ล้วงใจคนรักหนังสือ ‘นิ้วกลม – มุนินฺ – ปองวุฒิ – โตมร’ และอีกมากมายถึง ‘เล่มโปรด’ แห่งปี

แป๊บๆก็จะหมดปีอีกแล้ว เป็นปีที่ใครๆก็บอกว่าสภาวะสนพ.เมืองไทยซบเซา แต่ท่ามกลางตัวเลขทางเศรษฐกิจ หนังสือดีๆเจ๋งๆกลับออกมาเยอะมาก เพราะต้องคัดเลือกเล่มที่พิมพ์กันแบบสุดๆ

ปีนี้เราเลยชวนนักอ่าน นักเขียน บรรณาธิการ นักวิชาการ สื่อมวลชน มาลองแลกเปลี่ยนกันว่าท่ามกลางหนังสือดีๆมากมาย มีเล่มไหนบ้างที่เป็น ‘เล่มโปรด’ ของพวกเขา เผื่อจะได้เป็นเล่มโปรดของคนอื่นด้วย

เริ่มที่ นิ้วกลม – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ คือ “THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ” โดย กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (สนพ.มติชน)

“หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การอ่านเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กำลังระอุขึ้นในหลายพื้นที่ อ่านเพื่อเข้าใจการก่อการร้ายในหลายแง่มุมว่าแท้ที่จริงมีอะไรที่ซับซ้อนและลึกซึ้งอย่างยิ่ง รวมทั้งยังได้ตรวจสอบความคิดและทัศนคติของตัวเองเกี่ยวกับการมองเพื่อนร่วมโลกด้วย”

Advertisement

ใจตรงกับ ดร.ภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียนผลงานสุดฮอต “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ที่ยกใจให้เล่มนี้ด้วย

“ยามนี้คงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรง ทันโลก เท่าการก่อการร้าย “เจ้าจงตื่นกลัว” นำพาคนอ่านไปรู้จักข้อถกเถียงต่างๆ ว่าด้วยการก่อการร้าย ทำไมโลกทุกวันนี้ ถึงมีเรื่องแบบนี้เพิ่มมากขึ้น คนที่ก่อเหตุเหล่านี้ต้องการอะไร และตัวเรา ในฐานะประชาชนธรรมดา จะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไรในโลกยุคการก่อการร้าย”

THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ

Advertisement

ด้าน ทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการเว็บไซต์และเพจ The matter ยกให้เล่ม “Revenge เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง” รวมเรื่องสั้นจาก Yoko Ogawa แปลโดย นลินญา จรูญเรืองฤทธิ์ (สนพ.Chaichai Books)

“เป็นหนังสือเรื่องสั้นที่สื่อให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวในใจของมนุษย์ แต่ละเรื่องจะเชื่อมกันด้วยวิธีการบางอย่าง ซึ่งแค่อ่านและดูการเชื่อมโยงก็สนุกแล้ว เป็นหนังสือลำดับที่สองของสำนักพิมพ์ไจไจ ที่อยากให้สนับสนุนกันครับ”

ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับนักเขียนหนุ่ม จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ที่มอบใจให้ Revenge เช่นกัน ด้วยเหตุผลว่า

“รวมเรื่องสั้น Revenge มีด้วยกัน 11 ชุดเหตุการณ์เกี่ยวกับความเศร้าตรม ความผิดหวังในรัก และการแก้แค้น ทุกชุดเหตุการณ์ล้วนมีความเชื่อมโยงกับอีกเหตุการณ์ก่อนหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรื่องสั้นบางตอนมีอิทธิพลกับอีกตอนอย่างชัดเจน แต่บางตอนก็เป็นแค่ ‘ความพยายาม’ ของผู้เขียนที่จะทำให้มีความเชื่อมโยงเพื่อให้เข้าคอนเซปต์ แต่ถึงอย่างนั้นผู้อ่านก็สามารถอ่านแยกขาดกันได้ทุกเรื่อง หรือจะเอาเรื่องไหนมาอ่านก่อนก็ได้ (เพียงแต่จะขาดอรรถรสในการร้อยเรียงภาพรวมทั้งหมดของเล่ม) เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเยียบเย็น มันค่อยๆ พาเราดำดิ่งลงไปในความดำมืดไร้ก้นบึ้งของตัวละคร เลือดเย็นอย่างเป็นธรรมชาติ หากก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันร้ายและความอ่อนไหวแบบผู้หญิง”

