สกู๊ป น.1 เทวรูปโบราณ โผล่ฟ้อง ปล้นขุมทรัพย์อีสาน

ร้อนแรงไม่แตกต่างจากภาพยนตร์ดังอย่างอินเดียน่า โจนส์ สำหรับการลักลอบนำออกซึ่งโบราณวัตถุล้ำค่าทางภาคอีสานในยุคสงครามเวียดนาม

ก่อนจะมาโผล่ในโลกออนไลน์เมื่อมีผู้โพสต์ข้อความอ้างถึงบริษัทเอกชนนำประติมากรรมสัมฤทธิ์ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร อายุราว 1,200 ปี จากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ มาประมูลขายในราคาตั้งต้นกว่า 1.4-2.1 ล้านบาท กลายเป็นกระแส ‘ทวงคืน’ กลับบ้านเกิด

ส่งผลให้กรมศิลปากรก็แอ๊กชั่นด้วยการติดต่อประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหาช่องทางการติดตามโบราณวัตถุล้ำค่าคืนมายังประเทศไทย

ทว่าหนทางนั้นนอกจากไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว ยังเต็มไปด้วยขวากหนามในอุโมงค์ดำมืด เนื่องจากไร้ซึ่งหลักฐานการ (เคย) มีอยู่ของโบราณวัตถุดังกล่าว โดยเฉพาะภาพถ่ายเก่า ซึ่งเคยเป็นกุญแจสำคัญในการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากสหรัฐอเมริกาสำเร็จมาแล้วเมื่อ พ.ศ.2531

Advertisement

หากย้อนไปดูเรื่องราวการหายไปของประติมากรรมชุดที่แสนจะซับซ้อนซ่อนเงื่อน เริ่มจากการหมุนเข็มนาฬิกากลับไปในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งภาคอีสานของไทยส่วนหนึ่งกลายเป็นพื้นที่สีชมพูค่อนไปทางสีแดง คือ เป็นเขตคอมมิวนิสต์ยึดครอง ไล่เลียงเหตุการณ์ตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ.2501 ไทยเปิดถนนมิตรภาพสู่อีสาน สร้างด้วยทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ครั้น 20 ตุลาคม ปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ปฏิวัติตัวเอง ครองบัลลังก์อำนาจเต็มตัว

มีนาคม พ.ศ.2503 ไทยเปิดฐานทัพอากาศ 3 แห่งในอีสาน โดยสหรัฐหนุนหลังได้แก่ นครราชสีมา, อุดรธานีและอุบลราชธานี

พ.ศ.2504 สหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการ สร้างถนนไฮเวย์ขนระเบิดจากตะวันออกสู่อีสานและในที่สุด พ.ศ.2507 สหรัฐฯส่งทหารอเมริกันตั้งฐานทัพในไทยไปทิ้งระเบิดเพื่อนบ้าน

Advertisement

ช่วงเวลานี้เองที่เชื่อว่าประติมากรรมสัมฤทธิ์นับร้อยองค์จากปราสาทลึกลับนามว่าปลายบัด ถูกขนออกนอกประเทศ

แต่กว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนในเครื่องแบบทั้งฝรั่งและไทยที่ร่วมกันปล้นขุมทรัพย์อีสานในยุคนั้น ต้องหาทางพังปราสาทให้ได้เสียก่อน จึงจะนำประติมากรรมออกมาได้

วิธีการเริ่มจากใช้ลวดสลิงขนาดใหญ่ฉุดส่วนยอดชั้นซ้อนของปราสาท แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายเลยวางระเบิดสถาปัตยกรรมล้ำค่าจนพังพินาศ แล้วเข้าไปขนโบราณวัตถุมหาศาล ไม่ทราบจำนวนชิ้นอย่างชัดเจน แต่ที่แน่ๆ ไปโผล่ในยุโรปราว 300 องค์ โดยเชื่อว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้งก็ถูกขนไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ปราสาทปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ตัดฉากมาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา ภัณฑารักษ์สาวนามว่า เอ็มม่า ซี บังเกอร์ เกิดคลางแคลงใจในที่มาของประติมากรรมชุดนี้ จึงหิ้วกระเป๋าเดินทางข้ามโลกมาถึงประเทศไทย เพื่อสำรวจพื้นที่แล้วตีพิมพ์บทความในนิตยสาร อาร์ต ออฟ เอเชีย ค.ศ.1970 พร้อมภาพประกอบคือปราสาทปลายบัด และประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งมีทั้งพระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร และพระเมไตรยะ เป็นต้น

