ทำความเข้าใจ ‘อาชญากรเด็ก’ ผ่านซีรีส์ ‘Juvenile Justice’ จาก ‘คดีเกิดขึ้นจริง’ ในประเทศเกาหลีใต้

ทำความเข้าใจ ‘อาชญากรเด็ก’ ผ่านซีรีส์ ‘Juvenile Justice’ จาก ‘คดีเกิดขึ้นจริง’ ในประเทศเกาหลีใต้

‘เด็กคือผ้าขาว’ ประโยคสุดคลาสสิกที่ได้ยินจนชาหู แต่ ‘หลายคน’ ก็อยากมานั่งถกกันใหม่ว่า เชื่อได้จริงหรือ เพราะหากมองในเลนส์สังคมปัจจุบัน มีข่าวเกี่ยวกับ ‘อาชญากรเด็ก’ เด่นหราอยู่บนหน้าหนึ่ง และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

สังคมเริ่มตั้งคำถามในพฤติกรรมที่โหดร้ายเกินขอบข่ายของความเป็น ‘เยาวชน’ และเมื่อสืบสาวราวเรื่องหาเหตุผลของการกระทำความรุนแรงดังกล่าว มักพบว่า ‘ปัญหาครอบครัว’ คือสิ่งเร้าอันดับหนึ่งที่มาควบคู่กับประเด็นอาชญากรเด็กอยู่เสมอ แต่ในทางกลับกันอาชญากรเด็กบางรายก็มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมในการที่จะประคบประหงมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นคนดี

 

Advertisement

ซีรีส์ ‘Juvenile Justice’ หรือมีชื่อภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘หญิงเหล็กศาลเยาวชน’ จะพาผู้ชมเข้าถึงแก่นลึกของปัญหา และหาคำตอบของพฤติกรรมรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ของเยาวชนในสังคมไทยขณะนี้ที่มีคดีเกี่ยวกับเยาวชนทุกวันจนชินชา และตอบคำถามถึงที่มาที่ไปของประโยคข้างต้นได้เป็นอย่างดี

Juvenile Justice ดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างน่าติดตาม ผ่านตัวละครหลักอย่าง ผู้พิพากษา ‘ชิม อึนซอก’ ที่รับบทโดย ‘คิม ฮเยซู’ ตัวแม่ของวงการบันเทิงเกาหลี ที่เพียงแค่ได้เห็นการแสดงของเธอก็รู้สึกคุ้มค่าที่จะสละเวลาเข้ามาดูแล้ว

Advertisement

โดยตัวละคร ชิมอึนซอก เป็นผู้พิพากษาที่ประกาศกร้าวว่าเกลียดอาชญากรเด็กแบบโต้งๆ และมาประจำที่ศาลเยาวชนเพื่อกวาดล้างอาชญากรเด็กที่สร้างบาดแผลในอดีตให้กับเธอ ซึ่งการตัดสินคดีในช่วงแรกเหมือนจะเป็นการกระทำด้วย ‘ความแค้น’ เป็นหลัก จนคนดูอย่างเราบางครั้งยังรู้สึกสาแก่ใจในผลการตัดสิน เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่หนักหนาเกินกว่าจะเรียกว่าเยาวชน

เนื้อหาของเรื่อง เราจะได้เห็น ‘ปัญหาในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ’ ที่หล่อหลอมให้เด็กเติบโตมาจนกลายเป็นปัญหาต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวเศรษฐีที่ไม่มีเวลาแม้แต่จะอบรมเลี้ยงดูลูก, แม่ที่เห็นแก่ตัว หรือพ่อที่ส่งต่อความรุนแรงที่ตัวเองเคยได้รับไปยังลูก ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ค่อยๆ สะสมจนท้ายที่สุดกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะ ‘สายไป’ เสียแล้ว

