนศีรษะเพื่อเล่าถึงเส้นทางการแสดงของเธอ พร้อมนำบางช่วงบางตอนของละครเรื่องนั้นๆ กลับมานำเสนออีกครั้ง เริ่มจากบทแมวที่ไร้บทพูดเมื่อสมัยเป็นนักเรียน ก่อนจะไปดูละครเรื่อง ‘ปรัชญาชีวิต’ ที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ จนทำให้อยากเข้าร่วมคณะละคร ซึ่งหลังจากนั้นเธอก็ได้เป็นสมาชิกของพระจันทร์เสี้ยวการละคร และได้ร่วมแสดงในการแสดงหลายเรื่องกับหลายคณะละคร เช่น ‘คือผู้อภิวัฒน์’ ละครชีวประวัติปรีดี พนมยงค์ โดยคำรณ คุณะดิลก ‘คอย ก.ด.’ โดยดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ที่เธอรับบททาสผู้โดนเชือกล่ามคอและมีบทพูดคนเดียว (โมโนล็อก) ที่สะท้อนถึงสังคมไทยในปี 2551 และ ‘Hipster the King’ โดยธนพล วิรุฬหกุล กับบทบาทผู้นำที่ต้องอดทนยืนแบกของหนักมากมายเพื่อผู้ชมทุกคน

พอฟารีดาสวมบทบาทเสร็จก็จะถอดผ้าแต่ละผืนไปผูกเรียงกันไว้โดยเริ่มจากลูกกรงบันไดจนผ้าที่ผูกไว้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ไปเกือบถึงอีกฝั่งของพื้นที่การแสดง คล้ายว่าผ้าทั้งหมดคือบทบันทึกตัวละครที่ฟารีดาเคยสวมบทบาทในอดีต ซึ่งเธอกำลังทำให้เห็นว่าแม้ตอนนี้จะมีผ้าสีดำคลุมศีรษะอยู่ แต่เธอก็สามารถแสดงบทบาทเหล่านั้นได้ไม่ต่างจากเดิม แล้วทำไมสตรีที่สวมฮิญาบผู้มีใจรักในศิลปะการแสดงถึงถูกจำกัดพื้นที่ทางการแสดงจนแทบไม่มีผลงานใดๆ ออกมา หรือทำไมสตรีที่สวมฮิญาบถึงได้รับแต่บทบาทที่ผูกโยงกับศาสนาเท่านั้นในสื่อบันเทิงของไทย ทั้งที่ในชีวิตจริงพวกเธอสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านศาสนาเท่านั้น

การแสดงเรื่อง ‘ฮิญาบ’ ทำให้เห็นความพยายามเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิตของฟารีดาหลังคลุมผม โดยเธอทำให้เห็นว่ามนุษย์มีความหลากหลายและเท่าเทียมกัน แม้จะต่างศาสนา ต่างเพศสภาพ โดยช่วงจังหวะหนึ่งของการแสดงได้มีเสียงอะซานเพื่อเรียกละหมาดจากมัสยิดใกล้เคียงดังขึ้น ฟารีดาขอให้ผู้ชมอยู่ร่วมกันในความเงียบสงบสักครู่ ท่ามกลางความมืดมิดของโรงละครมีเพียงแสงสว่างเล็ดลอดออกมาจากหน้าต่างบนชั้นสอง ฟารีดามองขึ้นไปตามแสงนั้น คล้ายกับจะสื่อสารกับผู้ชมว่าความศรัทธาของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อความรักทางด้านศิลปะและการแสดงของเธอแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นแรงสนับสนุนและคอยส่งเสริมเธอให้สร้างสรรค์งานต่อไป สอดคล้องกับแท็กไลน์ของการแสดงที่ว่า “หากพระองค์ทรงประสงค์ (Inshallah)”

ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาทีของการแสดง ฟารีดาทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด เริ่มจากการต้อนรับคนดู การแสดง การจัดแจงเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่างๆ การเปิดปิดไฟ การเปิดเพลง การร้องเพลง และการเล่นดนตรี โดยให้เหตุผลกับผู้ชมว่าเธอไม่ไว้ใจใคร ซึ่งอาจเปรียบเปรยได้ถึงสภาวะที่เธอกำลังประสบในโลกของการแสดงที่มีผู้หยิบยื่นโอกาสหรือยื่นมือมาหาเธอน้อยลง จนเธอตัดสินใจยืนหยัดด้วยตัวเอง ทำการแสดงด้วยตัวเอง โซโล่เองในทุกกระบวนการ และออกมาเป็นการแสดงที่เรียบง่ายแต่มีประเด็นหนักแน่นเรื่องนี้ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า ‘ฮิญาบ’ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามและมีเสียงเรียกร้องให้ฟารีดาเปิดการแสดง ‘ฮิญาบ’ ต่อไป แต่จะดีไม่น้อยหากวันหนึ่งฟารีดาไม่จำเป็นต้องเปิดการแสดงโซโล่หรือเล่นเรื่องนี้อีกต่อไป และได้ไปแสดงในละคร ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ในบทบาทที่น่าสนใจร่วมกับนักแสดงคนอื่น มีทีมงานคอยซัพพอร์ต เพราะนั่นอาจสะท้อนได้ว่าผู้คนในสังคมได้เปิดใจยอมรับผู้คนที่มีความหลากหลายและมองทุกคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมมากขึ้นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image