แง้มประตูดูวงการหนังสือไต้หวัน… การอ่านใหญ่ๆบนเกาะเล็กๆ

ร้านหนังสือ Eslite ของไต้หวัน

ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่มาก ประชากรไม่เยอะ แต่ในแวดวงหนังสือที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องของการเติบโตทั้งทางธุรกิจและวัฒนธรรมทางการอ่านมายาวนาน

งานหนังสือที่ไทเปอย่าง Taipei International Book Exhibition เป็นงานหนังสือใหญ่ระดับเอเชีย ที่นอกจากจะเปิดให้นักอ่านทั่วไปได้เข้าไปร่วมงานแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญของการเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือนานาชาติ

เมื่อไม่กี่วันก่อน ไต้หวันมีงาน Taipei Rights Workshop 2016 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมี Mr.Gray Tan จาก Grayhawk Agency เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ ซึ่งเป้าหมายของงานคือเพื่อเปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์ไต้หวันได้ทำความรู้จักกับตลาดในต่างประเทศที่น่าสนใจ ตลอดทั้งช่องทางในการขายลิขสิทธิ์งานของนักเขียนไต้หวันไปยังประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ยังเป็นการแนะนำตลาดหนังสือไต้หวันที่มีศักยภาพและงานเขียนน่าสนใจให้สำนักพิมพ์ต่างชาติรู้จัก ซึ่ง ศิริธาดา กองภา เจ้าของ สนพ.เลเจ้นด์ บุ๊คส์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับตลาดหนังสือไทยในหัวข้อ A Close Look to Thailand เพื่อให้ตลาดจีน ไต้หวัน ตะวันตก เข้าใจคาแร็กเตอร์ของธุรกิจหนังสือไทยมากขึ้น และได้กลับมาเล่าให้ฟังในหลายประเด็นเกี่ยวกับตลาดหนังสือไต้หวันที่น่าสนใจ แม้ว่าจะเกิดสภาวะซบเซาไปบ้างไม่ต่างจากที่อื่นก็ตามที่ โดยมีองค์กร Book from Taiwan ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้ามาร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ

“องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วงการหนังสือไต้หวันแข็งแรงคือการสนับสนุนจากภาครัฐ” ศิริธาดาอธิบาย

Advertisement

“รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมคนก่อนหน้า Lung Yingtai เป็นนักเขียน และเคยอยู่ที่เยอรมัน พอมารับตำแหน่งจึงเล็งเห็นความสำคัญของวงการหนังสือ และมีการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านมากขึ้น  รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมคนปัจจุบันคือ Cheng Li-Chiun ก็สานต่อแนวทางนี้ต่อ ซึ่งในกระทรวงวัฒนธรรมมีหลายแผนกเพื่อส่งเสริมกิจกรรมแต่ละด้าน ในส่วนของการส่งเสริมแวดวงหนังสือ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Department of Humanities and Publication โดยพันธกิจของหน่วยงานนี้ก็คือ ช่วยสนับสนุนให้สำนักพิมพ์ไต้หวัน รวมถึงนักเขียนสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ เช่น การจัดงาน Taipei International Book Exhibition ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบการจัดงาน Book Fair ที่มีความเป็นมืออาชีพมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย, ผลักดันให้วงการสิ่งพิมพ์เข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยนำเสนอเทรนด์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเข้าถึงช่องทางการอ่านอันหลากหลาย ควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือเล่ม, โปรโมตสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมที่ใช้ภาษาจีน, กระตุ้นการอ่านภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น, พยายามขยายฐานรางวัลในประเทศให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานวงการหนังสือในประเทศอาทิ รางวัล the Golden Comic Awards, the Golden Butterfly Awards สาขาการออกแบบหนังสือ และ Golden Tripod Awards สาขาการพิมพ์, รวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเทรนด์ในแวดวงหนังสือทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล จากการสำรวจ วิจัย ควบคู่ไปกับการผสมผสานและอัพเดตฐานข้อมูลดิจิทัล

หรืองาน Taipei Rights Workshop 2016 ไฮไลต์ของปีนี้ก็คือการโปรโมตเรื่อง Translation/Publication Grant Program ซึ่งดำเนินการโดย The National Museum of Taiwan Literature โดยเป็นทุนให้เปล่า สนับสนุนสำนักพิมพ์ต่างชาติที่ซื้อลิขสิทธิ์งานของนักเขียนไต้หวันไปตีพิมพ์ โดยงบประมาณที่สนับสนุนแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ 1.นักแปลยื่นของบเองได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเรื่อง 2.สำนักพิมพ์ยื่นของบในการพิมพ์ได้ไม่เกิน 450,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเรื่อง 3.สำนักพิมพ์เป็นตัวแทนนักแปลยื่นขอทุนทั้งสองส่วนได้ไม่เกิน 600,000 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเรื่อง ซึ่งตอนนี้มีสำนักพิมพ์ไทยได้ยื่นเสนอของบทุนในโปรแกรมนี้แล้ว และได้รับการอนุมัติเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของการขอทุนนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน คือ http://english.moc.gov.tw ได้ด้วย” ศิริธาดาเล่าให้ฟัง