ส่วน โตมร ศุขปรีชา ขอเลือก “ประวัติศาสตร์นับศูนย์ : สู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” ซึ่ง สุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปลจาก The Sixth Extinction: An Unnatural History ของ Elizabeth Kolbert  (สนพ.openworlds)

“หนังสือเล่มนี้พูดถึง Mass Extinction หรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในโลก ที่เคยมีมาแล้วห้าครั้ง โดยผู้เขียนออกไปสำรวจการสูญพันธุ์ต่างๆที่เคยเกิดขึ้น แล้วตั้งคำถามว่า แล้วครั้งที่หกล่ะ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เองหรือเปล่า ร่องรอยหรือสัญญาณการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งใหม่มีอะไรบ้าง เช่น กบหรือค้างคาวที่หายไป ความเป็นกรดของมหาสมุทร ฯลฯ เป็นหนังสือความรู้น่าอ่านและอ่านสนุกที่นานๆจะมีออกมาในภาษาไทยเสียทีหนึ่งครับ”

15666348_10209594432231470_1196605714_n

 

ถาม อนรรฆ พิทักษ์ธานิน บรรณาธิการประจำฉบับ บ.เคล็ดไทย บอกว่าขอเลือก “SLOW – In Praise of Slowness เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น” โดย Carl Honoré ผู้แปลคือ กรรณิการ์ พรมเสาร์ (สนพ.Openbooks)

“สำหรับเราเล่มที่ไม่ควรพลาดจริงๆคือ Slow ที่มันตอบคำถามของโลกร่วมสมัย ที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วและบูชาความก้าวหน้า ว่ามนุษย์จะอยู่กับมันโดยไม่ทอดทิ้งความละเอียดอ่อนอันเป็นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างไร สโลว์ไลฟ์อาจไม่ใช่การใช้ชีวิตแช่มช้าเสมอไป หากแต่คือการใช้ชีวิตด้วยความละเมียด มีรสนิยมและการใคร่ครวญ อันเป็นรากฐานหนึ่งของ Creative Economy/Society ที่สังคมไทยพร่ำบอกจะเป็น”

ขณะที่ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ขอแนะนำ 3 เล่มหนังสือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 จากสนพ.มติชน

“ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยเช่นนี้ ความรู้ทางประวัติศาสตร์คือเครื่องมือนำทางอย่างหนึ่งจะช่วยให้เรามีกรณีตัวอย่างในการมองปัจจุบัน มีหนังสืออยู่ 3 เล่มที่ผมใคร่แนะนำให้ลองอ่านกัน เล่มแรกคือ “เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่องประวัติต้นรัชกาลที่ 6” โดย วรชาติ มีชูบท เล่มที่สองคือ “การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6” โดย เทพ บุญตานนท์ เล่มสุดท้ายคือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” โดย ราม วชิราวุธ (ร.6) โดยทั่วไป คนเรายากนักที่จะเข้าใจความเป็นไปในช่วงชีวิตของตัวเราเอง ดังนั้น การอ่านสองเล่มแรกก็คือการอ่านบทวิเคราะห์ที่เขียนโดยสายตาคนนอก ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจพระราชประวัติที่ ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์เองมากยิ่งขึ้น”

รวมหนังสือ ร.5-6

ถาม นิรัติศัย บุญจันทร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการของเว็บไซต์วรรณกรรมที่กำลังมาแรง The Paperless ขอยกให้ “ขัปปะ”  นิยายเรื่องเยี่ยมของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงาวะ (สนพ.เม่นวรรณกรรม) ที่เจ้าตัวมีครบทุกปก

“นวนิยายขนาดสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาวเล่มบางๆ เสมือนเสาหลักแห่งสุดท้ายของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงาวะ ก่อนฆ่าตัวตาย ในวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2470 แต่ดูเหมือน “ขัปปะ” จะดูสดใหม่ไม่ต่างกับหนังสือที่เพิ่งออกตอนนี้ ไม่สิครับ ต่างกันแค่งานของอะคุตะงาวะ ล้ำหน้ามากกว่าเท่านั้นเอง”

