เดือนตุลาฯ : จาก 2516-2519 สู่ 2565

เดือนตุลาฯ : จาก 2516-2519 สู่ 2565

เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ไม่ว่าจะเป็น 2516 หรือ 2519 เป็นเรื่องเก่าๆ ที่ลืมไม่ลงสำหรับคนทั้งประเทศ

บางคนบอกว่า เรื่องแล้วไปแล้ว จะไปรื้อฟื้นกันอีกทำไม ก็พูดได้ แต่ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุการณ์ตุลาคม 2516-2519 มีที่ไปที่มาเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศ

เกิดความผิดพลาดในการแก้ปัญหา ทำให้มีผู้คนล้มตายบาดเจ็บ โดยไม่มีใครรับผิดชอบ

นอกจากลืมไม่ได้แล้ว เรื่องราวเหล่านี้ ได้ถ่ายโอนมาเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว

Advertisement

คนที่อายุ 20 บวกลบ ในปี 2516-2519 มาถึงวันนี้ เวลาผ่านไปร่วมๆ 50 ปี อาจจำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนที่รับรู้ห่างๆ ในเวลานั้น มาถึงวันนี้อาจจะงงๆ ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 นี่มันเกิดเมื่อ 16 ตุลาฯ ใช่ไหม

แต่ถึงวันนี้ ทุกอย่างบันทึกไว้หมด รอคนเข้าไปอ่าน ขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ กลับไปค้นคว้า และมานำเสนอใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

14 ตุลาฯ 2516 เป็นระเบิดเวลาที่วางไว้ตั้งแต่รัฐประหารหลัง พ.ศ.2500 หลังจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหาร กลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลุ่มราชครู ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

Advertisement

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของฉายาจอมพลผ้าขาวม้าแดงขึ้นครองอำนาจ โดยในระยะแรกไม่ขึ้นเป็นนายกฯเอง กระทั่งหลังรัฐประหาร พ.ศ.2501

ประเทศไทยผลจากการอยู่ภายใต้ระบบรัฐประหารของคณะทหารอย่างยาวนาน จาก พ.ศ.2501 ไปจนถึง พ.ศ.2516

ระหว่างนั้นจอมพลเสียชีวิตไปใน พ.ศ.2506 จอมพล ถนอม กิตติขจร มือรองเข้ามาทำหน้าที่นายกฯ

บรรยากาศบ้านเมืองในเวลานั้น ไม่มีสภาจากเลือกตั้ง มีแต่สภาแต่งตั้ง รูปทรงคล้ายๆ กับหลังรัฐประหารล่าสุดของไทยเมื่อ พ.ศ.2557-2562 นั่นเอง

ข้อหาที่รัฐเผด็จการใช้จัดการกับคนที่คิดต่างๆ คือข้อหา “คอมมิวนิสต์” ซึ่งระวางโทษไว้หนักหน่วงมาก

รัฐไทยเวลานั้น ส่งทหารไปรบที่เวียดนามและลาว ใน พ.ศ.2510-2515 ในนามกองพล “จงอางศึก” และกองพล “เสือดำ” โดยเป็นฝ่ายเดียวกับกลุ่มที่เรียกว่า “โลกเสรี” ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เคยร้องเพลงเกี่ยวกับหนุ่มอกหักตัดสินใจสมัครไปรบเวียดนาม สะท้อนเหตุการณ์ในเวลานั้น โด่งดังติดหูไปทั่วบ้านทั่วเมือง

นั่นคือเพลง “ลาน้องไปเวียดนาม” แต่งโดย “จิ๋ว พิจิตร” มีเนื้อเพลงบางตอนว่า “ขืนอยู่ไป หัวใจแป้ว หักใจแล้ว ไม่หลงใหล ขอสลัด ตัดอาลัย สมัครไป รบเวียดนาม”

ในยูทูบมีให้ฟัง ทั้งเวอร์ชั่นดั้งเดิม และที่ทำดนตรีใหม่เสียงกระหึ่ม

สงครามเวียดนามส่งผลต่อประเทศไทยในระดับรุนแรง ขณะที่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา พี่ใหญ่ในฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ การเกณฑ์ทหารเอาคนหนุ่มสาวไปตายในเวียดนาม ก่อให้เกิดกระแสต้านรุนแรง

และมีผลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวและปัญญาชนในประเทศไทย

นอกจากส่งทหารไปรบเวียดนาม ในประเทศไทยเอง เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศอเมริกา 7 แห่ง คือ ดอนเมือง, ตาคลี นครสวรรค์, อู่ตะเภา-สัตหีบ ชลบุรี, อุดรธานี, อุบลฯ, นครราชสีมา และนครพนม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2504 กระทั่ง พ.ศ.2518

และยังมีค่ายเล็กค่ายน้อยตามจุดสำคัญ ตามแนวชายแดน

มีสถานีเรดาร์ที่เกาะคา จ.ลำปาง และตามยอดภูเขาสูงอีกหลายแห่ง

ทหารอเมริกันหลายหมื่นคนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ขณะที่สหรัฐสนับสนุนประเทศไทยด้วยงบทางทหาร การใช้จ่ายของทหารอเมริกันในไทย มีผลต่อความคึกคักทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในระยะพีคๆ สหรัฐมีกำลังทหารในไทยถึง 5 หมื่นนาย และมีการส่งทหารมาพักผ่อนคลายเครียดจากการรบอีกเป็นระยะ

ส่งผลให้เกิดธุรกิจกลางคืน คลับผับบาร์เกิดขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าทหารอเมริกันตามฐานทัพต่างๆ

รวมถึงแฟลต อพาร์ตเมนต์ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาประจำในประเทศไทย

จาก พ.ศ.2504 แรงต้านในประเทศตนเอง และจากนานาชาติ ทำให้อเมริกาเสมือนติดหล่ม และเริ่มโอนสงครามให้เวียดนามใต้รับผิดชอบเอง จนไซง่อนแตก เมื่อ พ.ศ.2518

มีผลถึงประเทศไทยด้วย รัฐบาลอเมริกันสั่งถอนทหาร 2.8 หมื่นคน และเครื่องบิน 300 ลำ ออกจากฐานทัพต่างๆ ใน ประเทศไทย ใน พ.ศ.2518 เช่นกัน

ผลกระทบระหว่างไทยร่วมกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม คือความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ความหวั่นวิตกต่างๆ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจผูกขาด การเมืองที่ผูกขาดอำนาจโดยคณะทหารและเครือข่าย

ในเวลานั้น ยังมีบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สู้รบในป่าเขา และเสนออุดมคติที่จับใจคนหนุ่มสาวที่อยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง

สะสมมาอย่างยาวนานจนระเบิดในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516

ระบบที่เปิดกว้างหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ทำให้เกิดการไหวตัวรุนแรงของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และความเฟื่องฟูของขบวนการนักศึกษาฯ ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ในเหตุการณ์ดังกล่าว

เกิดความสูญเสียไม่น้อย แต่ก็แลกมาด้วยประชาธิปไตย เสียงเพลงสดุดีวีรชนและชัยชนะของประชาชน จากวงดนตรีแนวใหม่ที่เรียกว่า วงเพื่อชีวิต ดังไปทั่ว ปลุกความคิดของประชาชนให้เห็นถึงพลังของตนเอง

เกิดความเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในยุครัฐบาลเผด็จการ รวมถึงขับไล่ฐานทัพอเมริกา ซึ่งเข้าใช้พื้นที่ประเทศไทย ดำเนินการหลายเรื่องอันถือเป็นการละเมิดอธิปไตย

และเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้สหรัฐถอนทหารออกจากประเทศไทยไปใน พ.ศ.2518

แต่ปรากฏการณ์ใหม่ๆ หลัง 14 ตุลาฯ ก็สร้างความหวาดผวาให้กับกลุ่มอำนาจ และเริ่มเคลื่อนไหวทำลาย โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้ รับแผนมาจากคอมมิวนิสต์

สุดท้ายจึงเกิดเหตุการณ์ปราบปรามอย่างรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นการฆ่าฟันที่ช็อกไปทั้งโลก และผลักไสคนหนุ่มสาว และคนทุกแวดวงอาชีพ เข้าป่าครั้งใหญ่

การสู้รบระหว่างกองกำลังในป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ กว่าจะผ่อนคลายและยุติลง หลังนโยบาย 66/2523 ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่

เวลาผ่านไป คำว่าคอมมิวนิสต์จางหายไป เกิดสถานการณ์ใหม่ๆ ที่พลิกเปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย มุมมองต่อมหาอำนาจ สหรัฐ, จีน, รัสเซีย เปลี่ยนไป

แต่รัฐไม่เคยหมดมุขที่จะหยิบยกมาใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการควบคุมการเมือง

ให้เป็นไปในทิศทางที่พวกตนเองได้ประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image