ยอดขาย “1984” พุ่งกระฉูด หลังอเมริกามีประธานาธิบดีชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์”

หลายคนคงได้เห็นภาพคนที่มาร่วมชุมนุมในพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ กันบ้างแล้ว

สื่อหลายรายทำภาพเปรียบเทียบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งระหว่าง บารัค โอบามา และโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างรุนแรงของจำนวนผู้คนที่มาร่วมชุมนุมที่ถูกถ่ายจากมุมสูงลงมาให้เห็นครอบคลุมบริเวณทั้งหมด เพราะในขณะที่พิธีของโอบามานั้นเต็มไปด้วยฝูงชนระดับแน่นขนัดจนแทบไม่มีที่ยืน แต่สำหรับทรัมป์แล้วนั้น พื้นสีขาวอันว่างเปล่าไร้ผู้คนปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน

หลังสื่อมวลชนรายงานเรื่องนี้ออกไป ทีมงานของทรัมป์กลับแถลงข่าวว่า มีผู้คนไปร่วมงานพิธีสาบานตนของโดนัลด์ ทรัมป์อย่างมากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์

ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับภาพซึ่งปรากฏต่อสาธารณะอย่างรุนแรง

Advertisement

US President Donald Trump takes the oath of office with his wife Melania and son Barron at his side, during his inauguration at the U.S. Capitol in Washington, U.S., January 20, 2017. REUTERS/Kevin Lamarque     TPX IMAGES OF THE DAY

และนั่นทำให้ เคลลีแอนด์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ช่อง NBC และใช้วลีในการอธิบายข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันอยู่ว่า ข้อมูลที่แถลงข่าวออกไปเกี่ยวกับจำนวนผู้ร่วมงานสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็น “Alternative Facts” หรือ “ความจริงทางเลือก” และเธอก็บอกว่าชาวอเมริกันก็ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่มองเห็นและได้ยินแม้จะด้วยตัวเองก็ตาม…

และการเล่นคำของ เคลลีแอน์ คอนเวย์ ก็ทำให้นิยายแนวดิสโทเปียเล่มดังของโลกอย่าง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (มีแปลเป็นภาษาไทยโดย สนพ.สมมติ) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของโลกที่แบ่งออกเป็น 3 รัฐคือ โอเชียเนีย ยูเรเชีย และอิสตาเชีย ซึ่งอังกฤษกลายเป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐที่มีการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างโอเชียเนีย โดยพรรคการเมืองที่ควบคุมทุกอย่างในชีวิตคนคือพี่เบิ้ม ประโยคเด็ดประโยคหนึ่งที่หลายคนน่าจะจำได้จากหนังสือเล่มนี้คือ BIG BROTHER is watching you คุ้นๆ เนอะ เอาเถอะ กลับไปพูดเรื่องอเมริกากันต่อ

Advertisement

เพราะแม้จะมีประโยคคุ้นหู แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ยอดขายนิยายเรื่อง 1984 พุ่งพรวดขึ้นใน 2 วัน เพราะใน 1984 นั้น ยังมีอีกประเด็นที่สะกิดใจผู้คนมากมาย นั่นคือเรื่องของ “อำนาจของภาษา”

ภาพจากREUTERS โดย Shannon Stapleton

อำนาจของภาษา คือ สิ่งที่จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนไว้ใน 1984 ด้วยน้ำเสียงเสียดสีเย้ยหยัน ให้เห็นถึงการใช้ภาษามาครอบงำความคิด ด้วยวิธีการประดิษฐ์ถ้อยคำ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความคิดที่แตกต่างกัน Big Brother จึงต้องสร้างภาษาขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Newspeak เพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยมีพื้นฐานเป็นภาษาอังกฤษแต่ถูกบิดเบือนให้คลุมเครือมากขึ้น โดยเป็นแนวคิดแบบ DoubleThink ซึ่งหมายความว่าคำที่มีความหมายขัดแย้งกัน แต่ถ้าผู้นำ Big Brother บอกว่าให้มีความหมายแบบนี้ มีแนวคิดอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น และนั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ภาษาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมมนุษย์ คอยสอดส่องประชาชนให้อยู่ในกรอบเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

เช่น 2+2 = 5 ก็คือผลลัพธ์ที่ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่ 4, War is Peace สงครามคือสันติภาพ, Freedom is Slavery เสรีภาพคือความเป็นทาส, Ignorance is Strength อวิชชาคือความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นในทุกคำศัพท์ ไม่ว่าจะหมายว่าอะไรก็ตาม แต่ความหมายที่ถูกต้องคือความหมายที่ Big Brother ต้องการ เป็นการครอบงำความคิดของมนุษย์ด้วยกลลวงของการประดิษฐ์ถ้อยคำ ซึ่งเป็นอำนาจของภาษาที่สร้างเรื่องโกหกให้กลายเป็นความจริงได้

Penguin USA คงต้องขอบคุณ เคลลีแอนด์ คอนเวย์ ที่ทำให้ 1984 ไต่ขึ้นเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของสหรัฐ ในเว็บไซต์ Amazon.com โดยยอดขายพุ่งขึ้นกว่า 9,500 เปอร์เซ็นต์ และอาทิตย์นี้ Penguin USA สั่งพิมพ์ 1984 เพิ่มอีก 75,000 เล่ม ซึ่งเมื่อปี 2013 หนังสือ 1984 ก็เคยมียอดขายพุ่งสูงขึ้นถึง 10,000 เปอร์เซ็นต์ หลังจากมีการเปิดเผยว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ หรือ NSA สอดแนมข้อมูลส่วนตัวของประชาชน

ท่าทางเล่มนี้จะใช้เป็นกรณีศึกษาในการเมืองโลกตอนนี้ได้อีกนาน

 

ขอบคุณภาพจาก REUTERS

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image