Taipei Rights Workshop 2016
Taipei Rights Workshop 2016

เมื่อถามถึงภาพรวมของวงการหนังสือไต้หวัน ศิริธาดาบอกว่า จริงๆ แล้วไต้หวันค่อนข้างอ่านหนังสือคล้ายคลึงกับไทย และให้ความสนใจหนังสือแปลอย่างมาก เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ทำงานแปลมีอยู่มาก ตลาดไต้หวันจึงมีการแข่งขันกันสูง และมีการว่าจ้าง Literary Scout เพื่อให้ได้ข่าวสารที่อัพเดตก่อนใคร รวมถึงรู้เทรนด์ของตลาดหนังสือในอังกฤษและอเมริกา

Advertisement

“ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาหนังสือจากไต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในบ้านเรา แม้จะไม่ใช่อัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดนัก แต่นักอ่านชาวไทยก็เริ่มรู้จักนักเขียนคนอื่นๆ ที่มากกว่า จิมมี่ เหลี่ยว, วานวาน, เอินจั่ว อย่างไรก็ตาม ภาวะวงการหนังสือไต้หวันในปัจจุบัน คนอ่านหนังสือเป็นเล่มน้อยลง หันไปโหลด ebook มากขึ้น แต่ก็ยังอ่าน ร้านหนังสือมีการแข่งขันสูง และเน้นช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ส่วนร้านออนไลน์ก็มีการวัดกันด้วยบริการและการจัดส่งที่รวดเร็ว ส่วนร้านหนังสือที่เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ไต้หวันมีร้านหนังสือที่เป็น Chain ใหญ่สองร้านคือ Eslite และ Kingston ส่วนร้าน online Bookstore ที่ใหญ่ที่สุดคือ Books.com และมีร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงถึง 10,000 ร้าน ซึ่งลูกค้าสามารถไปรับหนังสือได้ โดยยอดพิมพ์เริ่มต้นของหนังสือไม่ต่างจากบ้านเรามากนักคือเรา 3,000 เล่มต่อปก แต่หนังสือที่ตีพิมพ์ในแต่ละปีมากกว่า 40% เป็นหนังสือแปล และยึดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในร้าน โดย 55% แปลจากญี่ปุ่น และ 30% แปลจากอังกฤษ อเมริกา แคนาดา 15% จากเยอรมัน, ฝรั่งเศส, เกาหลี และอื่นๆ ตอนนี้หนังสือแปลยอดขายลดลง แต่ประเภทที่ยังคงไปได้ในตลาดคือหนังสือแนว Movie tie-in ที่พิมพ์ไปพร้อมกับการฉายของภาพยนตร์, หนังสือสารคดี ที่เนื้อหาวิชาการเติบโตมากขึ้นในช่วงสองสามปีนี้ โดยหนังสือแปลเบสต์เซลเลอร์ล่าสุดในไต้หวันคือ Cpirage to be Discourage by Ichiro Kisimi ซึ่งมียอดขายราว 300,000 เล่ม ขณะที่หนังสือซึ่งดังทั่วโลก อย่าง Twilight Series ก็มียอดขายในไต้หวันถึง 1,200,000 เล่ม, Hunger Game Trilogy ยอดขาย 500,000 เล่ม, The Davinci Code ยอดขาย 1,000,000 เล่ม และ Harry Porter คือ 7,000,000 เล่ม”

และเมื่อตลาดส่วนใหญ่ของวงการหนังสือไต้หวันคืองานแปล หนังสือไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน และมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ

“นอกจากหนังสือเด็กที่ทางไทยขายลิขสิทธิ์ให้ไต้หวันค่อนข้างมากแล้วนั้น ยังมีหนังสืออีกหลายประเภทที่โตอย่างน่าสนใจ อย่าง สำนักพิมพ์ปาฟัง (Bafun) ซื้อนิยายภาพเรื่อง Nine Live ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ จากนั้นก็ขยายแนวไปเป็นพวกจิตวิทยาที่มีภาพประกอบน่ารักๆ คำเขียนอ่านง่ายๆ ให้ข้อคิดดีๆ ด้านบวก เช่น งาน ต้นกล้า นัยนา, ชิงชิง เป็นต้น แต่ช่วงหลังๆ งานไทยที่ขายไปเริ่มตัน เพราะทางไต้หวันเน้นภาพประกอบน่ารักต้องมาก่อน เนื้อหาดีๆ เป็นอันดับสอง และอันดับสามคือทำเป็นหนังสือชุดได้ โจทย์เลยยากขึ้น แต่ก็มีผลงานของ หมาจ๋า และ ปลารี่ ที่เป็นชุดหนังสือที่สอดคล้องกับความต้องการตรงนั้นได้ อีกสำนักพิมพ์ที่ซื้อเยอะคือ Han Xiang (ฮั่นเซียง) เช่น รอยลูกปัด ของ สนพ.มติชน , 45 Bangkok’s Chic Hotel หนังสือสอนทำอาหาร ด้าน สนพ.I’AM จะซื้อพวกหนังสือสอนภาษาของ สนพ.พราว เยอะมาก”

พื้นฐานสำคัญของการอ่านที่เติบโตอย่างมากในเกาะเล็กๆ แห่งนี้มาจากการสนับสนุนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนแถวๆ นี้นั้น ยังเขียนจดหมายเรียกร้องกันทุกรัฐบาลอยู่เลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image