American Factory เมื่อจีนเข้าไปตั้งโรงงานในอเมริกา

American Factory เมื่อจีนเข้าไปตั้งโรงงานในอเมริกา

 


American Factory

เมื่อจีนเข้าไปตั้งโรงงานในอเมริกา

ในห้วงยามของประเด็นอันซับซ้อนอ่อนไหวที่ถูกจับตาเป็นระยะระหว่างคู่ขัดแย้งจากสองมหาอำนาจคนละซีกโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่มีประเด็นสงครามการค้ามาก่อนจนล่าสุดกับกรณีของไต้หวัน ที่ทำให้ประเด็น จีน สหรัฐ ถูกโยนเข้ามาในวงสนทนาทั่วโลกถี่ยิบอีกครั้ง ทำให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัล Best Documentary Feature จากเวทีออสการ์เมื่อปี 2020 เรื่อง “American Factory” ที่น่านำมาเล่าสู่และแนะนำให้ดูกันอีกครั้ง

Advertisement

ตัวสารคดีออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มกับจังหวะที่กำลังจะจวนเจียนเข้าสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบระหว่างจีนกับสหรัฐ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี

“American Factory” เป็นสารคดีที่ติดตามชีวิตผู้ใช้แรงงานสหรัฐอเมริกากับจีนในโรงงานฝูเหยา กลาส อเมริกา ซึ่งบริษัทจากจีนเข้ามาลงทุนทำโรงงานผลิตกระจกรถยนต์ แทนโรงงานเก่าที่เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ของ General Motors หรือ GM ที่ปิดตัวลง เรื่องเริ่มด้วยการนำเสนอให้เห็นพิษเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2008 ที่ทำให้ผู้คนในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ต้องตกงานกว่าหนึ่งหมื่นคนจากการปิดตัวลงของโรงงานผลิตรถยนต์ จนบริษัทจากจีนเข้ามาปัดฝุ่นปรับปรุงโรงงานและจ้างงานคนอเมริกันในพื้นที่อีกครั้ง

Advertisement

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายเมื่อทุนจีนเข้ามาลงทุนในอเมริกาและจ้างงานคนอเมริกา พร้อมกับนำแรงงานจากจีนส่วนหน่ึงเข้ามาทำงานด้วยกัน เราจึงได้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงานของสองเชื้อชาติ ความแตกต่างของการมองคุณค่าและค่านิยม การปรับตัวแสนยากของแรงงานอเมริกันที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากชีวิตการทำงานในโรงงานอเมริกันแท้ๆแบบเดิม เป็นค่านิยมแบบจีนที่คนอเมริกันไม่คุ้นเคย

แปลง่ายๆ คือ สารคดีพาไปดูชีวิตคนงานอเมริกันที่ทำงานในโรงงานทุนจีนที่ลงทุนในอเมริกาเพื่อผลิตสินค้าแบรนด์จีน รวมทั้งดูแลโดยระบบค่านิยมแบบจีน

เล่ามาแบบนี้ต้องบอกว่านี่เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องได้สนุกน่าติดตาม และมองเห็นความเชื่อที่แตกต่างจากสองประเทศนี้ เพราะในอีกด้านหนึ่ง สารคดีก็ถ่ายทอดชีวิตฝั่งแรงงานชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานที่โรงงานทุนจีนในอเมริกันแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ทุนจีนเข้ามาเปิดผ้าคลุมโรงงานรถยนต์เก่าที่ปรับมาเป็นโรงานผลิตกระจกรถยนต์แทน เมื่อปี 2016 มีการจ้างงานอดีตพนักงานโรงงานรถยนต์ GM มาก่อน และจ้างแรงงานอเมริกันคนหนุ่มสาวในพื้นที่มาทำงานร่วมกับแรงงานชาวจีนที่ต้องโยกย้ายมา

ตลอดสารคดีเราจะได้เห็นการฉายภาพของความผิดที่ผิดทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการทำงาน ที่ทำให้คนอเมริกันรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตแรงงานแบบที่เคยได้รับเปลี่ยนแปลงไป นำมาสู่ความพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น โดยจะต้องผ่านการลงมติโหวดของเหล่าพนักงานว่าจะตั้งสหภาพขึ้นมาได้สำเร็จหรือไม่

สารคดีใช้การตามติดให้ดูชีวิตแรงงานอเมริกัน กับแรงงานจีนในโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งให้น้ำหนักในส่วนนี้ได้ดีมาก ไม่ว่าจะชาวอเมริกัน ชาวจีนในโรงงานแห่งเดียวกันนี้จะทำงานในชุดคุณค่าที่แตกต่างกัน แต่ตัวสารคดีไม่ได้ตัดสิน ชี้นำ ให้เข้าข้างใคร แต่เลือกที่จะปล่อยให้ชุดคุณค่าการทำงานแบบสหรัฐอเมริกา กับแบบสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เล่าเรื่องของตัวเองสลับกันให้เหตุผลไปมา