ส่วนนักเขียนสาว อุรุดา โควินทร์ ให้เล่ม “Dear Life สุดชีวิต” ของแอลิซ มันโร นักเขียนรางวัลโนเบลปี 2013 แปลโดย อรจิรา โกลากุล และ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (สนพ.บทจร)

“รักเรื่องสั้นของแอลิซ มันโร เธอตอกย้ำว่า วรรณกรรมคือรายละเอียด และรายละเอียดที่แตกต่างอย่างจริงใจ คือสิ่งที่ทำให้เรื่องราวพื้นๆ ต่างออกไป น่าจดจำ เธอไม่เคยมุ่งมั่น หรืออย่างน้อย ทำให้ฉันรู้สึก ว่าเธอต้องการที่จะสื่อสิ่งหนึ่งเรื่องใดเสียเหลือเกิน เธอเพียงแต่เล่า ด้วยน้ำเสียงที่ทำให้ฉันคาดเดาไม่ได้ ไม่คาดหวัง และบางครั้งก็คล้ายกับว่าเธอเองไม่ต้องการที่จะควบคุมอะไรเลยในเรื่องสั้นของเธอ ซึ่งทำให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ น่าหยิบฉวย น่าเดินเข้าไปใกล้ และถึงที่สุด ก็เข้าไปอยู่ข้างใน เธอทำให้ฉันอยากจะเขียนเรื่องสั้นโดยพลัน และเธอเป็นนักเขียนหญิงที่เขียนแต่เพียงเรื่องสั้น โดยมีผลงานอย่างต่อเนื่อง”

15682803_10209594431911462_862786763_n

นพ.ธวัช งานรุ่งเรือง นักอ่านตัวยง แอดมินแฟนเพจหนังสือปันกันอ่าน: Immortalbook ชุมชนที่นักอ่านชวนกันแลกเปลี่ยนหนังสืออยู่เสมอ ขอให้สองเล่มนี้

ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (สนพ.ฟ้าเดียวกัน) ที่การวิเคราะห์เจาะลึก รัฐไทยทำให้รู้เลยว่า คำว่า “กบในกะลา” นั้นเป็นยังไง ตราบใดที่เราไม่มองให้กว้างขึ้นไม่ค้นหาให้ไกลขึ้น มองตัวเอง มองเขา มองจากมุมเรา แล้วมองจากมุมอื่น มองไปในอดีต ที่อยู่ในปัจจุบัน มองหาอนาคตของเรา ที่เคยเป็นอดีตของที่อื่น หรือมองปัจจุบัน ด้วยสายตาของคนในอนาคต มองแล้วคิด คิดแล้วค้น ค้นแล้ววิเคราะห์

อีกเล่มคือ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา (สนพ.มติชน) เล่มแรกของเธอ อาจจะยังมีข้อกังขาว่าจะเป็นของจริงแค่ไหน เล่มนี้แสดงความยอดเยี่ยมที่ยิ่งกว่า ราวกับเล่มแรกเธอกั๊กพลังไว้แค่เสี้ยวเดียว ส่วนเล่มนี้ มาปล่อยแบบไม่บันยะบันยัง อ่านแล้วปลื้มใจมากที่ได้เห็นว่าเมืองไทยเรามีนักเขียนที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีกคนแล้ว”

15673550_10209594431311447_646393907_n

ด้านนักข่าวคุณภาพ จากรายการข่าวสามมิติ มนตรี อุดมพงษ์ ขอยกให้รวมบทกวี “ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา” โดย โรสนี นูรฟารีดา

“บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ผลงานการเขียนของนักเขียนหญิงผู้นับถือศาสนาอิสลามคนแรก ที่เข้ารอบชิงซีไรต์ปีนี้ เป็นหนังสือที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นการสื่อสารผ่านงานเขียนบทกวีจากนักเขียนหญิงอิสลามในดินแดนใต้ ที่สะท้อนเรื่องราวในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ปะทุมามากกว่า 10 ปี

นักเขียนไม่ได้ใช้ความเป็นคนในพื้นที่เพื่อบอกเล่าเท่านั้น  แต่เธอเป็นนักสื่อสารมวลชน ที่มีมุมมองอีกแบบในการมองเหตุการณ์แล้วสะท้อนออกมาและเธอไม่ได้สะท้อนออกมาด้วยภาษานักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชน แต่กลับสะท้อนผ่านบทกวีที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย เหนืออื่นใด คือผลงานของเธออาจนำพาให้เราคิดได้กว้างไกลมากกว่าเรื่องราวในชุมชนเรา มากกว่าสังคม ศาสนาเรา และมากกว่าประเทศเรา

