วีรพร นิติประภา …. เรื่องเล่าแห่ง’ประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก’

ระหว่างที่คนบางกลุ่มประกาศว่าจะถอนหมุดคณะราษฎร โดยให้ความเห็นว่าเป็นความอัปยศของระบอบประชาธิปไตย ที่ประเทศเยอรมนี ริมฟุตปาธในเมืองเบอร์ลินมีหมุดเล็กๆ ที่ฝังไว้จนเป็นลายทางทั้งเมือง หมุดที่ปักไว้ว่านี่คือบ้านของครอบครัวชาวยิว ตระกูลนี้เคยทำรองเท้า ตระกูลนั้นทำกรรไกร วันนี้คือวันที่ถูกพาไปค่ายเอาท์วิช ….

“ไม่ยอมให้ลืม” วีรพร นิติประภา เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เธอพบระหว่างการเดินทางในเยอรมัน พร้อมชี้ชวนให้เราดูรูปที่เธอถ่ายเก็บไว้

หมุดเล็กๆ ที่ถูกฝังริมฟุตปาธในเมืองเบอร์ลิน เยอรมนี
หมุดเล็กๆ ที่ถูกฝังริมฟุตปาธในเมืองเบอร์ลิน เยอรมนี

“ความแข็งแกร่งของคนเยอรมันทำให้เราทึ่ง เด็กรุ่นใหม่แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดกับความผิดพลาดที่เขาไม่ได้ก่อและความทรงจำที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่เขาจะโตมาด้วยความระลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่เอาท์วิชเมื่อเห็นหมุดพวกนี้ พวกเขาจะเติบโตมาด้วยความเข้าใจว่าความผิดพลาดนี้เป็นของมนุษย์ ไม่ใช่ชาติเท่านั้น และคือสิ่งต้องเรียนรู้ร่วมกัน”

ความทรงจำของอดีต การเลือกที่จะเล่า เลือกที่จะเลือน เลือกที่จะลืม จึงเป็นเรื่องที่เธอสนใจมาอย่างยาวนาน และปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งในผลงานเล่มล่าสุดของนักเขียนที่มีแฟนคลับเพียบอย่าง “พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ”

Advertisement

เพียงเวลาไม่นานที่นิยายเล่มนี้ออกสู่สาธารณชน ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก ทั้งในแง่ของนักอ่านและนักวิจารณ์ ด้วยการตีความที่หลากหลายอย่างน่าสนใจ ผ่านเรื่องเล่าแห่งชีวิตของครอบครัวลูกจีนอพยพครอบครัวหนึ่งที่มีต้นสายตระกูลอย่าง “ตาทวดตง” ไล่ลงมาจนถึง “หนูดาว” พวกเขาพยายามตามหา “บ้าน” บ้านที่หมายถึงทั้งสิ่งปลูกสร้างและบ้านของจิตใจให้ได้พักพิง แต่ยิ่งตามหาก็ยิ่งแปลกแยกและไม่รู้เลยว่าจะยืนหยัดเต็มสองเท้าได้บนพื้นที่ใด จะหวนกลับไปยังจุดเริ่มต้นก็ไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการเดินไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่แหว่งวิ่น ระหกระเหินล่องลอยไปตามชะตาแห่งชีวิตที่ไม่ได้ขีดด้วยตัวเองเพียงลำพัง และแม้จะพยายามเติมเต็มสักเท่าไรก็ไม่สามารถถมทับร่องรอยของความเป็นอื่นและสถานะของคนนอกได้เลย

เรื่องเล่าแห่งชีวิตของครอบครัวนี้ ถูกเล่าคู่ขนานไปกับเรื่องราวความทรงจำที่ถูกเลือกให้เลือนหรือประวัติศาสตร์ซ่อนเร้น เป็นความทรงจำที่คลุมเครือมัวซัว จนแทบไม่รู้ได้เลยว่าอะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งสมมุติแห่งจินตนาการ

