จาก 2521-2560 ’40ปีแห่งแวดวงบันเทิงไทย’

*ก่อน 40 ปี การอ่านและการชม

โอกาสก้าวสู่ปีที่ 40 ของ มติชน ในฐานะผู้เฝ้ามองแวดวงบันเทิงมาตลอด จึงอยากสรุปรวมเรื่องราวตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างคร่าวๆ ให้เห็นกัน แต่การจะกล่าวถึงสภาพและบรรยากาศของวงการบันเทิง จำเป็นจะต้องเข้าใจสภาพและบรรยากาศก่อนหน้าเป็นปฐม เพื่อจะได้เข้าใจความคลี่คลายของสังคมกับงานที่ปรากฏพร้อมกันไป เพราะการเห็นที่มาจะช่วยให้มองที่ไปได้กระจ่างขึ้น ทั้งนี้ ที่มาและที่ไปนั้นล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของการเมืองอันเป็นตัวบ่งชี้วิถีต่างๆ ในการดำเนินชิวิตของประชาชน

การย้อนเวลาไป 40 ปี แน่นอน ระยะกาลย่อมจะหยุดลงตรงปี 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ดังนั้นการพูดถึงเรื่องก่อนหน้าและภายหลัง จึงต้องกำหนดเป็นก่อนหน้าและภายหลังช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

Advertisement

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนั้น สังคมไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแต่ปี 2475 อยู่ภายใต้การบริหารชนิดล้มลุกคลุกคลาน จากรัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร กลับไปกลับมา จนหลังปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ปี 2502-2506 จนอสัญกรรมในตำแหน่ง

จากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหนที่ 4 ระหว่างการปกครองระบอบลุ่มๆ ดอนๆ จึงครองอำนาจต่อระหว่างปี 2506-2516 ด้วยกลไกประชาธิปไตยที่ฉุดลากโดยลวดหนามรัฐประหาร ล้มลุกคลุกคลานไปเช่นเดิม

กระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี เป็นชนวนให้นักศึกษาและประชาชนร่วมกันประท้วงเรียกร้องให้คืนอำนาจแก่อาณาประชาราษฎร์เสียที ท่ามกลางความไม่พอใจซึ่งคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ จากการประท้วงสินค้าญี่ปุ่น เหตุการณ์ที่นักการเมืองใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร คำสั่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหง 9 คนซึ่งทำหนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ และภาวะข้าวสารขาดแคลน จนเมื่อบรรดาผู้นำเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับ ปะทุเป็นการร่วมกันประท้วงให้ปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้น

Advertisement

สถานการณ์จึงต่อเนื่องไปเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลทหารออกมาปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมชนขับไล่เผด็จการกันนับแสนคน

*40 ปีการอ่านและการชม

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคมไปถึงคนรุ่นเกิดก่อนและหลังปี 2500 ซึ่งเรียกกันว่ากึ่งพุทธกาลนั้น สภาพแวดล้อมการอ่านของผู้คนถูกจำกัดอย่างมาก หนังสือและนิตยสารรายคาบบนแผงนั้น มีอยู่เพียง 2 ประเภทเท่านั้นคือ การเมืองกับอาชญากรรม และบันเทิง

การเมืองไม่ว่าหนังสือพิมพ์รายวัน หรือนิตยสารรายคาบ ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวเฉพาะของรัฐบาล ผู้นำและบรรดารัฐมนตรี ส่วนนิตยสารรายสัปดาห์หรือรายสิบห้าวัน มักเป็นเบื้องหลังข่าวทั้งการเมืองและอาชญากรรม ไม่มีให้เลือกนอกเหนือจากนี้ ที่จริงความคุ้นเคยจำเจกับสภาพแวดล้อมเช่นนั้นไม่ทำให้เห็นว่ามีเรื่องอื่นให้ส้องเสพ

สำหรับนิตยสารบันเทิง ก็มีประเภทดาราภาพยนตร์เป็นพื้นวงการหนังไทยยังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ถ่ายก็ส่วนถ่าย บันทึกเสียงพากย์ทับก็บันทึกไป ยังไม่ถึงยุคเสียงในฟิล์มที่ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กลับจากเรียนวิชาการภาพยนตร์มาเข้าวงการเมื่อปี 2511 จนปัจจุบัน โดยสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ‘มันมากับความมืด’ ในปี 2514 ก่อนหน้านั้นเป็นสมัยของ มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาวราษฎร์ จนฝ่ายชายเสียชีวิตในปี 2513

