‘Moonlight’ VS ‘Manchester by the Sea’ 2 หนังดราม่า ตัวเต็งออสการ์ 2017

ถูกยกให้เป็นหนังที่น่าจับตามองด้วยกันทั้งคู่ สำหรับ “Moonlight” และ “Manchester by the Sea” ที่เข้าโรงบ้านเราพร้อมกันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะนอกจากเรียกเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ได้มากมาย ยังตระเวนกวาดรางวัลจากเวทีมาแล้วทั่วโลก รวมถึงในเวทีออสการ์ครั้งที่ 89 ประจำปี 2017 ด้วย

โดย Moonlight เป็นเรื่องราวของ “ไชรอน” หนุ่มผิวสีชนชั้นล่างในเมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา ที่พยายามค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ และพื้นที่ของตัวเองบนโลกแห่งนี้ ท่ามกลางสังคมแอฟริกัน-อเมริกันที่ผู้ชายต้องมาดแมน แข็งแกร่ง ทว่าตัวตนของเขากลับ “แตกต่าง”

หนังแบ่งเรื่องราวเล่าเป็น 3 ช่วงตามวัย ช่วงแรก “ลิตเติ้ล” ชีวิตของ ไชรอนตอนเด็ก (อเล็กซ์ อาร์. ฮิบเบิร์ต) ที่มักถูกเรียกขานด้วยคำนี้แทนชื่อ เพราะความที่ตัวเล็ก เงียบๆ ไม่ค่อยพูด ไม่สู้คนจนถูกรังแกต้องหนีหัวซุกหัวซุนอยู่บ่อยๆ แต่นั่นทำให้เขาได้พบกับ ฮวน (มาเฮอร์ชาลา อาลี) ผู้เข้มแข็งและมีความเป็นชายอย่างเต็มเปี่ยม โดยฮวนยังมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้กลายเป็นไชรอนในตอนโตด้วย

“ไชรอน” เป็นบันทึกชีวิตช่วงวัยรุ่นที่ แอชตัน แซนเดอร์ส รับบท ส่วนนี้จะเน้นหนักกับ “ความต่าง” ของเขาที่มักถูกเพื่อนล้อเลียนกลั่นแกล้ง รวมไปถึงการรับมือกับแม่ขี้ยา ดีที่ยังมีเพื่อนสนิท เควิน (จาร์เรลล์ เจอโรม) ไว้พูดคุย และด้วยความเป็นเพื่อนคนเดียว แถมมีความรู้สึกดีๆ ให้ด้วย พอต้องเจอเหตุการณ์น่าผิดหวังจึงนำไปสู่จุดเปลี่ยน

Advertisement

ปิดท้ายด้วยส่วนของ “แบล็ก” ไชรอนวัยผู้ใหญ่ (เทรวานเต้ โรดส์) หลังจากย้ายไปอยู่จอร์เจีย เขากลายเป็นชายหนุ่มรูปร่างกำยำ ลีลายียวนข่มคนอื่น ชอบเพลงฮิพฮอพ ใส่ฟันทอง สวมสร้อยทองเส้นใหญ่ๆ สะท้อนภาพลักษณ์คนดำผู้แข็งแกร่ง ไม่เหลือเค้าคนอ่อนแอแม้แต่น้อย กระทั่งการกลับมาพบกันกับเพื่อนเก่าที่ไม่เคยลืม ดูเหมือนไชรอนผู้ขี้อายจะกลับมาอีกครั้ง

20151116_015419_Moonlight_D25_0375.tif
20151116_015419_Moonlight_D25_0375.tif

และเมื่อทั้ง 3 ช่วงมาร้อยเกี่ยวกันโดมีการลำดับภาพ และดนตรีกระแทกกระทั้นอารมณ์ความรู้สึกเข้าช่วยก็ไม่แปลกใจว่าทำไม “Moonlight” จึงคว้ารางวัลลูกโลกทองคำครั้งล่าสุด ครั้งที่ 74 ในสาขาภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยม เพราะแต่ละช่วงวัยของเขาล้วนมี “ความยาก” ในการก้าวผ่านทั้งนั้น

ตอนเด็ก ต้องเอาตัวรอดจากการถูกรังแก

Advertisement

ตอนวัยรุ่น ต้องตัดสินใจว่าจะลุกขึ้นสู้กับความกลัวและยอมรับในความต่างของตัวเอง หรือจะเป็นฝ่ายแพ้ตลอดไป

ตอนโต ต้องละทิ้งตัวตนเพื่อให้กลายเป็นผู้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ยังสะท้อนสังคมอเมริกันที่คล้ายจะเปิดกว้างให้กับทุกเชื้อชาติ แต่ในความจริงแล้วก็ยังมีการเหยียดกัน แล้วยิ่งเป็นคนผิวสีที่มีความต่าง แม้แต่คนในกลุ่มด้วยกันเองยังไม่ยอมรับ ยิ่งยากลำบากเข้าไปอีก นี่ยังไม่นับ

