20 ปี 10 อธิบดีกรมศิลป์ ‘ภูพระบาท’ ซีรีส์ในตำนาน กว่าจะได้ปั๊มตรามรดกโลก

20 ปี 10 อธิบดีกรมศิลป์ ‘ภูพระบาท’ ซีรีส์ในตำนาน กว่าจะได้ปั๊มตรามรดกโลก

คนไทยเฮลั่นทั้งประเทศกันอีกหน เมื่อ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

โดยนาทีแห่งประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา มนุษยชาติได้รับรู้พร้อมกันทั่วโลกว่า Phu Phrabat, atestimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period หรือ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี’ คือมรดกล้ำค่าอีกชิ้นที่ต้องร่วมกันดูแลรักษาอย่างทะนุถนอม ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปี 2566 ที่ผ่านมา
ทว่า กว่าจะถึงวันนี้ นอกจากจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแดงสดใส ยังต้องฟันฝ่าซึ่งอุปสรรคมากมายในระยะทางยาวไกลถึง 20 ปี ผ่าน 10 อธิบดีกรมศิลปากร นับแต่ได้รับการประกาศรายชื่อใน ‘บัญชีเบื้องต้น’ (TENTATIVE LIST) จากศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ณ กรุงปารีส ตั้งแต่ พ.ศ.2547 อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้นมีนามว่า อารักษ์ สังหิตกุล กระทั่งมาปิดจ๊อบในยุค พนมบุตร จันทรโชติ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศิลป์ นับเป็นซีรีส์ขนาดยาวที่ชาวไทยร่วมรับชมกันมานาน 2 ทศวรรษ

Advertisement

หากจะเปิดไทม์ไลน์ ต้องย้อนไปเมื่อครั้งที่ภูพระบาทได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก จากศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ณ กรุงปารีส ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งตามข้อตกลงสากล ประเทศไทยต้องทำเอกสารขอเสนอเป็นมรดกโลกส่งไปยังศูนย์มรดกโลกภายใน 10 ปี สุดท้ายส่งทันแบบฉิวเฉียดเบียดเข็มนาฬิกา เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2558 ก่อนเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์ เรียกได้ว่า เหงื่อแตกพลั่กๆ

หลังจากนั้น คณะกรรมการมรดกโลกและผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรืออิโคโมส บินมาเยี่ยมสถานที่จริง ก่อนจะทิ้งคำถามให้ทีมงานไทยไปหาคำตอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น ได้แก่ 1.ความต่อเนื่อง 2.การวิเคราะห์เปรียบเทียบ 3.มรดกที่จับต้องไม่ได้ 4.การปกป้องและการจัดการ 5.การพัฒนา

Advertisement

ต่อมา มีการหารือกันอีก 1 ครั้งแล้วส่งข้อมูลกลับไป กระทั่งสุดท้ายถูก ‘ตีกลับ’ ทำข้อมูลสำคัญให้ปึ้กกว่าเดิม โดยเฉพาะงานวิจัย ขุดค้น และการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วค่อยส่งกลับไปใหม่ เพื่อเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมิถุนายน 2560 แทน

ทำเอาเข่าอ่อนทั้งคนทำงานและกองเชียร์ที่ชูป้ายไฟร่วมลุ้นมานานกว่า 10 ปี เพราะนั่นคือการ ‘ตกขบวน’ ชิงมรดกโลก 2016 ซึ่งแผนเดิมจะมีการพิจารณาและทราบผลราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559

โดยเมื่อ 10 ปีก่อน มีการถอดบทเรียนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ภูพระบาทกลายเป็นมหากาพย์แห่งความอุตสาหะที่ในขณะนั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จสักที

