เจาะหนังสือ 5 เล่ม คว้ารางวัล “หนังสือดีเด่น 2560”

รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2560 เพิ่งประกาศหมาดๆ ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยปีนี้มีหนังสือส่งประกวดในประเภทต่างๆ ถึง 464 เรื่อง และ สนพ.มติชน ก็สามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 5 รางวัล คือ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา (รางวัลดีเด่นประเภทนวนิยาย), อาคเนย์คะนึง (Southeast Wind of Love) โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (รางวัลดีเด่นประเภทรวมเรื่องสั้น), มันยากที่จะเป็นมลายู โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ (รางวัลชมเชยประเภทสารคดี), ชีวิตของประเทศ โดย วิษณุ เครืองาม (รางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย) และ กลับสู่โลกสมมุติ โดย รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ (รางวัลชมเชยประเภทรวมเรื่องสั้น) โดยคณะกรรมการพิจารณามี ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ

ถ้ายังจำได้บางเล่มเราเคยลงสัมภาษณ์และรีวิวหนังสือมาแล้ว แต่บางเล่มเรายังไม่เคยพูดถึงมากนัก วันหยุดนี้มาอ่านไปพร้อมๆ กันอีกสักครั้งน่าจะดี

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา

ความทรงจำของอดีต การเลือกที่จะเล่า เลือกที่จะเลือน เลือกที่จะลืม เป็นเรื่องที่วีรพรสนใจมาอย่างยาวนาน และปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งในผลงานเล่มล่าสุดของเธอ เพียงเวลาไม่นานที่นิยายเล่มนี้ออกสู่สาธารณชน ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีด้วยการตีความที่หลากหลายอย่างน่าสนใจ ผ่านเรื่องเล่าแห่งชีวิตของครอบครัวลูกจีนอพยพครอบครัวหนึ่งที่มีต้นสายตระกูลอย่าง “ตาทวดตง” ไล่ลงมาจนถึง “หนูดาว” พวกเขาพยายามตามหา “บ้าน” ที่หมายถึงทั้งสิ่งปลูกสร้างและบ้านของจิตใจให้ได้พักพิง แต่ยิ่งตามหาก็ยิ่งแปลกแยก และไม่รู้เลยว่าจะยืนหยัดเต็มสองเท้าได้บนพื้นที่ใด จะหวนกลับไปยังจุดเริ่มต้นก็ไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการเดินไปข้างหน้าด้วยหัวใจที่แหว่งวิ่น ระหกระเหินล่องลอยไปตามชะตาแห่งชีวิตที่ไม่ได้ขีดด้วยตัวเองเพียงลำพัง และแม้จะพยายามเติมเต็มสักเท่าไรก็ไม่สามารถถมทับร่องรอยของความเป็นอื่นและสถานะของคนนอกได้เลย

Advertisement

เรื่องเล่าแห่งชีวิตของครอบครัวนี้ จึงถูกเล่าคู่ขนานไปกับเรื่องราวความทรงจำที่ถูกเลือกให้เลือนหรือประวัติศาสตร์ซ่อนเร้น เป็นความทรงจำที่คลุมเครือมัวซัว จนแทบไม่รู้เลยว่าอะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งสมมุติแห่งจินตนาการ

อาคเนย์คะนึง (Southeast Wind of Love) โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์

รวมเรื่องสั้นล่าสุดของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ เจ้าของผลงาน “ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ” ที่เล่มนี้มาในธีม “เรื่องเล่าหวนคะนึงถึงอาคเนย์” อนุสรณ์บอกไว้ว่าอาคเนย์คะนึงพูดถึงสิ่งเรียบง่ายอย่าง “ความรัก”

ความรักจำนวนมากที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินทิศตะวันออกเฉียงใต้แห่งทวีปเอเชีย ความรักในเสียงเพลงโบราณที่ใครต่อใครหลงลืมไป ความรักระหว่างชายคนหนึ่งกับเชือกของเขา ความรักอันลุ่มหลงของชายหนุ่มกับตำราโบราณ ความรักในรูปถ่ายเก่าของญาติอาวุโสผู้ล่วงลับไปแล้ว ไม่นับความรักระหว่างลูกกับผู้เป็นแม่ที่เขาไม่เคยค้นพบมาก่อน อาคเนย์คะนึง เป็นเรื่องราวความรักและความรู้สึกเช่นนั้นเอง

เพราะภูเขา แม่น้ำ และทะเล ไม่ได้แยกพวกเราออกจากกัน หากแต่เชื่อมหลอมวิถีชีวิตเราร่วมกัน แผ่นดินที่ยึดติดชาวอุษาคเนย์ยังเป็นภาพที่งดงามและน่าสนใจเสมอ อาคเนย์คะนึง จึงชวนผู้อ่านให้ค่อยๆ ละเลียดโศกนาฏกรรมความรักเศร้าจับจิต ก่อนขยับสู่ความอีโรติกอย่างนิ่มนวล บางเรื่องชวนให้อยากจิบเบียร์เย็นๆ สักขวด ด้วยฉากและบทสนทนาอันแสนเปลี่ยวเหงานั่นเอง