เมื่อประเด็นน่าสนใจ รวมกับการตัดภาพให้ลุ้นได้ตลอดเรื่อง โดยมีดนตรีประกอบกระแทกกระทั้นความรู้สึก

ถึงอย่างนั้นต่อให้ชีวิตจะยากลำบากแค่ไหน หรือถูกสังคมมองอย่างไร แต่ทุกครั้งที่อยู่ใต้แสงจันทร์ แล้วแสงกระทบผิวสะท้อนออกมาเป็นสี ไม่ว่าสีน้ำเงิน แดง ฯลฯ “ไชรอน” ก็จะได้กลายเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลใดๆ

ตราบใดที่ค่ำคืนมืดมิดยังมีแสงสว่างจากพระจันทร์ คนที่ถูกสังคมมองว่าแตกต่างก็ยังมีพื้นที่ให้ยืนเสมอ

ส่วน Manchester by the Sea หรือชื่อภาษาไทยว่า แค่…ใครสักคน ของ เคนเนธ โลเนอร์แกน เล่าเรื่องราวของ “ลี แชนด์เลอร์” ที่หนีจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตเพียงลำพังอยู่ในบอสตัน แต่จำใจต้องกลับมาแมนเชสเตอร์เพื่อดูแล “แพทริค” หลานวัย 16 ปี หลังพี่ชายของเขาจากไปอย่างกะทันหัน แม้ว่าจะไม่เต็มใจเท่าไรนักแต่เขาก็พยายามปรับตัวเพื่อเป็นอาที่ดี ในขณะที่ตัวเขาเองต้องเผชิญหน้ากับความทรงจำอันแสนเจ็บปวดในอดีตที่กลายเป็นตราบาปในชีวิต

แมนเชสเตอร์ บาย เดอะ ซี 1

หากจะให้เปรียบเทียบ Manchester by the Sea ก็คงเหมือนกับท้องทะเลที่ก่อนพายุใหญ่จะมาคลื่นลมมักเงียบสงบ มันนิ่งจนเราวางใจ แต่รู้ตัวอีกทีทุกอย่างก็แหลกสลายภายในพริบตา
เพราะการเล่าเรื่องของหนังเป็นไปอย่างไม่รีบร้อน ไม่ซับซ้อน ไม่หวือหวา จนออกจะนิ่งเกินไปเสียด้วยซ้ำ ซึ่งน่าแปลกใจที่แม้ไม่มีจังหวะบีบคั้นเรียกน้ำตาเหมือนหนังประเภทเดียวกัน แต่ตลอดเวลาที่รับชมกลับสัมผัสได้ถึงความเศร้าที่วนเวียนอยู่ตลอดเวลา

ความราบเรียบของหนังทำให้เราค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกของตัวละครที่ต่างก็ต้องเผชิญกับการสูญเสีย โดยเฉพาะ “ลี” ที่ถูกโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายในอดีตเปลี่ยนตัวเขาจากชายหนุ่มร่าเริงเพื่อนเยอะ เป็นคนหยาบคาย อารมณ์ร้อนและมีปัญหากับการเข้าสังคม

โดยตลอดเวลา แม้ลีจะดูเย็นชาจนเหมือนคนไร้ความรู้สึก แต่ข้างในจิตใจของเขานั้นแสนจะทรมานและเจ็บปวดอย่างที่สุด เพราะไม่สามารถที่จะระบายออกมาได้ ไม่สามารถที่จะสลัดทิ้งความรู้สึกผิดไปได้ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นเพราะความไม่ตั้งใจ

เมื่อตัวละครดำเนินมาถึงจุดที่แบกรับไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ความรู้สึกต่างๆ ของเขาจึงเหมือนภูเขาหิมะถล่ม ไม่ต่างกับคนดูที่ถูกคลื่นทะเลซัดจนเสียหลัก

ซึ่ง เคซีย์ แอฟเฟล็ก ก็แสดงออกมาได้เจ็บปวดอย่างเหลือเชื่อ เขาสามารถถ่ายทอดความซับซ้อนทางความรู้สึกของลีได้อย่างเป็นธรรมชาติและเข้าถึง จนส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ 2017 และ Critics’ Choice Awards ครั้งที่ 22 มาครอง

แม้ว่าในท้ายที่สุด เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของลี แต่เราก็เข้าใจถึงเหตุผลที่เขาทำแบบนั้น เพราะบางครั้งชีวิตของมนุษย์ก็ตลกร้ายอย่างคาดไม่ถึง มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลบล้างเรื่องราวในอดีต

แต่สำคัญที่ต้องเดินต่อไปให้ได้ และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดพลาดอีกครั้ง

เห็นแล้วคอหนังดราม่าคงตัดสินใจเลือกยากว่าจะเชียร์ฝั่งไหน ไม่อย่างนั้นก็เทใจให้ทั้งคู่ไปเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image