กรมศิลป์แจงแล้ว โบกปูนยักษ์วัดอุโมงค์ ยึดตามแบบศิลปะโบราณ ไม่ได้ดีไซน์เอง
วันที่ 10 มิถุนายน จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การซ่อมแซมประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ในศิลปะล้านนา อายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยการปั้นพอกปูนทับยักษ์โบราณ คล้ายปั้นใหม่ขึ้นทั้งหมดสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนั้น
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ว่า วัดอุโมงค์เป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนศรัทธาไปกราบไหว้ และในวัดมีประติมากรรมรูปยักษ์อยู่ 2 ตนซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด ทางจังหวัดเชียงใหม่ จึงหารือกับกรมศิลป์ฯเพื่อบูรณะประติมากรรม กรมศิลป์ฯ จึงตั้งงบในการบูรณะยักษ์ 2 ตนนี้ โดยวิธีที่ใช้บูรณะมีให้เลือก 2 ลักษณะ ซึ่งก่อนเข้าไปบูรณะ เราได้เข้าไปสำรวจสภาพก่อนพบว่า ปูนที่ปั้นเป็นยักษ์มันชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาหรือจากเหตุผลใดๆ ก็ตาม ปรากฏเป็นเม็ดทราย เม็ดกรวดที่ออกมาจากปูน
“หากจะใช้การบูรณะแบบดั้งเดิมก็ได้ แต่เดี๋ยวตัวปูนจะมีโอกาสที่จะเสียหายอีก วิธีการบูรณะที่ 1 คือ บูรณะโดยที่ไม่ต่อเติมอะไร ส่วนวิธีที่ 2 คือ เราใช้วิธีการพอก หรือปั้นเติมเข้าไปบนโครงสร้างเดิมของตัวยักษ์ ซึ่งวิธีนี้ผลพลอยได้คือจะป้องกันตัวชั้นปูนเดิมด้วย และทำให้รูปยักษ์สมบูรณ์ คือไม่อยู่ในสภาพที่กลายเป็นสิ่งปรักหักพัง
แต่ในการทำวิธีนี้จะต้องมีการศึกษารูปแบบศิลปกรรมเดิมก่อน หากมีหลักฐานไม่เพียงพอจะไม่สามารถทำวิธีนี้ได้ ทางกรมศิลป์จึงได้จ้างช่างท้องถิ่นที่เป็นช่างฝีมือที่เหมาะสมเข้ามาบูรณะ โดยที่ได้หารือกับทางจังหวัดแล้วว่าจะใช้วิธีที่ 2 เพราะว่าวัดยังเป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีผู้ศรัทธาอยู่มาก และวิธีนี้ทำโดยผ่านการพิจารณาเรื่องรูปแบบศิลปกรรมก่อน” นายพนมบุตรกล่าว
นายพนมบุตรกล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง พระอจนะ วัดศรีชุม ซึ่งเป็นประติมากรรมที่เคยอยู่ในสภาพปรักหักพังและมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ และการใช้วิธีที่ 2 นั้นไม่ได้เป็นวิธีที่ง่ายไป ส่วนวิธีที่ 1 คือ การบูรณะอนุรักษ์แบบเดิมนั้นง่ายกว่า ซึ่งจะเป็นการทำความสะอาด เสริมความมั่นคงแข็งแรงในจุดที่เสียหาย
“วิธีที่เราใช้มันเป็นการทำให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำโดยอ้างอิงศิลปะเก่า เช่น การเติมกระบอง หรืออะไรก็ตามมีหลักฐานปรากฏอยู่ที่มือยักษ์ ซึ่งหลังหารือ ทางจังหวัดก็อยากให้ดูสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่การทำครั้งนี้เป็นการทำโดยผ่านกระบวนการศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่ทำยักษ์เก่าให้เป็นยักษ์ใหม่ แต่เป็นการทำยักษ์เก่าให้สมบูรณ์ตามศิลปะแบบเดิม
ฉะนั้นเรื่องนี้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมอยากจะบอกว่าในการบูรณะครั้งนี้เราได้บันทึกหลักฐานและขั้นตอนต่างๆ เอาไว้และเอกสารในการบูรณะครั้งนี้ก็จะถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุเชียงใหม่ด้วย ฉะนั้นอีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้าก็จะปรากฏหลักฐานว่าในปีนี้มีการบูรณะแบบนี้ ด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุผลนี้ เกิดขึ้น” นายพนมบุตรกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งกรมศิลปากรซ่อมยักษ์ล้านนา โบกปูนทับใหม่เอี่ยม วัดได้แต่มอง