ทั้งหมดใช้เวลาถ่ายทำอยู่หลายปีตั้งแต่การตามเก็บข้อมูล ติดตามดูชีวิตคนงาน รวมทั้งยังให้เราเห็นประธานบริษัทฝูเหยาด้วย เพื่อให้คนดูได้สัมผัสทัศนคติค่านิยมที่แตกต่างในวัฒนธรรมการทำงานของคนจากสองทวีปแทบตลอดเรื่อง อาทิ แรงงานอเมริกันจะเข้ากะทำงาน 8 ชั่วโมง มีวันหยุดต่อสัปดาห์ 2 วัน ส่วนแรงงานจีนเข้ากะ 12 ชั่วโมง และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์

พร้อมกับที่แรงงานจีนมองว่าแรงงานอเมริกันยังไม่มีประสิทธิภาพและวินัยในการทำงานที่ดีพอ ส่วนแรงงานอเมริกันมองว่าระบบบริหารโรงงานแบบจีนไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีพอและทำให้แรงงานทำงานในสภาพที่อาจเสี่ยงอันตรายเกินไป

เมื่อทุนนิยมในค่านิยมแบบจีนมาอยู่ในโรงงานที่อเมริกา เราจึงเห็นการกระทบกระทั่งกันทั้งทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นเรื่อยๆ มีตั้งแต่แนวคิดฮวงจุ้ยที่อเมริกันตั้งคำถาม ส่วนนายจ้างฝั่งจีนก็ตั้งคำถามกับการขอตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ประธานบริษัทฝูเหยาตั้งคำถามกับตัวเองว่า การที่เขามาลงทุนในสหรัฐ จ้างแรงงานอเมริกัน แต่กฎเกณฑ์แบบจีนที่เขาคิดว่าเป็นบทบาทของผู้ให้ ผู้สร้างงานในพื้นที่ แท้จริงยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ซึ่งเขาพูดไว้ในสารคดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าเรา (ทุนจีนที่มาตั้งโรงงานในอเมริกา) หาเงินได้เท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญคือมุมมองของชาวอเมริกันที่มีต่อประเทศจีนและชาวจีนต่างหาก

หนังสารคดีเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย บารัค และมิเชล โอบามา หลังจากพ้นวาระตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว ส่วนผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ เป็นสามีและภรรยาชาวเมืองเดย์ตันเช่นกัน พวกเขาพูดคุยกับคนในท้องถิ่น และสัมภาษณ์ทุกฝ่าย โดยปล่อยให้ทุกคนได้เล่าเรื่องของตัวเองออกมา และเราจะได้เห็นเรื่องราวของชนชั้นแรงงานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับวิธีที่เขาอยากจะให้มุมมองที่ยุติธรรมกับทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา และใช้เหตุผลในการเล่ามากกว่า

“American Factory” จึงเป็นสารคดีที่ไม่ได้ตัดสินเข้าข้างฝ่ายไหน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับมุมมองคนดู ที่จะมองแรงงานจีน อเมริกันในชุดยูนิฟอร์มพนักงานโรงงานเดียวกัน และพวกเขามีเป้าหมายเดียวกันอยู่หนึ่งเรื่อง คือ การทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงดูตัวเองและดูแลครอบครัว ไม่ว่าโรงงานแห่งนี้เนื้อแท้จะเป็นโรงงานจีนสัญชาติอเมริกัน หรือโรงงานอเมริกันสัญชาติจีน และสารคดีก็ยังทิ้งท้ายถึงความท้าทายใหม่ที่รอพวกเขาอยู่ว่าอนาคตพวกเขาจะยังคงมีที่ทางตำแหน่งงานเหลืออยู่หรือไม่ เมื่อยุคหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนั้นไม่ว่าแรงงานชาติไหนก็จะกระทบกันหมด

ท้ายสุดแม้ “American Factory” เป็นเรื่องราวจริง แต่ด้านหนึ่งเราก็เหมือนกำลังดูการทดลองทางสังคม ในการนำสองวัฒนธรรมคนละฝั่งมาผสมผสานกันเพื่อดูว่ามันจะมีประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไรหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากมองเป็นงานทดลองก็ดูเหมือนจะพิสูจน์ว่าอัตลักษณ์ของอเมริกาและจีนยังคงชัดเจนของใครของมัน

ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image