ศิลปากรเชียงใหม่ แจงบูรณะ รูปปั้นยักษ์ ทำตามหลักวิชา เผยอายุแท้จริงประติมากรรม ยันไม่ถึง 400 ปี

ศิลปากรเชียงใหม่ แจงบูรณะ รูปปั้นยักษ์ ทำตามหลักวิชา เผยอายุแท้จริงประติมากรรม ยันไม่ถึง 400 ปี
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ความคืบหน้าหลังเกิดกระแสดราม่า กรณีอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิพากษ์วิจารณ์การซ่อมแซมประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ในศิลปะล้านนา อายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยการพอกปูนทับจนองค์ยักษ์กลายเป็นสีขาว

ต่อมาพระครูสมุห์ บุญเลิศ ชยวํโส เจ้าอาวาส ให้ข้อมูลว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานกรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบและซ่อมแซม หลังเดินทางมาเยี่ยมชมวัดเมื่อปลายปี 2566 และพบว่าประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ที่เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ บริเวณเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก

ล่าสุด นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประเด็นดราม่าที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีการนำภาพปูนปั้นยักษ์ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ก่อนและหลังบูรณะซึ่งเป็นคนละองค์มาเปรียบเทียบกันจนสังคมเข้าใจผิดว่าบูรณะผิดเพี้ยน หน้าตาและเครื่องประดับไม่เหมือนเดิม และประเด็นที่ระบุว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สั่งให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เข้าไปบูรณะ

ข้อเท็จจริงคือ ผู้ว่าฯเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดอุโมงค์เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2566 และไปพบว่าปูนปั้นยักษ์ที่เฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าพระธาตุชำรุดทรุดโทรม จึงประสานให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เข้าไปสำรวจว่าสามารถบูรณะซ่อมแซมได้หรือไม่ เพราะวัดดังกล่าวมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางมาเยี่ยมเยือนจำนวนมาก เกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ที่พบเห็น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ หลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ก็พบว่าประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ทรุดโทรมจริง จึงวางแผนการบูรณะ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ บูรณะโดยการอนุรักษ์รักษาสภาพ หรือบูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ แต่เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจ และหลงเหลือองค์ประกอบของศิลปกรรมค่อนข้างมาก จึงพิจารณาบูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้โบราณสถานอยู่ได้นานอีกหลาย 10 ปี เพราะรูปปูนปั้นยักษ์ตั้งอยู่กลางแจ้ง ส่วนพื้นที่วัดตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพมีสภาพป่าดิบชื้น

“ยืนยันว่าการบูรณะเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ได้ใช้ปูนพอกองค์ยักษ์ แต่ใช้น้ำปูนไล้ผิวบางๆ เพราะผิวเดิมมีความพรุนจนเสื่อมสภาพ เนื้อปูนมีรอยแตกจนน้ำซึมเข้าไป สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างด้านในไม่สามารถรักษาสภาพเดิมไว้ได้ รวมทั้งมีเชื้อราดำ และวัชพืชตระกูลตะไคร่น้ำขึ้นเกือบทั้งองค์ หากยังรักษาสภาพเดิมไว้ไม่นานปูนปั้นยักษ์ก็จะชำรุดทรุดโทรมเพิ่ม โบราณสถานก็เหมือนคนป่วย แนวคิดง่ายๆ หากเราเป็นหมอมีทางรักษาให้กลับมาแข็งแรงสมบูณ์ได้อีกครั้ง ผมก็จะเลือกแนวทางนี้ในการบูรณะ” นายเทอดศักดิ์กล่าว

ADVERTISMENT

นายเทอดศักดิ์กล่าวต่อไปถึงวิธีการบูรณะว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม หรือศิลปกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด ตามคติความเชื่อประติมากรรมปูนปั้นยักษ์แบบลอยตัวทวารบาล เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ เพื่อปกปักรักษาคุ้มครองและมีอาวุธประจำกายถือไว้ เช่น กระบอง จึงสันนิษฐานรูปแบบองค์ยักษ์ที่นั่งเฝ้าประตูทางเข้าสู่พระธาตุตามหลักฐาน และปั้นเสริมให้เต็มเพื่อให้องค์ยักษ์มีความสมบูรณ์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมตามคติความเชื่อ

สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นงานปูนปั้นที่ใช้วัสดุก่ออิฐถือปูนเป็นโครงสร้างหลัก รูปแบบทางศิลปกรรมแบบพม่า-ไทใหญ่ พบเห็นรูปแบบนี้ได้ในอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่ร่วมสมัยกัน ซึ่งประติมากรรมแบบลอยตัวรูปยักษ์สองตนนี้มีความครบถ้วนขององค์ประกอบทางศิลปกรรมหลงเหลืออยู่มากกว่า 80% การบูรณะลวดลายจึงล่อจากลายเดิมขึ้นมา มีการไล้ปูนบางๆ บนผิวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าไปสร้างความเสียหายให้โครงสร้างด้านในอีก

นายเทอดศักดิ์กล่าวต่อว่า การบูรณะองค์ยักษ์ทั้ง 2 ตนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งองค์ยักษ์จะค่อยๆ เก่าไปตามธรรมชาติ เพราะเราไม่ได้เคลือบสารกันเชื้อราไว้ ไม่อยากเสี่ยงใช้สารเคมีในการบูรณะเนื่องจากยังไม่มีผลสรุป หรือเคสตัวอย่างว่าการใช้สารเคมีในการบูรณะจะไม่ส่งผลกระทบระยะยาว จึงเลือกใช้วิธีการบูรณะแบบโบราณ แนวทางการอนุรักษ์ประเภทนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในอดีต เช่น การบูรณะภาชนะวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีกระแสดราม่าเกิดขึ้น

ทั้งนี้ จากการสันนิษฐาน ประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ที่เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ มีรูปแบบศิลปกรรมออกไปทางพม่า-ไทใหญ่ อาจได้รับอิทธิพลมาจากการที่บริษัทค้าไม้ของต่างชาติในอดีตเข้ามารับสัมปทานค้าไม้ในจังหวัดภาคเหนือเมื่อ 100 กว่าปีก่อน และนำช่างชาวพม่าเข้ามาด้วย จึงมีการผ่องถ่ายฝีมือเชิงช่าง และรูปแบบสถาปัตยกรรมของพม่า-ไทใหญ่ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเยอะ โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง จะเห็นรูปปูนปั้นยักษ์เฝ้าหน้าประตูวัดเยอะ แต่หากเป็นล้านนาแท้ๆ ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นสิงห์ หรือมอม

เบื้องต้นคาดว่าประติมากรรมปูนปั้นยักษ์มีอายุประมาณ 100 กว่าปี ไม่ถึง 400 ปี ขณะที่วัดอุโมงค์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยผัง ตั้งแต่ปี 2478 จึงต้องประเมินอีกครั้งว่าสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในผังตามแนวเขตที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ มีสิ่งก่อสร้าง หรือสถาปัตยกรรมใดเป็นโบราณสถาน และสิ่งก่อสร้าง หรือสถาปัตยกรรมใดสร้างขึ้นใหม่ภายหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image