ส่องประวัติศาสตร์กระแสรองแห่งแดนมังกร ผ่านสายตา ‘Jung Chang’

ท่ามกลางท่วงท่าที่งามสง่าและรอยยิ้มอ่อนโยนของสตรีในรูปที่อยู่ตรงหน้า คือความเข้มแข็ง

ความเข้มแข็งที่ Jung Chang หรือชื่อจีนว่า จางหรง นักเขียนชาวจีนที่ใช้ชีวิตอยู่อังกฤษเกินกว่าครึ่งของชีวิต ปรากฏให้เห็นผ่านตัวอักษรของเธอในผลงานสารคดีประวัติศาสตร์ที่ใช้กลวิธีการเล่าราวกับเรื่องแต่ง สนุกสนานราวกับกำลังอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่งทั้งที่จริงเป็นสารคดี โดยประวัติศาสตร์ที่เธอค้นคว้าและเผยแพร่ออกมานั้น ล้วนแต่ท้าทายประวัติศาสตร์กระแสหลักในประเทศจีนอย่างยิ่ง

เป็นประวัติศาสตร์กระแสรองที่รัฐบาลจีนอ่านแล้วก็รู้สึกแสลงใจ จนต้องสั่งแบนหนังสือบางเล่มของเธอ แต่โลกกลับยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทั้ง ‘Wild Swans’ ที่ สำนักพิมพ์นานมี เพิ่งพิมพ์ครั้งที่ 6 ไปหมาดๆ ในชื่อภาษาไทย ‘หงส์ป่า’ เล่าเรื่องจริงของผู้หญิงสามรุ่นที่เดินทางผ่านประวัติศาสตร์ช่วงต่างๆ ของจีน เป็นชีวิตของคุณยาย คุณแม่ และตัวของ Jung Chang เอง แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมในสังคมจีนช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งในแง่ของระบบโครงสร้างทางสังคม และความเป็นปัจเจกชายหญิง เรื่องนี้มียอดขายกว่า 13 ล้านเล่มทั่วโลก และแปลไปกว่า 40 ภาษาในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

ขณะที่ ‘Mao : The Unknown Story’ ที่เธอเขียนร่วมกับสามีนักประวัติศาสตร์ชาวไอริช Jon Halliday ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ เหมา เจ๋อ ตง อย่างรุนแรง อย่างที่ไม่เคยมีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนเขียนมาก่อน

ส่วนล่าสุดที่เพิ่งพิมพ์ไม่นาน ‘Empress Dowager Cixi : The Concubine Who Launched Modern China’ Jung Chang นำเสนอข้อมูลใหม่ในแง่ที่ว่าพระนางซูสีไทเฮา ไม่ได้เป็นแม่มดร้ายกาจอย่างที่ถูกกล่าวหาในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

“หนังสือทุกเล่มที่ดิฉันเขียน ผ่านการค้นคว้าอย่างละเอียดค่ะ และยืนยันในข้อเท็จจริงที่นำเสนอออกไป” นักเขียนชาวจีนคนแรกที่คว้าปริญญาเอกจาก British University กล่าวด้วยรอยยิ้ม

Advertisement

Jung Chang เดินทางออกจากประเทศจีนในปี 1978 เมื่ออายุ 26 ปีหลังจากได้รับทุนการศึกษาให้มาเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนหน้านี้เธอแทบไม่เคยมีความคิดจะเป็นนักเขียนเลย เพราะหลังจากเรียนจบก็ทำงานสายวิชาการมาตลอด จนกระทั่งคุณแม่ของเธอเดินทางมาอยู่ด้วยที่ลอนดอนกว่า 6 เดือน หลังจากที่ไม่ได้พบหน้ากันมากว่า 10 ปี

“ตอนอายุ 14 ปี ดิฉันสมัครเป็นเรดการ์ดช่วงที่ปฏิวัติวัฒนธรรมกำลังเฟื่องฟู แต่หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงถูกประณามอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็เปลี่ยนความคิดที่มีต่อเหมา เมื่อเหมาเสียชีวิตในปี 1976 ดิฉันต้องทำเป็นก้มหน้าร้องไห้เศร้าเสียใจ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นคงโดนจัดการ ดิฉันเชื่อว่าท่ามกลางความเสียใจจริงๆ คงมีหลายคนที่คิดเหมือนกันกับดิฉัน หลังจากนั้นดิฉันก็สอบชิงทุน และโลกก็เปลี่ยนไป

หลังจากคุณแม่เดินทางมาหาตลอดหกเดือนที่อยู่ด้วยกัน คุณแม่ได้เล่าเรื่องชีวิตของคุณยายและคุณแม่ให้ฟัง เหมือนกับว่าคุณแม่อยากให้เข้าใจชีวิตของแม่ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งดิฉันอัดเทปเอาไว้ตลอดหกเดือนที่คุณแม่เล่า และนั่นทำให้ดิฉันตระหนักว่าอยากจะเป็นนักเขียน ดิฉันมีเรื่องราวของ Wild Swans อยู่ในความคิดตลอดเวลาเลย ขณะที่ฟังเรื่องราวจากคุณแม่”