คำตอบ และข้อแนะนำ จาก ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร คือ ต้องเร่งประมวลสถานภาพของความรู้ โดยสิ่งที่ขาดอยู่คือ ’ฐานงานวิจัย’ เพราะสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเสนอมรดกโลกคือฐานงานวิจัยที่ลึกซึ้ง ต้องสกัดความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับภูพระบาทมารวมกันเพื่อให้เห็นว่า สถานที่ดังกล่าวมีคุณค่าต่อชุมชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“สิ่งสำคัญคือเนื้อหา ได้แก่ บริบททางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของมนุษย์ที่เชื่อมโยงว่า สรุปแล้วคนกลุ่มไหนใช้พื้นที่บริเวณภูพระบาท เขาสร้างใบเสมาตรงนี้ทำไม สัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือเปล่า หากให้คำอธิบายในเชิงบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ จารึก คติชน หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์บอกเล่าและธรณีวิทยา ก็จะทำให้เกิดพลังในการสร้างเรื่องราวให้เห็นว่าภูพระบาทมีความสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีงานวิจัยที่หนักแน่น” ศ.ดร.รัศมี กล่าวไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับปัญหาที่ บวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากรให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2557 ว่า ความล่าช้าเกิดจากการที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกให้ความเห็นว่า ต้องศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม

ถามว่า เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ของการเสนอมรดกโลกของไทยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นบ้านเชียง อยุธยา และสุโขทัย ที่คว้ามรดกโลกมาได้อย่างสง่างาม แล้วเหตุใดภูพระบาทจึงมีระดับความยากสูงเหลือเกิน

ในเวลานั้น ศ.ดร.รัศมี ให้คำตอบว่า กรณีบ้านเชียง เรามีงานวิจัยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งชี้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงถึงการใช้โลหกรรมที่เก่าแก่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอยุธยามีผลงานมากมาย ไม่ใช่เฉพาะของคนไทย แต่มีของนักวิจัยต่างประเทศที่พูดถึงความสำคัญของอยุธยาในบริบทที่เกี่ยวข้องกับโลก แสดงถึงโลกาภิวัตน์ เป็นอาณาจักรที่มีการติดต่อกับผู้คน ด้านสุโขทัยเองก็สัมพันธ์กับพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน มีสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาซึ่งเชื่อมโยงกับโลกได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญมากคือเรื่องของการดึงคุณค่าและการเขียนเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่านั้นๆ อย่างเด่นชัด รวมถึงการเชื่อมโยงกับบริบทโลกและเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการใช้เวลานานกว่า 10 ปีเมื่อนับจากปี 2547 ถึง 2559 ซ้ำยังถูกยูเนสโกขอให้เพิ่มเติมข้อมูลอีกนั้น ศ.ดร.รัศมีมองว่า อาจเป็น ‘การประเมินวิธีการประเมินของยูเนสโกผิด’ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นั่นอาจไม่ใช่ความผิดพลาด เพราะการเตรียมข้อมูลคงทำเต็มที่ แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมาก

ขณะที่รุ่นใหญ่อย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟุกุโอกะ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวิเคราะห์ปัญหาแห่งมหากาพย์อันยาวนานของภูพระบาทไว้ตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน ว่า เพราะขณะนั้น ‘กรมศิลป์ไม่รู้ความหมายของภูพระบาท’

“ที่อื่นเวลาจะส่งมรดกโลกเขามีการค้นคว้าไม่ใช่บอกว่าเก่าแก่ มีภาพสลักศิลปะโน่นนี่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหมาย ที่สู้เขาไม่ได้เพราะอย่างนี้ เวลาคนดู เขาไม่อยากดูรูปแบบ เขาอยากรู้ความหมาย ทำไมเป็นอย่างนี้ ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้จึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในภูมิภาค ดูพัฒนาการ ความเชื่อ” ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร กล่าวไว้เมื่อปี 2559

ตัดภาพมาในปัจจุบัน คือ 8 ปีให้หลัง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไฮไลต์จุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน กระทั่งชิงมงสำเร็จเรียบร้อย ด้วยการผนึกกำลังหลากหลายภาคส่วน ระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีกลุ่มงานการบริหารจัดการมรดกโลก กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม เป็นกำลังสำคัญ

โดยได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก

ใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า)

ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

ในปีงบประมาณ 2567 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนา ปรับตำแหน่งและจัดวางใบสีมาที่ทรุดเอียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม รวมถึงประกอบชิ้นส่วนของใบสีมาที่แตกให้เข้าด้วยกัน อีกทั้งปรับแต่งดินส่วนฐานล่างของใบสีมาบดอัดให้แน่น เพื่อเสริมสภาพของแหล่งให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และรองรับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image