เปิดห้องสมุด ‘Em space’ พื้นที่ในฝันของคนรักหนังสือ

em space เอมสเปซ

ลืมภาพห้องสมุดแบบเดิมๆ ไปได้เลย เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในพื้นที่ของ “เอม สเปซ (Em space)”

บ้านสีขาวหลังใหญ่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่กำลังระบัดใบสีเขียวสด เด็กสาวนอนเอกเขนกอ่านหนังสืออยู่บริเวณสนามหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่ เปิดประตูแล้วมองเข้าไปในตัวบ้านที่กลายเป็นห้องสมุดน่ารัก ก็เห็นเด็กๆ กำลังนั่งล้อมวงอ่านหนังสือและกินขนมด้วยกัน

Em space เป็นห้องสมุดที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรักหนังสือ ทุกคนที่เข้ามาที่นี่สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความสุข ความสนุก ความสดใส ราวกับกำลังนั่งอ่านหนังสือและทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในบ้านของตัวเองหรือคนคุ้นเคย

จุดเริ่มต้นของ Em space ห้องสมุดที่มากกว่าห้องสมุดนี้ มาจากแนวคิดของ “ศรรวริศา เมฆไพบูลย์” ซึ่งนอกจากจะเคยทำงานในองค์กรที่หลากหลาย ทั้งเอกชน สถานทูต รัฐวิสาหกิจ และราชการ ยังเป็นทั้งนักอ่าน นักแปล และบรรณาธิการสำนักพิมพ์

Advertisement

วนเวียนอยู่กับหนังสือมากเป็นพิเศษ ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะกลายเป็นเจ้าของห้องสมุด Em Space อีกอย่าง

“จริงๆ มีไอเดียนานแล้วค่ะ แต่ช่วงที่ทำงานประจำ วางแผนว่าเอาไว้หลังเกษียณ พอมีจังหวะเปลี่ยนงานและตัดสินใจว่าจะทำงานแปลที่บ้าน ไอเดียนี้เลยกลับมา ประกอบกับหลังผ่านประสบการณ์ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เราได้เห็นว่าหนังสือที่เรามั่นใจว่าเก็บได้นานนี่มันไม่จริงเลย เจอน้ำแป๊บเดียวก็ไปแล้ว เจอความชื้นก็ราขึ้น ถ้ามีโอกาสทำอะไรตอนนี้ได้ ทำเลยดีกว่า จึงได้ตัดสินใจทำค่ะ” ศรรวริศาเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มสดใส

ชื่อของเอม สเปซ (Em space) มาจากศัพท์ในการออกแบบสิ่งพิมพ์ หมายถึงวรรคใหญ่ (En space คือวรรคเล็ก) ศรรวริศาบอกว่าตัวเองโตมาจากสายสิ่งพิมพ์ เมื่อมาทำห้องสมุดเลยคิดว่าชื่อนี้น่าจะเหมาะ ประกอบกับเสียงในภาษาไทยก็อ่านง่าย ความหมายดี เอมใจ เอมตา อิ่มเอม

Advertisement

“อยากให้เอม สเปซ เป็นพื้นที่สบายๆ ที่มาพักผ่อน เว้นวรรคจากความเครียด จากงาน จากเรื่องยุ่งๆ มาที่นี่แล้วเอมใจกลับไป อยากทำห้องสมุดสำหรับชุมชนที่เราอยู่ อยากได้ห้องสมุดที่เป็นมิตร ไม่เป็นทางการ แข็งๆ เกร็งๆ เปิดปิดแบบราชการที่ไม่เอื้อกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ แต่เรายังมองไปไกลกว่าการอ่านหนังสือด้วย เราอยากสร้างพื้นที่กิจกรรมที่มีคุณภาพ เพราะแถวนี้ไกลเมืองพอสมควร รถติด รถสาธารณะก็ไม่มาก ตัวเราเองบางครั้งอยากไปงานนั้นงานนี้ก็ไม่ได้ไป เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่กิจกรรมแถวนี้ก็น่าจะดี เราจึงตั้งชื่อโดยเน้นความเป็นพื้นที่มากกว่าห้องสมุด แต่ที่เริ่มจากหนังสือเพราะเป็นสิ่งที่เรามี เป็นสิ่งที่จับต้องง่าย และน่าจะเชื่อมโยงกับคนที่คิดคล้ายกันได้ดี”