มันยากที่จะเป็นมลายู โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

หนังสือเกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์ ที่ปรับปรุงขึ้นจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในหัวข้อ “มันยากที่จะเป็นนายู : ความเป็นชาติพันธุ์ ความหมาย และการต่อรองของมลายูในชีวิตประจำวัน” ซึ่งในคำนำเสนอโดย นิติ ภวัครพันธุ์ เขียนไว้ว่า หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นมลายู และอาจรวมไปถึงความเป็นไทยด้วย มิได้เป็นไปตามมาตรฐานที่แน่นอนตายตัวโดยการนิยามของรัฐหรือกฎเกณฑ์ทางศาสนา แต่มีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองและตามการปรับตัวของผู้คน เพื่อสร้างธรรมเนียมปฏิบัติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในขณะเดียวกันด้วยสไตล์การเขียนของศรยุทธ ผู้มีความสามารถในการเล่าเรื่อง คนอ่านทั่วไปก็อาจไม่รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้น่าเบื่อหรือยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ จริงๆ แล้วอาจสนุกกับสารพัดเรื่องราวที่เล่าในที่นี้และบางเรื่องก็อาจดูพิสดารจุดประกายให้คนอ่านบางคนพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่ตนรับรู้มาในอดีตเกี่ยวกับคนมลายูก็เป็นได้

ศรยุทธ ได้อธิบายไว้ว่า 8 ปีระหว่างรอคอยให้หนังสือเล่มนี้ปรากฏออกมา แม้จะมีหลายอย่างที่ระยะเวลาเปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาให้ต่างไปจากอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคุกรุ่นในใจเสมอ คือเรื่องราวความไม่เป็นธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการไร้สิทธิเสรีภาพในแผ่นดินเกิดของตัวเอง อันที่จริงทั้งคนมลายูทั้งในฐานะชาติพันธุ์และคนไทยในฐานะอัตลักษณ์ของชาติ ล้วนดำรงอยู่ในคุกล่องหนและถูกหลอกลวงด้วยความหอมหวานแห่งความสงบสุขร่มเย็นมาช้านาน และพันธกิจของการเขียนทางมานุษยวิทยาจะมีหนทางใดสำคัญไปกว่าการเผยให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม

ชีวิตของประเทศ โดย วิษณุ เครืองาม

นิยายอิงประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่เล่าเรื่องของเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยเริ่มต้นของรัตนโกสินทร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยามาถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งทุกองคาพยพของความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้น ล้วนมีเหตุและผลในการก่อเกิดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังแทรกเรื่องราวของตระกูลบุนนาคที่ใช้ทั้งหลักฐานและจินตนาการจนทำให้เห็นภาพของตระกูลบุนนาคในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และสามารถนำมาผสานกับเรื่องซุบซิบลักษณะโครงกระดูกในตู้ของแต่ละยุคสมัยในราชสำนักได้อย่างน่าทึ่งมาก จนทำให้เรื่องราวในอดีตของนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เอาพงศาวดารมาเป็นแบ๊กกราวด์ของเรื่องเล่าทั่วไป

เมื่อประกอบกับจินตนาการของวรรณกรรม ที่ถ่ายทอดผ่านวิถีชีวิตผู้คนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของประเทศขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งทำให้งานเขียนเล่มนี้เพิ่มพูนเสน่ห์ เพราะผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครให้เรารู้สึกได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ ยามอยู่ในอารมณ์หวานก็หวานจนอมยิ้มตาม ยามเศร้าก็สงสารจับใจ เป็นเสน่ห์ที่ถักทอให้ชีวิตของประเทศมีชีวิตชีวาในสถานะของวรรณกรรมได้อย่างน่าสนใจ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตทุกชีวิต ไม่ใช่แค่ชีวิตที่สำคัญเท่านั้น

เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลักที่น่าสนใจ

ชีวิตของประเทศ โดย วิษณุ เครืองาม
ชีวิตของประเทศ โดย วิษณุ เครืองาม

กลับสู่โลกสมมุติ โดย รัชศักดิ์ จิรวัฒน์

เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นลำดับที่ 2 ของรัชศักดิ์ จิรวัฒน์ นักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่คนนี้ได้สื่อสารเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลากหลายและใช้ฉากในเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ ที่ผู้คนใช้ชีวิตคู่ขนานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนของสังคมออนไลน์ ท่ามกลางความเรียบง่ายของเรื่องราว เรื่องสั้นแต่ละเรื่องกลับค่อยๆ ชี้ชวนให้คนอ่านได้ตรวจสอบความคิดของตัวเองผ่านพฤติกรรมและอารมณ์ของตัวละคร ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงในสังคมที่ความจริงไร้ความหมาย และหลายเรื่องก็ไม่อาจพูดจาออกไป

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ บอกไว้ว่า บางครั้งวรรณกรรมก็มีบทบาทเพียงชี้ชวนให้เราได้สำรวจตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดและห้วงอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะซอกหลืบซับซ้อนมืดมิดที่ไม่เคยถูกสำรวจอย่างจริงจัง และในสังคมที่ความจริงบางอย่างไม่อาจเปล่งเสียง เรายิ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเรื่องแต่งเพื่อบอกเล่าความจริง

เป็น 5 เล่มที่แม้ไม่มีรางวัลการันตี ก็ไม่ควรพลาดเลยแม้แต่น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image