ความ (ไม่) สมบูรณ์แบบของ’สตีฟ จ็อบส์’

สมกับเป็น สตีฟ จ็อบส์ จริงๆ เพราะขนาดหนังที่ว่าด้วยชีวประวัติของเขาซึ่งออกฉายไปเมื่อ 3 ปีก่อน (“Jobs” นำแสดงโดย แอชตัน คุชเชอร์) จะไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่คนทำและคนดูคาดหวัง แต่ชีวิตของเขาก็ถูกหยิบมาทำใหม่ทันควันในชื่อ “Steve Jobs” ซึ่งจะเข้าฉาย 21 ม.ค.นี้

คราวนี้น่าสนใจกว่าเก่า เพราะได้ทีมงานมือรางวัลมารวมกัน ทั้งผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ จาก “สลัมด็อก มิลเลียนแนร์” และ แอรอน ซอร์กิน มือเขียนบท “เดอะ โซเชียล เน็ตเวิร์ก” (เกือบจะได้ เดวิด ฟินเชอร์ มากำกับด้วยแล้ว หากไม่ติดเรื่องค่าตัวเสียก่อน)

ระหว่างที่ดูๆ เลยอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบรรยากาศของ 2 เรื่องที่ว่ามา โดยเฉพาะ “เดอะ โซเชียล เน็ตเวิร์ก” ที่ว่าด้วยเรื่องราวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ในแง่มุมสีเทาที่คนไม่ค่อยรู้นัก

Screen Shot 2016-01-18 at 05.57.23

Advertisement

“สตีฟ จ็อบส์” ก็เช่นเดียวกัน จนดูไปก็คิดไปในใจว่านี่คือฝันร้ายของเพื่อนร่วมงานชัดๆ!

หนังหยิบเหตุการณ์ในช่วงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ 3 ชิ้นมาเล่าแบบย่นย่อ เป็น 3 ช่วงเวลาก่อนเริ่มงานบนเวที ก่อนที่คนทั้งโลกจะได้เห็นหน้าฉากอันสวยงามและสมบูรณ์แบบ ไล่เรียงไปจากงานเปิดตัวคอมพิวเตอร์ “แมคอินทอช” ในปี 1984 ที่จ็อบส์ทุ่มเถียงกับ แอนดี้ เฮิรตซ์เฟลด์ อย่างรุนแรงเพียงเพราะความผิดพลาดเล็กๆ และบีบให้เขาแก้งานใหม่ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง รวมถึงยืนกรานที่จะตั้งราคาเครื่องสูงลิ่วจนคนเอื้อมไม่ถึง

Advertisement

แม้แต่งานต่อมาทั้งงานเปิดตัว “เน็กซ์” ผลงานแรกของเขาหลังออกจากบริษัทแอปเปิล และงานเปิดตัว “ไอแมค” ที่เขากลับมาทำหน้าที่ผู้บริหารแอปเปิลอีกครั้ง ก็ไม่วายมีเรื่อง “แก้แล้วแก้อีก” ให้ทีมงานปวดหัว แถมยังทะเลาะกับเขาไปทั่ว

Screen Shot 2016-01-18 at 06.03.17

นี่จึงไม่ใช่ภาพของอัจฉริยะที่เราคุ้นตา แต่เป็นชายหนุ่มสมองใสที่เต็มไปด้วยนิสัยดาร์กๆ และเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

แม้ตัวหนังจะเต็มไปด้วยบทพูดยาวเหยียด แต่ก็ไม่ได้ทำให้เบื่อหรืออยากละสายตาเลยสักนิด ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมบทที่สะท้อนตัวละครได้ชัดเจนและไล่ระดับอารมณ์ไปทีละขั้นจนถึงจุดพีค ยอมรับว่าตอนนั่งดูสตีฟ จ็อบส์ เถียงกับ สตีฟ วอซเนียก (เซ็ธ โรเกน) หรือ จอห์น สคัลลี่ (เจฟฟ์ แดเนียลส์) ให้ความรู้สึกอึดอัดเหมือนเป็นตาสีตาสาที่บังเอิญเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เจ้านายทะเลาะกันแล้วหาทางพาตัวเองออกมาไม่ได้ ไม่แปลกใจหากจะได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำมาครอง

แน่นอนว่าอีกส่วนต้องชื่นชมนักแสดงนำอย่าง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ที่สวมบท “สตีฟ จ็อบส์” ได้อย่างแนบเนียน ทำให้จุดบอดเรื่องหน้าตาที่ไม่คล้ายต้นฉบับถูกมองข้ามไป ซ้ำยังทำให้คนดูทั้งเกลียดและรักตัวละครได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายด้วย

อย่างที่บอกว่าสตีฟ จ็อบส์ ไม่ใช่ตัวละครประเภทน่าหลงรักสักเท่าไร เพราะมีทั้งความมั่นใจในตัวเองเกินขนาด รั้น ไม่แคร์ใคร หลายครั้งดูเหมือนเหยียดคนอื่นด้วยซ้ำ ที่สำคัญยังเป็น “คนเยอะ” เอามากๆ เช่น ตอนที่บอกให้ลูกทีมหาภาพฉลามกว่า 40 ตัวให้เขาดู ก่อนย้อนกลับไปเลือกฉลามตัวแรก หรือสั่งแก้ไขลูกบาศก์ซ้ำๆ จนกว่าจะสมมาตรตามที่เขาเห็น รวมทั้งการเลือกใช้คำพูดแรงๆ กับ ลิซ่า ลูกสาวที่เขาไม่ยอมรับ

ทว่ายิ่งเรื่องดำเนินไปพร้อมความน่าชังของเขา เหตุผลที่มารองรับนิสัยและการกระทำของเขาก็ค่อยๆ สอดแทรกเข้ามาจนเราเข้าใจได้ ตอนหนึ่งที่ แอนดี้ เฮิรตซ์เฟลด์ ถามว่า “ทำไมอยากให้คนเกลียดนัก” เขาก็เพียงแต่ตอบนิ่งๆ ว่า “ไม่ได้อยาก แค่ไม่สนใจว่าใครจะเกลียด”

ถ้ามองข้ามความทระนงเหล่านั้นไป สตีฟ จ็อบส์ ก็เป็นชายที่ทุ่มเทชีวิตให้งานคนหนึ่ง เป็นคนที่ผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างมีรสนิยม และเป็นพ่อที่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ของลูกได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะการพยายามหาคำตอบว่าทำไมลิซ่าชอบถามซ้ำๆ หรือแม้แต่สัญญาว่าจะทำอุปกรณ์บรรจุเพลงนับพันมาทดแทนวอล์กแมนเทอะทะของลูกสาว

Screen Shot 2016-01-18 at 06.04.43

ขณะที่ เคต วินสเลต เองก็เป็น โจอันนา ฮอฟแมน เจ้าหน้าที่ด้านการตลาดของแมคอินทอชได้สมราคา ไม่ว่าจะฉากเล็กหรือใหญ่เธอก็แสดงพลังได้ทุกครั้ง จนสามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำมาได้และเข้าชิงรางวัลสาขาเดียวกันบนเวทีออสการ์ด้วย

อีกอย่างที่หนังทำให้เรารู้สึกคือสตีฟ จ็อบส์ ก็เป็นแค่คนทั่วไป ผ่านความล้มเหลว มีบาดแผล ตกอยู่ในจุดเลวร้ายของชีวิต และต้องสร้างตัวตนเพื่อให้คนยอมรับ แม้จะนึกไม่ออกว่าความสำเร็จที่เขามีจะสร้างความสุขให้เขาได้สักแค่ไหน

แต่อย่างน้อยก็เป็นความโชคดีของโลกที่ครั้งหนึ่งเคยมีอัจฉริยะชื่อ “สตีฟ จ็อบส์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image