หนังสือจางหรง

หลังจาก Wild Swans ประสบความสำเร็จทั่วโลก ‘Mao : The Unknown Story’ ที่เธอทำงานร่วมกันกับสามีนักประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น และกลายเป็นหนังสือเล่มดังที่เปิดโปงและปอกเปลือกชีวิตของเหมา เจ๋อ ตง Jung Chang เล่าว่าการทำงานเล่มนี้ยากที่สุดในทุกเล่ม เพราะในชีวิตของเหมามีเรื่องปิดบังอำพรางมากมาย และหอจดหมายเหตุรัสเซีย กลายเป็นแหล่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่เธอค้นพบ

“การทำงานประวัติศาสตร์กระแสรองจะทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นนักสืบ” เธอกล่าวพลางหัวเราะ

“อย่างเรื่องของเหมาจะยากมาก เพราะมีการปิดบังค่อนข้างเยอะ ต้องขุดค้น แต่สามารถหาหลักฐานต่างๆ ได้ที่หอจดหมายเหตุของรัสเซีย บางครั้งต้องอ่านหนังสือเป็นพันๆ เล่ม เพื่อที่จะเอาข้อเท็จจริงแค่นิดเดียว แล้วก็สัมภาษณ์ผู้คนในยุคนั้นว่าตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเข้ามา เขาต้องพบเจออะไรด้วยความรู้สึกอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลทั้งหมดที่ดิฉันค้นคว้ามาเขียนชีวประวัติของเหมา เจ๋อ ตง ดิฉันคิดว่าชายผู้นี้สร้างความเสียหายให้ผู้คนไม่น้อยกว่าสตาร์ลินหรือฮิตเลอร์เลย และถ้าสังเกตจะเห็นว่าทุกเล่มที่ดิฉันเขียน จะเป็นช่วงที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมจากยุคหนึ่งไปอีกยุคหนึ่งเสมอ เพราะทุกอย่างมีเหตุและผลของกันและกัน ”

ในขณะที่ ‘Empress Dowager Cixi : The Concubine Who Launched Modern China’ นั้น Jung Chang กล่าวว่าเธอนำเสนอพระนางซูสีไทเฮาอีกมุมที่ไม่ใช่ปีศาจอย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนสร้างขึ้น ตรงกันข้ามนี่คือผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างจีนยุคใหม่ขึ้นมา

“แม้แต่การ์ดที่พระราชวังฤดูร้อน ยังรังเกียจพระนางเลย ดิฉันรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่ใครจะถูกมองและให้คุณค่าแค่ด้านเดียว ดีมากๆ ที่หอจดหมายเหตุในพระราชวังฤดูร้อนมีหลักฐานมากมายและมีนักวิชาการหลายท่านที่สนใจเรื่องนี้ให้ดิฉันได้แลกเปลี่ยน ถ้าจะยากก็เป็นเรื่องของภาษาเพราะเป็นภาษาเขียนแบบโบราณที่ดิฉันจะต้องศึกษาเพิ่มเติม”
Jung Chang อธิบายว่าสิ่งที่เธอทำนั้น อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกที่ว่า “อยากให้เกิดความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์”

“ยิ่งดิฉันอ่านมาก ค้นมาก ดิฉันก็ยิ่งรู้สึกประหลาดใจกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพราะสิ่งที่ค้นเจอกับเรื่องเล่าในกระแสหลักเป็นคนละด้านกันในหลายครั้ง หลายอย่างไม่ตรงกับความจริง โดยเฉพาะความจริงที่ผู้คนประสบพบเจอด้วยตัวเอง สำหรับดิฉันแม้จะเข้าใจได้ว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักบนโลกนี้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดและเพื่อใคร แต่ถ้าเรามองตามความจริงที่เป็นข้อเท็จจริง การเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้คือขยะ ซึ่งทุกสังคมทุกประเทศมีเหมือนกันหมด ดิฉันเลยหวังว่าจะให้งานที่ดิฉันค้นคว้ามาสามารถช่วยสร้างความยุติธรรมตรงนี้ให้เกิดขึ้นได้บ้าง”

แต่สิ่งที่เธอทำ รัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง Jung Chang ในวัย 64 ปี ที่กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำวิจัยและเขียนเกี่ยวกับชีวิตของ “มาดามซุ่งชิงหลิง” อดีตสตรีหมายเลข 1 ของจีนที่เคียงข้างซุนยัดเซนมาโดยตลอด จึงถูกห้ามแสดงความเห็นทางการเมืองในจีนอย่างเด็ดขาด เมื่อเดินทางไปเยี่ยมคุณแม่วัย 90 ปี หรือหาข้อมูลทำวิจัย

“ดิฉันหวังว่าวันหนึ่งหนังสือจะไม่ถูกแบนในจีน เพราะสิ่งที่ดิฉันทำเป็นแค่การค้นหาความจริงในอดีตเท่านั้น”

ความจริงในอีกมุมที่ไม่ควรมองผ่าน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image