100 เล่มรักในมือนักอ่าน… มอบ’รัก’ จากหนังสือ

“…เมื่อก่อนเราก็ชอบอ่านหนังสือให้แฟนฟังเหมือนกัน กิริยาอาการของเขาขณะที่ฟังเราอ่านทำให้เราอยากอ่านให้เขาฟังมากขึ้น แม้ว่าในวันนี้เราจะไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือให้เขาฟังอีก แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่า บางครั้งการอ่านออกเสียงดังๆ มันก็ทำให้ชีวิตมีความสุขและมีความหมายมากขึ้น อยากจะบอกว่า ‘เดอะ รีดเดอร์’ คือหนังสือที่งดงามที่สุดในชีวิตการอ่านของเรา…”

“…ความรักของ ‘เจ้าอู๊ดชิตตะกะทำเป็นรู้’ เป็นภาพการ์ตูนสะท้อนมุมมองความรักของ ‘ผู้ตกหลุมรัก’ และ ‘ผู้ถูกรัก’ ทั้งสองคนจะเจ็บ จะแสบ จะทุกข์ไปคนละแบบ อ่านแล้วขำ เพลิน ปลง ว่าความรักก็มีเนื้อหาวนเวียนให้เรียนรู้และทำความเข้าใจเช่นนี้เอง…”

“… ‘ซอยเดียวกัน’ รวมเรื่องสั้นที่รักที่สุด ของนักเขียนไทยที่รักที่สุด คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ หนังสือที่ทำให้เรารู้ว่า แค่เพียงตัวอักษรเรียงร้อยต่อกันโดยไม่มีภาพประกอบเลย ก็สามารถหยุดลมหายใจเราได้”

ประโยคที่จับใจข้างต้น ไม่ใช่รีวิวประชาสัมพันธ์จากสำนักพิมพ์ใดๆ แต่เป็นความรู้สึกบางส่วนของ ‘นักอ่าน'” ที่มีต่อหนังสือที่พวกเขา ‘หลงรัก’ และเลือกที่จะนำมาแบ่งปันกับนักอ่านคนอื่นๆ ในโปรเจ็กต์น่ารักๆ ของคนรักหนังสืออย่าง 100 เล่มรักในมือนักอ่าน

Advertisement

100 เล่มรักในมือนักอ่าน เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของแฟนเพจ ‘โลกในมือนักอ่าน’ ที่ชวนเหล่านักอ่านทั้งหลายโพสต์ภาพหนังสือเล่มที่ถือว่าเป็นตัวแทนความรักในแบบของตัวเอง พร้อมกับเล่าสั้นๆ ว่า มีประสบการณ์หรือความทรงจำอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้ และพิมพ์  ‘ประโยคทอง’ จากหนังสือเล่มที่เลือกมาด้วย

“คนที่ร่วมกิจกรรมต้องอธิบายค่ะว่าเพราะอะไรถึงประทับใจหนังสือเล่มนี้ ประโยคทองในเล่มคืออะไร เพราะเราจะนำมาจัดเป็นนิทรรศการซึ่งหนังสือที่เลือกมาต้องพิมพ์เป็นภาษาไทย และยังสามารถหาได้ตามร้านหนังสือ หรือตามท้องตลาดทั่วไปนะคะ เพราะหนังสือทั้ง 100 เล่มนี้จะถูกนำไปมอบให้กับห้องสมุดต่างๆ หลังจากเสร็จสิ้นงานนิทรรศการแล้ว” กษมา สัตยาหุรักษ์ แอดมินเพจ กล่าวด้วยรอยยิ้มกว้าง

กษมา สัตยาหุรักษ์ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเลย เธอคือผู้แปลหนังสือเรื่อง ‘A History of Reading’ โดย Alberto Manguel ซึ่งมีชื่อภาษาไทยคือ ‘โลกในมือนักอ่าน’ ซึ่ง สนพ.มติชน ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2546

Advertisement

เพราะหนังสือเล่มนี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดแฟนเพจโลกในมือนักอ่านขึ้นมากว่า 5 ปีแล้ว แม้ว่าชีวิตปกติของกษมาจะวุ่นวายกับการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังให้เวลากับแฟนเพจนี้อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้กลายเป็นแฟนเพจหนึ่งที่เว็บไซต์ Bookmoby ยกย่องว่าเป็น 1 ใน 8 เพจรีวิวหนังสือสำหรับนักอ่านตัวจริง

“หนังสือเรื่อง โลกในมือนักอ่าน แปลเมื่อปี 2546 ว่าด้วยประวัติศาสตร์สนุกๆ เกี่ยวกับการอ่านของคนอ่านหนังสือ หนังสือเล่มนี้เปิดโลกเรามากให้เรารู้จักนักเขียนนักอ่านในมุมไลฟ์สไตล์ที่เราไม่เคยรู้เลย แล้วก็ไปค้นข้อมูลมาเก็บไว้เยอะแยะ แต่ก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะว่าจะเก็บไว้คนเดียวทำไม พอเริ่มเล่นเฟซบุ๊กเราก็เข้าไปดูแฟนเพจหนังสือที่ฝรั่งทำ เลยคิดเล่นๆ ในใจว่าเราน่าจะลองทำแฟนเพจของเราดูนะ เพราะว่าเราก็มีความรู้เรื่องหนังสือพอสมควร ซึ่งชื่อโลกในมือนักอ่านเป็นชื่อที่เราชอบมาก ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ”