“เราสนใจความรู้สึกมากกว่าสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ สำหรับเราความทรงจำคือประวัติศาสตร์ของความรู้สึก และเลือกที่จะทำเรื่องความรู้สึกนึกคิดความฝันมากกว่าที่จะพูดถึงเรื่องความจริงแท้ แล้วอย่างที่เรารู้ประวัติศาสตร์ประเทศนี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง เป็นบันทึกอย่างที่อยากให้เป็น ถูกเล่าบ้างไม่ถูกเล่าบ้าง แล้วในที่สุดเราก็จะมีเรื่องเล่าประหลาด ที่อยู่ๆ สิ่งนั้นก็หายไป สิ่งหนึ่งก็เกิดขึ้น มีความเซอเรียลในตัวเองสูงมากในความไม่ครบแล้วมีเรื่องแต่งด้วยเหมือนกัน เลยมองว่าประวัติศาสตร์ทางความรู้สึกกลับเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ด้วยซ้ำในมุมหนึ่ง” วีรพรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

Advertisement

15034217_1138246412879740_88709917_o

“พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ” เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 เขียนขึ้นด้วยความรู้สึกว่าความรุนแรงในบ้านเมืองนี้ที่เกิดขึ้นในทุกครั้งนั้น ไม่ใช่เพราะเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยถูกเล่าอย่างครบถ้วน และไม่เคยถูกเชื่อมโยงให้เห็นถึงที่มาที่ไปที่ต่อเนื่องกันในทุกเหตุการณ์ และนั่นกลายเป็นกลวิธีสำคัญที่เธอนำมาใช้ในการเล่าเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้

“มันเป็นความเจ็บปวดของเราที่เห็นเหตุการณ์ฆ่าหมู่ตลอดเวลา ประวัติศาสตร์ของเรามันถูกเล่าเหมือนรามเกียรติ์ จะจับตอนไหนมาอ่านก็ได้ เรามีประวัติศาสตร์ไทม์ไลน์ของเราแล้วก็สร้างครอบครัวหนึ่งขึ้นมาที่มีชีวิตขนานไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเหตุการณ์จริงกับเรื่องเล่าในนิยายมันเล่าเรื่องระหว่างกัน ลูกคนนี้พ่อแม่ไม่รัก ลูกคนนั้นไม่ใช่ลูกแท้ มีความขัดแย้งในครอบครัวตลอดเวลา ทั้งรักทั้งเกลียด คนในครอบครัวเดียวกันกระทำต่อกัน จะมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร จะมองจากมุมไหน แต่ไม่มีตัวละครไหนเป็นตัวแทนคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ได้ เพราะเราเล่าไม่หมด ใช้วิธีการเดียวกันเลยคือเลือกที่จะเล่า และเล่าได้เท่าที่เรื่องจะอนุญาต เท่าที่ครอบครัวครอบครัวหนึ่งและประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งจะอนุญาตให้เล่า ด้วยเหตุผลที่แต่ละตัวละครถูกหล่อหลอมขึ้นมา แต่ก็เล่าให้เป็นมนุษย์มากที่สุด ทุกคนถูกบีบด้วยความกลัวและความไม่รู้เช่นกัน

เรื่องเล่าในครอบครัวนี้จึงเล่าผ่านตัวละครหลักสองคนคือยายศรีหรือเจริดศรี กับหนูดาว คือให้เห็นเลยว่าตัวละครอยากเล่าตรงไหนก็ได้ แต่ก็มีผู้เล่าเรื่อง (Narrator) เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์มันมีมากกว่านั้น ครอบครัวนี้พูดความจริงไม่หมด โดย Narrator จะเปลี่ยนน้ำเสียงไปตามคาแร็กเตอร์ของแต่ละตัวละครเลย มันเป็นหน้าที่ของเรื่องเล่า ซึ่งพอถึงที่สุดแล้วยายศรีคนดีของหนูดาวก็โกหกเหมือนกัน แต่นั่นคือมองจากมุมของยายศรีไง คนทุกคนย่อมปกป้องโลกของตัวเอง”

ในครอบครัวทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยความขัดแย้ง ทั้งขัดแย้งทางความคิดความเชื่อ และขัดแย้งจากสภาวะของคนนอกทั้งที่ถูกผลักให้เป็นโดยยังต่อต้านและที่จำต้องเป็นอย่างยอมจำนน การไม่ยอมรับความจริงว่ากำลังกลัดกระดุมผิดเม็ด และเลือกที่จะกลัดต่อไปเรื่อยๆ นั้น วีรพรบอกว่านั่นอาจนำไปสู่การล่มสลาย

“มันไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ สิ่งหนึ่งที่จะล่มสลายแน่ๆ คือความเป็นมนุษย์ เราจะตัดสินทุกอย่างอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลแค่ข้อสองข้อซึ่งมันไม่พอ ตัดสินใจแล้วก็พลาดตลอด พลาดตามๆ กัน เราเลือกที่จะอธิบายบางสิ่งบางอย่างผ่านครอบครัว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เราไม่สามารถมานั่งบอกได้หรอกว่าคุณต้องมีความยุติธรรม คุณต้องเห็นมนุษย์เท่ากัน ทำไม่ได้หรอก ทำเรื่องนี้ดีกว่า พี่น้องไม่รักกัน พ่อแม่มีอคติ แล้วคุณจะจำเรื่องนี้ไว้ว่าถ้ามีลูกต้องไม่อคติ มันไม่สำคัญว่ารักลูกเท่ากันไหม แต่มันสำคัญที่ว่าคุณได้ให้เขาเท่ากันไหม หรือให้ความยุติธรรมกับเค้าได้ไหม”

ความฟั่นเฟือนของตัวละครทั้งหลายคือหนึ่งในคำตอบ

“เมื่อไหร่ที่ประวัติศาสตร์ความทรงจำถูกลบ 1+1 = 0 ถูกบิดเบือน 1+1 กลายเป็น = 4 แต่คุณไม่สามารถลบประวัติศาสตร์ได้ทั้งชุด เพราะบุคคล สถานที่ และผลพวงยังอยู่ คุณจึงพบค่า 1+1 = 2 และ 0 และ 4 ปนกัน ขณะที่ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่พูดความจริงล้วนให้ผล 1+1=2 เพื่อให้สมองทำงานสอดคล้อง คุณจะเริ่มบิดเบือนค่าตั้งตาม ตรรกะคุณจะเริ่มเสีย และที่กระทบความเป็นมนุษย์ก็คือ มนุษย์จะมีค่าไม่เท่ากัน เหตุการณ์จะไม่มีค่าเท่ากัน ในขณะเดียวกัน ตรรกะพิการยังง่ายต่อการสร้างความงมงายด้วย”

ในช่วงหลายปีมานี้ เทรนด์หนึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทยที่น่าสนใจมาก คือการหยิบยกตำนาน ประวัติศาสตร์มาเล่าขานผ่านกลวิธีต่างๆ ถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน วีรพรบอกว่าเธอคงไม่สามารถตอบแทนคนอื่นได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่สำหรับนักเขียนคนนี้นั้น เธอเลือกเพราะเธอเชื่อว่าเราทุกคนรู้ทุกอย่างเท่ากัน อะไรผิด อะไรถูก แต่เราไม่รู้สึก ซึ่งงานวรรณกรรมน่าจะช่วยสร้างความความรู้สึกตรงนี้ได้ และถ้าใครถามเธอว่านิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรแล้วนั้น เธอจะบอกคำเดียวเลยว่า นี่คือเรื่องของ “ความหวัง”

“เราเชื่อเรื่องมิตรภาพมากกว่าความเกลียดชัง และเราเชื่อในเรื่องของความหวังซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ที่เยียวยาเราและทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ ล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ได้ แต่ความหวังก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง มันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์หรอก ทุกอย่างถูกลบแล้วเขียนขึ้นใหม่ตลอดเวลา

“แต่ความจริงจะทำให้เราได้มีโอกาสคิดและเรียนรู้ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกเรื่องเล่าของชีวิต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image