ซึ่งตอบโจทย์ได้ว่า เหตุใดเราจึงควรมองไปไกลมากไปกว่ารั้วบ้านของเรา ไม่ว่า นี่จะได้เป็นบทกวียอดเยี่ยมรางวัลซีไรต์หรือไม่ แต่ได้สร้างปรากฏการณ์ การสื่อสาร จากนักเขียนหญิงมุสลิมคนแรก และเขียนจากใจในฐานะคนในพื้นที่ตัวจริง”

15722873_10209594431871461_786038627_n

ขณะที่ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ จากคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ยกให้เล่ม “จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา” งานของ Emma Larkin แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส

“เพราะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยผลกระทบของระบอบอาณานิคมที่มีต่อสังคมร่วมสมัยในพม่ามีน้อยมาก หนังสือเล่มนี้สอนเราว่าเราไม่สามารถแยกอดีตออกจากปัจจุบันได้ อาณานิคมในพม่าคือภาพหลอนที่ยังหลอกหลอนชนชั้นนำและคนรากหญ้าในประเทศนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

ส่วน นักแสดง-คอลัมนิสต์คนเก่ง ทราย เจริญปุระ ยกให้งานชื่อยาวของ Dave Eggers อย่าง “Your Fathers, Where Are They? And the Prophets, Do They Live Forever? บรรพบุรุษของพวกเจ้า เขาอยู่ที่ไหนเสีย แล้วบรรดาศาสดาพยากรณ์เล่า เขามีชีวิตเป็นนิรันดร์หรือ” แปลโดยนรา สุภัคโรจน์ (เลเจนด์ บุ๊คส์)

“หนังสือที่เดินทางผ่านบทสนทนาที่เริ่มจากการลักพาตัวโดยโธมัส-พระเอกของเรา-ผู้เปี่ยมความข้องใจต่อเหตุการณ์รอบตัว หนังสือแตะแทบทุกข้อสงสัยสำคัญในปัจจุบัน เราอยู่ไปเพื่ออะไร สิ่งใดคือความถูกต้อง การคอรัปชั่น การเลือกข้าง ตัวตนของคนเรา สนุก เพลิดเพลิน และเหมือนอ่านเรื่องของใครสักคนที่เรารู้จักไปด้วย ซึ่งคนคนนั้นอาจจะหมายถึงตัวเราเอง”

นักเขียน-นักวาดชื่อดัง มุนินฺ-มุนินทร์ สายประสาท ยกใจให้เล่ม  “Magic Moment ความงดงามในเสี้ยววินาที” โดยกันตพร สวนศิลป์พงศ์ (สนพ.Fullstop)

“การมองเห็นความบกพร่องของตนเองคือของขวัญ เป็นหนึ่งประโยคจากหนังสือเล่มนี้ที่ชอบที่สุด ซึ่งเป็นหนังสือภาพประกอบความเรียงเกี่ยวกับแง่มุมของชีวิตและความสัมพันธ์ ที่เกิดในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากอ่านข้อความแล้วได้ครุ่นคิดถึงตัวเองแล้ว พอมองกลับมาที่ภาพวาด ก็ยังได้ใช้เวลาสังเกตเรื่องราวส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นอีก เป็นหนังสือเล่มที่ต้องค่อยๆ อ่านช้าๆ ซึมซับกับภาพและคำ สัมผัสบางโมเมนต์ของชีวิตที่ไม่เกิดขึ้นซ้ำ แต่เรายังกลับมาอ่านซ้ำและรู้สึกได้อีกหลายๆครั้ง”

15722577_10209594431671456_274186135_n

ด้านนักเขียนดังที่มีผลงานหลากแนว ปองวุฒิ รุจิระชาคร เลือกเล่ม The Well of Being โดย  Jean-Pierre Weill