โลกในมือนักอ่าน จึงไม่ใช่แฟนเพจที่จะมารีวิวคุณภาพของหนังสือเล่มใดๆ เพราะกษมาตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การอ่านตามรสนิยมของแต่ละคน

“เหมือนเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งตั้งแต่แรกเลยค่ะ ว่าเราชอบอ่านหนังสือและมักประทับใจในถ้อยคำต่างๆ เลยตั้งใจจะเอามาแบ่งปันกัน เจอเรื่องราวเกี่ยวกับนักอ่าน เช่น แคมเปญรณรงค์เรื่องการอ่านของที่ไหนดีๆ ก็แปลมาแล้วเอามาลง เห็นห้องสมุดที่ไหนสวยๆ ทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรม ดีไซน์ การทำงาน ก็แปลบทความมาลง เจอบทกวีที่ไหนดีๆ ก็แปลมาโพสต์ ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของคนที่ชอบอ่านหนังสือมาช่วยกันเปิดโลกซึ่งกันและกัน ว่า โห มีหนังสือเล่มนี้ด้วยล่ะ เค้าโควตประโยคมาจากเล่มนี้ เท่ดี ชอบ ก็เลยไปตามอ่าน หรือเห็นว่ามีพื้นที่ห้องสมุดในสวนด้วย ดีจังเลย อยากให้เมืองไทยมีบ้าง แล้วหนังสือมาคุยกันจะไม่มีการตัดสินว่าดีไม่ดี เพราะการอ่านเป็นเรื่องรสนิยม หนังสือที่อ่านเป็นรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน เราตัดสินคนจากรสนิยมไม่ได้ เพราะไม่มีใครถูกไม่มีใครผิดในเรื่องนี้ ซึ่งจาก 5 ปีที่ทำมา ก็ถือว่าคนตอบรับดีมากๆ เลยนะ และเป็นพื้นที่กลางของนักอ่านได้อย่างที่เราตั้งใจจริงๆ”

และโครงการ 100 เล่มรักในมือนักอ่าน ก็กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่กลางที่ได้รับความชื่นชมและความร่วมมือจากหนอนหนังสืออย่างมาก

“นานๆ ทีจะมีกิจกรรมสักที” กษมากล่าวพลางหัวเราะ

“ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใหญ่โตอะไรเลย แค่อยากรู้ว่าตอนนี้คนอื่นอ่านอะไรกันอยู่บ้าง เลยทำกิจกรรมขึ้นมา ซึ่งคำว่า ‘100 เล่มรัก’ นี่ได้ 2 ความหมาย 1.คือจำนวน 100 เล่ม กับ 2.คือเรียงร้อยเล่มรักเข้าด้วยกัน ตอนนี้มีโพสต์มาเกิน 100 เล่มแล้ว แต่ยังเลือกได้ไม่ครบ ใครสนใจยังส่งเข้ารวมกิจกรรมกันได้นะคะ เพราะบางเล่มที่นักอ่านส่งมาอย่าง ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง เราหาซื้อตัวเล่มไม่ได้จริงๆ เพราะเราไม่ได้คิดแค่จัดนิทรรศการ แต่ตั้งใจจะเอาหนังสือพวกนี้ไปมอบให้ห้องสมุดสัก 2-3 แห่งด้วย ซึ่งจริงๆ เราไม่กล้ารบกวนใครเลย แต่มีบาง สนพ.เห็นว่ามีหนังสือเขาด้วย ก็ใจดีช่วยส่งเข้ามาให้เรานำไปจัดนิทรรศการและให้ห้องสมุด”

กษมาเล่าว่า นิทรรศการ 100 เล่มรักในมือนักอ่าน จะจัดขึ้นที่ร้านหนังสือเปิดใหม่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และหลังจัดแสดงก็จะนำไปมอบให้ห้องสมุด ซึ่งเธอตั้งใจว่าจะเป็นห้องสมุดเรือนจำ กับห้องสมุดที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน และนี่คือสาเหตุหลักที่เธอขอให้ทุกคนเขียนมาว่า เพราอะไรถึงประทับใจหนังสือเล่มนั้น เพื่อที่จะนำความรู้สึกดังกล่าวส่งต่อไปยังนักอ่านคนต่อไปๆ

“เหมือนส่งต่อความรักในหนังสือไปค่ะ เพราะจะแปะความเห็นที่แต่ละคนเล่าถึงความประทับใจของพวกเขาไว้ที่ปกหลังด้านในหนังสือแต่ละเล่ม เพื่อให้คนที่อ่านต่อไปได้รู้ว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงกลายเป็นเล่มที่ใครบางคนรักมาก ประทับใจมาก เหมือนมีเรื่องเล่าซ้อนขึ้นมาอีก และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ทำให้รู้สึกว่างั้นขออ่านหน่อยซิ หนังสือเล่มนี้ดีอย่างนั้นจริงๆ หรอ ซึ่งน่าจะสนุกกว่าเอาหนังสือมาจัดนิทรรศการกันเฉยๆ”

กษมาเล่าว่า ตั้งแต่ทำโครงการนี้มา นอกจากผลตอบรับจะดีมากแล้ว เธอยังประทับใจในความพยายามของคนเขียน และหนังสือหลายเล่มของพวกเขาก็ช่วยเปิดโลกของเธอด้วย ซึ่งก็หวังว่าจะไปเปิดโลกใหม่ๆ ให้อีกหลายคนเช่นกัน

โลกของความรักหนังสือ ที่ส่งต่อกันไปอย่างไม่สิ้นสุด

 

ขอบคุณภาพจากแฟนเพจ ‘โลกในมือนักอ่าน’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image