“ถ้าเรามีพ่อแม่ดี ๆ ก็คงไม่ใช้ชีวิตเฮงซวยแบบนี้” หนึ่งในอาชญากรเด็กจากตอนหนึ่งในซีรีส์กล่าว เป็นประโยคที่ได้ยินแล้วชวนสะอึก ซึ่งซีรีส์ก็สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ชวนให้น่าชิงชังเสียเหลือเกิน
หากกระนั้น ซีรีส์ก็เผยข้อเท็จจริงที่หนีไม่พ้นว่า ‘ไม่มีใครอยากเกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อม’ ดังคำพูดของหัวหน้าศูนย์ฟื้นฟูเยาวชนพูรึม ที่ช่วยฉายภาพความเจ็บปวดของเหล่าอาชญากรเด็กได้อย่างชัดเจนว่า
“เด็กๆ ที่มีแผลใจจากครอบครัวมักทำร้ายตัวเอง พวกแกก่ออาชญากรรมและจับกลุ่มกับเด็กไม่ดี ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไม่ควรทำ แต่ก็ยังทำ เพราะอยากให้ความทรมานจากการทำร้ายตัวเองสร้างแผลใจให้กับครอบครัวเหมือนกัน” ด้วยคำพูดนี้เองที่ทำให้ชิม อึนซอกที่เกลียดอาชญากรเด็กแบบเข้าไส้เริ่มฉุกคิดว่าเบื้องหลังการกระทำความผิดของเด็กเหล่านี้มีมากกว่าความคึกคะนอง มากกว่ากฏหมาย หรือการตัดสินคดีความ
‘ความเข้าอกเข้าใจในพื้นเพของเด็ก’ ก็เป็นหน้าที่อีกหนึ่งสิ่งของผู้พิพากษาศาลเยาวชนที่จะต้องตระหนักถึง และร่วมด้วยช่วยกันยับยั้งการก่ออาชญากรรม

จริงอยู่ที่กฏหมายคือวิธีที่ดีที่สุดในการลงโทษผู้กระทำความผิด แต่บางครั้งการใช้กฏหมายอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ ต่อการแก้ปัญหาอาชญากรเด็กที่ยังคงคาราคาซังอยู่ทุกวันนี้ หากไม่มองลึกเข้าไปที่ ต้นตอของปัญหา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำ การช่วยเหลือ เยียวยา รวมไปถึงการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดอาชญากรเด็ก คนต่อไป โดยการจัดมีระบบนิเวศน์เหมาะสมให้กับเด็กๆ เริ่มตั้งแต่ครอบครัว การศึกษา สังคม จึงเป็นสิ่งที่ ผู้ใหญ่ ต้องตระหนัก ให้ความสำคัญ และเดินหน้าทำให้เกิดขึ้นจริง

ความสำเร็จแรกของซีรีส์เรื่องนี้คือการสอดแทรก ‘คดีที่เกิดขึ้นจริง’ ในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อถ่ายทอดออกมาให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ให้เห็นเบื้องหลังของปัญหาเหล่านี้ที่สลับซับซ้อน ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้นอกจากจะนำเสนออาชญากรเด็กที่มีบาดแผลจากครอบครัวแล้ว อีกด้านหนึ่งก็นำเสนอในแง่มุมของอาชญากรที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ กระทำความผิดแบบไร้ซึ่งเหตุผล

“ได้ยินว่า ถ้าอายุไม่ถึง 14 ปี ก็ไม่ติดคุกนี่ เจ๋งอะ” ประโยคของตัวละครที่พูดอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ซึ่งก็ชวนให้ฉุกคิดว่า คำๆ นี้หลุดออกมาจากปากเด็กได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้งว่าผ้าขาวผืนนี้ ‘ถูกเติมแต่งสีอะไรเข้าไปบ้าง’ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องรับภาระนี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง ครอบครัวนั่นแหละ คือโซ่ตรวนที่พันธนาการ และสร้างบาดแผลให้กับเด็กแบบไม่รู้ตัว

ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย ซีรีส์ถ่ายทอดให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของตัวละคร ที่เข้าใจปัญหาของเยาวชนได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น จากครั้งแรกที่วางจุดหมายเดียวคือการกวาดล้างอาชญากรเด็ก ใช้ความรู้สึกเคียดแค้นจากปมในอดีตมาเป็นอารมณ์เพื่อตัดสินคดีความ สู่ผู้พิพากษาที่เข้าอกเข้าใจเยาวชน ตระหนักรู้ถึงสาเหตุ และค่อยๆ คลี่คลายปัญหาอย่างละลุนละม่อม

โดยสรุปแล้วซีรีส์เรื่องนี้ เป็นซีรีส์ที่บอกเล่าปัญหาของอาชญากรเด็กได้อย่างทะลุปรุโปร่ง พาผู้ชมเข้าไปที่จุดเริ่มต้นของปัญหา ทำให้ฉุกคิด และหันกลับมามองสังคมไทยในปัจจุบันว่า…เราเผลอเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างบาดแผลให้เด็กเหล่านั้นหรือไม่ หรือวันนี้เราเป็นพ่อแม่ที่ดีแล้วหรือยัง?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image