“เป็นหนังสือแนวมีภาพประกอบอยู่ด้วยของนักเขียนนักวาดฝรั่งเศส อย่างที่เห็นจากชื่อ Well ของเขาถ้าอ่านดูจะพบว่าสามารถตีความได้สองทางนั่นคือ “ดี” และ “บ่อน้ำ” เพราะในเรื่องจะเป็นการผจญภัยของชายคนหนึ่งในแนวเหนือจริงเพื่อค้นพบบ่อน้ำแห่งความสุข ชีวิตที่ดี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดทัศนคตินี่ล่ะ

ปกติผมไม่ค่อยชอบหนังสือแนวนี้นะเพราะตัวหนังสือน้อย แต่รู้สึกว่าเล่มนี้เขาเขียนได้ดีทั้งภาพและเนื้อหาสอดคล้อง อีกอย่างผมว่าในโลกยุคนี้โดยเฉพาะประเทศไทยเราปีนี้คือเจออะไรหนักๆกันมามากที่ทำให้จิตใจแย่ เราอาจจะต้องการอะไรที่อ่านแล้วครุ่นคิดเยียวยาตัวเอง รักษาสติกันไว้”

ผศ.ดร.พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ให้เล่ม “อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย” เขียนโดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ และแปลโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (สนพ.อ่าน)

“หนังสือเล่มนี้มีลักษณะของการศึกษาประวัติวรรณกรรมที่พยายามเสนอแง่มุมใหม่ๆ พร้อมๆ กันนั้นก็ตั้งคำถาม ท้าทายไปถึงประวัติวรรณกรรมที่เราเคยเชื่อกันด้วย การวิเคราะห์ของอ.ทักษ์ทำไปพร้อมๆ กับการดึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมาใช้อย่างลงตัว ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วรรณกรรมมันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ อย่างที่นักวรรณกรรมศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าใจ ไม่ใช่มีแค่ข้อคิดและภาษา แต่มีแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมที่วรรณกรรมหยิบฉวยมาส่งเสริม สนับสนุน หรือแม้กระทั่งคัดค้านด้วย นอกจากนี้การเปิดมุมมองและตั้งคำถามใหม่ๆ ของอ.ทักษ์ยังเปิดพื้นที่ให้วรรณกรรมที่เราไม่เคยสนใจว่ามันคือวรรณกรรมได้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์สังคมและวรรณกรรมด้วย ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้เท่าทันประวัติวรรณกรรมฉบับที่เราถูกสอนกันมามากขึ้น”

15682642_10209594431471451_46987061_n

ส่วนนักเขียนหนุ่มผลงานคุณภาพ อติภพ ภัทรเดชไพศาล ยกให้นิยายคลาสสิคที่หลายคนรักอย่าง “กรุงแตก ยศล่มแล้ว” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“อ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ น่าจะเป็นหนังสือที่ให้ภาพของอยุธยาในช่วงก่อนเสียกรุงได้ดีที่สุด ไม่มีการมโนนึกเอาเองแบบนิยายประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ แต่ทุกประโยคในหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยภูมิความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมาก ที่จริงมันเป็นหนังสือที่คนทำละครหรือหนังพีเรียดทุกคนควรจะได้อ่าน ถ้าอยากเห็นภาพของชาวบ้านชาวเมืองอยุธยาในสมัยนั้นจริงๆ”

ปิดท้ายที่ ณัฐกร เวียงอินทร์ บก.ออนไลน์ GM Multimedia Group ที่เลือก “Mad About” โปรเจ็กต์ของสองนักเขียน คือโตมร ศุขปรีชาและนิ้วกลม

“ผมไม่แน่ใจว่าเราควรจะนิยามว่านี่คือ นิตยสาร หนังสือ หรือโปรเจ็กต์ศิลปะเชิงทดลองกับสังคมดี แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การปรากฏตัวของ Mad About คือความท้าทายและการตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในการตอบรับสื่อออนไลน์ในยุคนี้ว่า ตกลงที่สุดแล้ว “สื่อกระดาษ” ในปีที่นิตยสารปิดตัวกันโครม ๆ มันมีพื้นที่และหน้าตาแห่งยุคสมัยเป็นอย่างไร? และสำหรับนักอ่านเอง คอลัมน์ที่มีใน Mad About ถ้าพูดแบบสำนวนของอาว์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีแห่งวงการวรรณกรรม มันคือของบำเรอผู้อ่านชั้นดี”

บางเล่มอาจไม่ใช่เล่มใหม่ในปีนี้ แต่ไม่น่าพลาดสักเล่มเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image