แวดวงการอ่านจึงเป็นโลกที่อัตคัดสำหรับผู้ต้องการเรียนรู้นอกเหนือความจำกัดที่มี ความจำกัดดังกล่าวอิ่มเต็มอยู่กับนิตยสารรายสัปดาห์ล้วนๆ โดยเฉพาะงานจากนักเขียนสตรีซึ่งมีตั้งแต่ สกุลไทย กับ สตรีสาร และ ศรีสัปดาห์ หรือ เดลิเมล์วันจันทร์ เป็นต้น

และท่ามกลางนิตยสารสุภาพสตรีที่มีมาแต่ก่อนกึ่งพุทธกาลเหล่านั้นเอง ปีแรกหลัง 2500 นิตยสารบางกอก ซึ่งอุดมด้วยเรื่องบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน ที่มาของหนังไทยขนานแท้ชนิดต้องระเบิดภูเขา เผากระท่อม ก็วางแผงสร้างตำนานมาร่วม 60 ปีก่อนจะลาโรงไป นำหน้าสกุลไทยซึ่งสร้างความเศร้าสลดแก่คนร่วมสมัย (ก่อน) อยู่ไม่น้อย ก็ถือกำเนิดขึ้น นัยว่าเป็นตัวแทนนิตยสารผู้ชาย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ หญิงอ่านได้ชายอ่านดีด้วยกันทั้งสิ้น

‘ร้อยป่า’ ของ อรชร กับ ‘พันธุ์บางกอก’ อันลือลั่นครองใจผู้อ่านทั้งประเทศก็อุบัติขึ้นคราวนั้นเอง ขณะที่หนังสือเล่มฉบับกระเป๋าที่มักประเดิมเล่มแรกด้วยราคาหกสลึง ก่อนจะต่อด้วยเล่มละสามบาทที่เป็นนิยายกำลังภายใน ‘มังกรหยก’ ของ กิมย้ง แปลโดย ประยูร-จำลอง พิศนาคะ กำลังเปิดศักราชปริมณฑลเริงรมย์ให้มิติกว้างขึ้น ไม่นานจากนั้น ‘เพชรพระอุมา’ ของ พนมเทียน ก็คืบเข้ากุมพื้นที่แผงหนังสือและร้านหนังสือเช่าอ่าน

นิยายที่แพร่หลายล้วนเป็นความบันเทิงแทบทั้งหมด นักเขียนระดับบรมที่ค้นหางานได้ไม่ยากไม่ว่า มาลัย ชูพินิจ, มนัส จรรยงค์, ยาขอบ, ป.อินทรปาลิต, จ.ไตรปิ่น, ไม้เมืองเดิม ฯลฯ เป็นต้น เปิดจินตนาการผู้คนให้สำราญครุ่นคิดกับวิถีชีวิตในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองในและการเมืองนอก ที่กำลังก้าวไปสู่สงครามเย็น โดยอิทธิพลมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่ส่งความช่วยเหลือมาให้พร้อมกับความคิดต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์

ดังนั้นนอกเหนือจาก ดอกไม้สด ที่พยายามตีแผ่การเปลี่ยนแปลงจากโลกเก่าของผู้ลากมากดีไปสู่อิสระเสรีรูปใหม่ ผ่านตัวละครหญิงชายหนุ่มสาวหลายแบบ ที่จะหาอ่านความคิดอีกลักษณะอาทิ ‘แลไปข้างหน้า’ ของ ศรีบูรพา หรือ ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรืองานแบบม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนแปรทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะทาง จึงหาได้ไม่ง่ายนัก

โรงเรียนที่จะมีห้องสมุดเป็นเรื่องเป็นราวก็มีไม่มาก ขนาดโรงเรียนประจำจังหวัดบางแห่ง ห้องสมุดเป็นห้องศักดิ์สิทธิ์ที่ครูบรรณารักษ์ไม่อยากให้นักเรียนไปหยิบจับหนังสือให้ช้ำเสียด้วยซ้ำ ห้องสมุดประจำจังหวัดทั้งยังไม่เกิดและยังไม่เห็นว่าจำเป็น นักอ่านวัยรุ่นยุคนั้นจึงอาจมีโอกาสพบหนังสือหายากน่าอ่าน หรือแม้แต่หนังสือเริงรมย์ที่กล่าวถึงมา ในตู้หนังสือตามกุฏิวัดมากกว่าที่ใดอื่น

พ้นจากแวดวงการอ่านที่ต้องออกนอกบ้านไปซื้อที่แผงหน่อยเดียว ความบันเทิงเล็กๆ อีกอย่างก็อยู่ในบ้านนั้นเอง คือ ละครวิทยุที่สร้างจากนิยายทั้งหลายเหล่านั้น ฟังไปซักผ้าไป สบายอารมณ์แม่บ้านสุดสุด

ยังว่ากันได้ไม่ถึงครึ่ง แต่เดี๋ยวจะยาวไป จึงต้องขอยกยอดอีกตอนไว้ในวันพรุ่งนี้

แล้วพบกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image