เปิดใจ ‘แฮ็ค ชวนชื่น’ หนึ่งในจิตอาสา ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ ณ สนามหลวง

“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506 นับเป็นข้อคิดสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน

โดยหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต ประชาชนชาวไทยก็ได้ออกมาทำความดีตามรอย ‘พ่อ’ กันอย่างมากมาย รวมถึงกลุ่มบุคคล ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ ที่แม้จะไม่ได้เป็นข่าว ทว่าตั้งแต่ 14 ตุลา จนถึงบัดนี้ ความดีของพวกเขาก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ แฮ็ค – ธวัชชัย คชาอนันต์ แห่งคณะชวนชื่น

“แรกๆ เราไปส่วนตัวบ้าง มีไปแจกของกับเต็นท์ของอาสาฯ เต็นท์ของป่อเต็กตึ๊ง หรือคอยดูแลคนเจ็บร่วมกับเต็นท์พยาบาล แต่ช่วงหลังๆ พอเข้าที่ คือ การจัดระเบียบการแจกอาหาร มีการกันคน หลัง 20.00 น. เราก็คอยช่วยอยู่ในเต็นท์จุดรอคอย ถนนหน้าพระธาตุ ตรงประตูวิเศษไชยศรี” ตลกใจบุญแจกแจงถึงการเป็น ‘จิตอาสา’

Advertisement

ก่อนเล่าถึงหน้าที่ของอาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งตรง ‘จุดรอคอย’ ซึ่งพสกนิกร ผู้มาถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง จะต้องมารอในจุดนี้ก่อน

“จริงๆ คือ งานประชาสัมพันธ์ จัดระเบียบการเข้าแถวทั้งหมดในโซนถนนหน้าพระธาตุ”

“ก็คือช่วยบอกกล่าวข้อควรปฏิบัติ การแต่งกาย การประพฤติตนข้างในวัง ขั้นตอน แล้วก็คอยอำนวยความสะดวกๆ เพราะแรกๆ อาจจะยังไม่จัดเป็นระบบก็มีชาวต่างชาติ เราพอพูดภาษาอังกฤษได้บ้างก็เป็นล่ามให้”

Advertisement

“บางทีคนเหนื่อยมา เราก็มีหน้าที่ใช้หน้าตาที่คนพอจะรู้จักบ้างช่วยให้เขาคลายเครียด มาถ่ายรูป พูดคุย ถามเขามาเมื่อไหร่ ยังไง มากี่ชั่วโมง ก็โหวตดูในเต็นท์ คนนั้น 5 คนนี้ 8 คนนี้ 10 ก็แหย่เขาพอให้ยิ้มบ้างๆ”

ยิ้มกับการชี้ชวนให้มองโลกในแง่ดีด้วยวิธีของเขา เช่น “ผมก็บอกว่าพี่โชคดีกว่าเพื่อนเลยนะ คนอื่นมารอ 5 ชั่วโมง พี่มา 10 เห็นไหม พี่ซึมซับบรรยากาศได้นานกว่าคนอื่น”

หรือ “อย่างเรายังไม่ได้ใช้สิทธิ์เข้าไปกราบ พวกเราให้สิทธิ์คนอื่น ผมจะถามว่าพี่มากี่วันแล้ว 7 ชั่วโมงยังไม่ได้เข้าเหรอ ผมก็จะบอกว่าผมมาอยู่ตรงนี้ 20 กว่าวันแล้ว ผมยังไม่มีบุญเท่าพี่เลย พี่มาวันเดียวได้เข้าเลย ผมมารอ 20 กว่าวันแล้วเนี่ย อยู่ตรงนี้ผมยังไม่ได้มีโอกาสกราบท่านเลย เขาก็จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น”

แฮ็ค ชวนชื่น ขณะปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา
แฮ็ค ชวนชื่น ขณะปฏิบัติหน้าที่จิตอาสา

ดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ระยะเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 10.00 -11.00 น. จนกว่าจะหมดแถว ซึ่งบางวัน 23.00 – 00.00 น. หรือถ้าคนมากอาจได้กลับ 01.00 -02.00 น. ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหน้าที่ที่เหนื่อยไม่น้อยทีเดียว