em space เอมสเปซ
em space เอมสเปซ

ศรรวริศายังบอกด้วยว่า ความหมายของห้องสมุดสำหรับเธอนั้น คือห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลาย บรรยากาศสบาย เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามา ปลอดภัย ไม่ต้องระวังกระเป๋าตลอดเวลา มาแล้วมีเพื่อน และเวลาเบื่อๆ ก็มีกิจกรรมให้ทำบ้าง หรือถ้าอยากจัดกิจกรรมอะไร ก็ชวนเพื่อนมาใช้พื้นที่ได้ เธอจึงอยากให้เป็นเหมือนศูนย์ชุมชนเล็กๆ

“ฟังก์ชั่นคงไม่ต่างจากห้องสมุดที่มีอยู่ อาจจะต่างในรายละเอียด เช่น บรรยากาศ กฎระเบียบที่หย่อนลง ให้นอนได้ วิ่งได้ เล่นได้ และบรรณารักษ์ที่อาจไม่เก่ง และดังนั้นจึงไม่ดุ อย่างบรรณารักษ์จริงๆ ทุกวันนี้ บางครั้งคุณแม่มานั่งอ่านหนังสือในลูกตัวเองฟัง ก็จะมีลูกคนอื่นมานอนฟังขอแจมด้วย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่อยากเห็น เป็นภาพที่น่ารักดี”

ดังนั้น การแบ่งพื้นที่ของ Em space จึงมีความหลากหลาย โดยหลักจะมีห้องสมุด ซึ่งเปิดให้อ่านหนังสือได้ฟรี ข้างในมีมุมทำงาน มีมุมเด็กให้นอนกลิ้งหรือเล่นเกมได้ พื้นที่ด้านนอก ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านมีที่นั่งเล่น ทั้งเสื่อ โต๊ะเก้าอี้ เตียงผ้าใบ ให้เลือกตามอัธยาศัย จะนำหนังสือในห้องสมุดมาอ่านก็ได้ หรืออ่านหนังสือของตัวเองก็ได้ นอกจากนี้ยังมีบ่อปลา ให้อาหารปลาได้ มีชิงช้า มีบ้านต้นไม้ให้ปีนป่ายเล่น และถ้าหิวก็มีครัวเล็กๆ ให้สั่งขนมเครื่องดื่ม ซึ่งรายได้จากอาหารเล็กๆ น้อยๆ นี้จะใช้ในการหล่อเลี้ยงห้องสมุด

“เหตุผลที่จัดพื้นที่หลากหลายแบบนี้ เพราะเราคิดว่าคนมาห้องสมุดส่วนใหญ่คงไม่อยากอ่านหนังสือเงียบๆ ตลอดเวลา อาจจะอยากคุย เมาธ์ เล่น งีบสักแป๊บ หรือกินขนมอร่อยๆ ไปอ่านหนังสือไป หรือบางคนอาจมากับคนที่ไม่ชอบอ่าน ถ้ามีมุมนั่งเล่นหรือมีกิจกรรมอื่นๆ บ้าง คนที่ชอบไม่เหมือนกันก็จะใช้เวลาด้วยกันได้ หาจุดพอใจของตัวเองและอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องมีใครถูกทิ้ง ไม่ว่าจะข้างในหรือข้างนอก