ต่อมา ไมเคิล ไรท์ ฉายาฝรั่งคลั่งสยาม เก็บความมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2545 พร้อมเพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวว่าประติมากกรมเหล่านี้เป็นศิลปะชิ้นเอกของโลก แต่ถูกอำพรางโดยคนพื้นเมือง อาชญากรระหว่างประเทศ และเจ้าของใหม่ในต่างแดน

บทความของ เอมม่า ซี บังเกอร์ ในวารสาร อาร์ต ออฟ เอเชีย ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1970 กล่าวถึงประติมากรรมที่ปราสาทปลายบัด
บทความของ เอมม่า ซี บังเกอร์ ในวารสาร อาร์ต ออฟ เอเชีย ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1970 กล่าวถึงประติมากรรมที่ปราสาทปลายบัด

สำหรับความสำคัญของประติมากรรมชุดนี้ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานในภาคอีสานของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการหล่อสัมฤทธิ์ในยุคประวัติศาสตร์รุ่นแรกๆ อีกด้วย ส่วนการประมูลในลักษณะนี้ ต่างชาติทำเป็นเรื่องปกติ การเรียกร้องทวงคืน คงเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด อาทิ ภาพถ่ายเก่าในไทยก่อนถูกโยกย้ายไปต่างแดน

 

ไทยทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไทยสำเร็จ เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าชี้ชัดว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง โดยมานิต วัลลโภดม
ไทยทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไทยสำเร็จ เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายของมานิต วัลลิโภดม ชี้ชัดว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง  (ภาพจากสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร)

 

สอดคล้องกับความเห็นของสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ผู้มีบทบาทในการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่เลือกใช้คำว่า ‘มองไม่เห็นอนาคต’

อย่างไรก็ตาม ภายในความมืดมิด อาจมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีในแถบอีสาน เสนอไอเดียที่ว่าควรนำปราสาทปลายบัดเสนอเป็นมรดกโลกร่วมกับเส้นทางอารยธรรมปราสาทหินพิมาย พนมรุ้งและเมืองต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสารในขณะนี้

โดยมองว่า หากได้เป็นมรดกโลก การทวงคืนโบราณวัตถุกลับมา จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น การที่จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น ต้องมีงานค้นคว้าวิจัยสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ทนงศักดิ์จึงมีความเห็นว่า กรมศิลปากรต้องส่งเสริมการขุดค้นพื้นที่บริเวณปราสาทปลายบัดอย่างจริงจัง

สภาพของปราสาทปลายบัดในปัจจุบัน (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2558)
สภาพของปราสาทปลายบัดในปัจจุบัน (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2558)

ทว่า มณฑิรา หรยางกูร อูนากูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ความเห็นในเชิงหลักการว่า การเป็นมรดกโลกไม่ได้ส่งผลในเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุ แต่เน้นเรื่องการปกป้อง อนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์มากกว่า ส่วนการคุ้มครองโบราณวัตถุเป็นอีกขบวนการหนึ่ง ซึ่งยูเนสโกมีกฎหมายอีกฉบับ คือ The UNESCO Convention 1970 หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองโบราณวัตถุจากการลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย แต่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้มาตรการภายใต้กฎบัตรได้

หากโบราณวัตถุถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการทวงคืนได้ แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันการเป็นเจ้าของ

ดังนั้น ปัญหาจึงวกกลับมาสู่จุดเดิม คือคำยากมาก ถึงมากที่สุด

ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรขบคิดกันต่อไป เพราะประติมากรรมสัมฤทธิ์ชุดนี้ไม่ใช่โบราณวัตถุชุดแรก และคงไม่ใช่ชิ้นสุดท้ายที่จะถูกนำออกประมูลขายโดยบริษัทต่างชาติ แม้รู้ทั้งรู้ว่าเคยอยู่ในเขตแดนไทย

แต่การนำกลับมาสู่บ้านเกิดนั้น ยังคงเป็นปัญหาที่รอทางออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image