“โอ้ยยย บอกไม่เหนื่อยก็ซุปเปอร์แมนแล้ว” แฮ็คว่าพลางหัวเราะ

“เหนื่อย แต่มันมีหลายอย่างที่ทำให้หายเหนื่อย เราเห็นคนที่สุขภาพไม่ได้ดีขนาดเรา หรืออายุก็มาก หรือคนที่พิการ ผมว่าเขาลำบากในการมามาก แล้วก็หลายคนแม้แต่พรรคพวกเราตั้งแต่ต้นถึงวันนี้ บางคนได้นอนวันละ 2-3 ชั่วโมงก็อีกหลายคน”

อย่างที่เขาประทับใจมาก คือ กรณีชายหนุ่มที่ใช้เวลาถึง 13 วัน ในการเดินเท้ากว่า 600 กิโลเมตรจากสุราษฎร์ธานีมาถวายสักการะ โดยไม่เป็นข่าว หรือไม่ขอสิทธิพิเศษใดๆ เพราะยึดหลักปิดทองหลังพระตามรอยพ่อ หรือกรณีคุณยายวัย 99 ปี ที่ขอไม่นั่งวีลแชร์

“คุณยายบอกไม่เป็นไร ยายพอเดินได้ แต่ตาฝ้าฟาง หูก็ตึงบ้าง แต่ยายตั้งใจมีกำลังใจที่จะมากราบ เราประทับใจ รู้สึกโอ้โห! คุณยายอายุจะ 100 แล้ว แต่ไม่ยอมให้เราช่วยเลย เพราะแค่มาถึงปากประตูวัง เขาก็มีพลังแล้ว”

“จริงๆ แล้วคนที่ทำดีแล้วไม่เป็นข่าวมีเยอะครับ” แฮ็คเล่า

“มีอาสาหลายกลุ่ม แบบที่เป็นประชาชน น้องๆ ที่มาตั้งหน้าตั้งตาทำส่วนของเขา ผมมองว่าพวกนี้เป็นแนวปิดทองหลังพระทั้งหมด เขาอาจจะไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่เซเลบ พอระยะเวลานานขึ้นมันก็จะเหลือตัวจริงน้อยลง เราก็เข้าใจ”

“แต่คนที่ตั้งใจมากๆ เราก็จะเห็นเรื่อยๆ เขาก็ยังคงอยู่ ยังคงทำ มันก็แฮปปี้ดี”

“อย่าคิดไรมาก” เขาว่าถึงหลักในการทำดีแบบปิดทองหลังพระ

พร้อมอธิบาย “เราทำแล้วเราสบายใจ แล้วเรารู้ตัวดีว่าทำอะไรอยู่ ทำเพื่อใคร ทำให้ใคร แค่นี้ผมว่าก็มีความสุขแล้ว มันจบแล้ว หรือยิ่งคนอื่นทำแล้วเป็นข่าวก็ยิ่งเป็นแรงเหวี่ยงให้คนทำความดีมากขึ้น ซึ่งผมว่าก็ดีซะอีกเราก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น”

ด้วยสำหรับเขาแล้วคำสอนของพ่อในข้อ ‘การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม’ ถือเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต

“เรื่องของการเห็นแก่ส่วนรวม คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ถ้าทุกคนเป็นอย่างที่พระองค์ท่านบอกก็จะขจัดความเห็นแก่ตัวไปได้เยอะ แล้วถ้าเราใส่ใจผู้อื่น ใส่ใจสังคม รู้จักกฎระเบียบของสังคม สิ่งที่ควรทำในสังคม มันก็ครอบคลุมทั้งหมด”

“ถ้าทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แบ่งปันกัน มีน้ำใจกัน สังคมก็น่าอยู่”

นั่นจึงไม่สำคัญว่าเราจะปิดทองพระที่ ‘ด้านหน้า’ หรือ ‘ด้านหลัง’ เพราะในเมื่อผลที่ออกมาก็ทำให้พระทั้งองค์งดงามบริบูรณ์เหมือนๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image