Em space มี tag line ว่า a library and more คือเราอยากเป็นห้องสมุดและมากยิ่งกว่า เพราะเราไม่ได้มีแค่ห้องสมุด ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายอย่างที่บอกแล้วว่า ด้วยไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน คนไม่ได้อยากอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องการอาหารอร่อย จัดวางสวย เครื่องดื่มเก๋ๆ บรรยากาศดีๆ มุมถ่ายรูปชิคๆ ทั้งหมดนี้เราทำเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการ และในทางกลับกัน นี่ก็คือมูลค่าเพิ่มที่ทำให้เราพออยู่ได้ สามารถทำห้องสมุดให้เข้าฟรีได้โดยพอมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงให้คนที่ช่วยงานบ้าง และถ้าเราไหว ก็อาจนำไปจัดกิจกรรมที่จะเอื้อให้ห้องสมุดมีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คนอยากมาเป็นชุมชนกับเรามากขึ้น

คนเข้าใช้ห้องสมุดจริงๆ มาอ่านหนังสือจริงจังคงไม่มาก ต้องยอมรับแบบแมนๆ ค่ะว่าการอ่านไม่ใช่กิจกรรมยอดฮิตของคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งทุกวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ แต่ถ้าคนมาห้องสมุดแล้วไม่เบื่อ ไม่ต้องพับเพียบเรียบร้อย มาคุยได้ เล่นเกมได้ มีเวิร์กช็อปให้ทำ มีเสวนาให้ฟัง มีเพื่อนให้เจอ มาแล้วไม่เหงา แถมได้ความคิดดีๆ กลับไป คนก็น่าจะอยากมามากขึ้น ถ้ามีหนังสือดีๆ มาแนะนำในบรรยากาศแบบนี้ คนน่าจะอยากอ่านไปเอง”

em space เอมสเปซ
em space เอมสเปซ

Em space เปิดมากว่า 4 เดือนแล้ว โดยจะเปิดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ หนังสือในห้องสมุดส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ศรรวริศาและครอบครัวอ่าน ช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่จะเป็นแนวนวนิยาย วรรณกรรมแปล เรื่องสั้น สารคดีท่องเที่ยว ชีวประวัติ สังคม วัฒนธรรม และเมื่อเริ่มทำห้องสมุดจริงจัง เพื่อนๆ ก็ส่งหนังสือมาเพิ่มเติม จำนวนและขอบเขตของหนังสือจึงกว้างขึ้นตามลำดับ ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวและกลุ่มวัยรุ่น ส่วนหนึ่งก็มาจนคุ้นหน้ากันแล้ว

เมื่อถามถึงความคาดหวังในการเติบโตของ Em space ศรรวริศาบอกว่าส่วนตัวแล้วไม่ได้คาดหวังถึงอนาคตเลย แต่ถ้าถามถึงจินตนาการตอนนี้นั้น ก็อยากให้ Em space เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่คนเลือกมาหรือนึกถึงเมื่อมีเวลาหรือเมื่ออยากจะพัก

“เริ่มจากมาใช้เวลากับตัวเอง กับครอบครัว กับเพื่อนฝูง จากนั้นถ้ามันแข็งแรงพอจะทำให้เขาได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมี ก็น่าจะทำให้ชุมชนมีพลังเล็กๆ ที่นอกจากจะทำให้รังสิตน่าอยู่ขึ้นแล้ว ถ้ามีปัญหาอะไร เราก็ยังมีที่รวมพลและร่วมกันทำอะไรบางอย่างได้ ไม่โดดเดี่ยวอย่างที่ผ่านๆ มา อาจจะเพื่อพวกเราเองหรือเพื่อคนอื่นๆ เท่านี้ก็ดีใจแล้วค่ะ”

“แต่ต่อให้ไม่เป็นอะไรไปมากกว่านี้ แค่เป็นห้องสมุดที่มีคนมาและไม่ขาดทุน ก็พอใจมากแล้ว”

———

Em space ตั้งอยู่บนถนนรังสิต-นครนายก (คลองสอง) และในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 14.00-16.00 น. จะมีกิจกรรมเปิดห้องสมุดที่ร้านหนังสือก็องดิด ร่วมจัดเสวนา You are what you read แลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่าน โดย โตมร ศุขปรีชา, โมน สวัสดิ์ศรี, ปอ เปรมสำราญ ,ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง และศรรวริศา เมฆไพบูลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image