สัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ… ทางออกของคนทำหนังสือ ในวันที่ธุรกิจซบเซา

ท่ามกลางสถานการณ์ซบเซาที่ธุรกิจหนังสือกำลังเผชิญอยู่ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์หนังสือต่างๆ เพื่อนักอ่านทุกแนวอย่างเต็มที่เหมือนเดิม

ใน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เช่นเดิม ด้วยแนวคิดอ่าน อ่าน และอ่านนั้น ก็จะมีหนังสือออกใหม่ในงานกว่า 350 ปก และ จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เจ้าภาพงานก็คาดหวังว่าจะมีผู้ร่วมชมงานสัปดาห์หนังสือฯไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนทำหนังสือด้วยใจรัก

“ภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทยปีนี้ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับภาครัฐยังไม่ให้การสนับสนุนในด้านของการอ่านอย่างเพียงพอ ธุรกิจหนังสือจึงเป็นธุรกิจที่ต้องช่วยตัวเองมาตลอด” จรัญอธิบาย

“จากผลการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคชาวไทยในปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 37 นาที/วันเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยมีวินัยในการอ่านน้อยเกิดจากหน่วยงานของภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนในด้านของการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการให้งบสนับสนุนในด้านของการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด หรือการสร้างห้องสมุดในอาคารสูง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาสมาคมพยายามผลักดันในเรื่อง ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามสมาคมยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะการสร้างห้องสมุดในอาคารสูง และการขอให้ภาครัฐอนุมัติงบประมาณการซื้อหนังสือเข้ามาในงบประมาณประจำปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำงบดังกล่าวไปจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด

Advertisement

อย่างไรก็ตามขณะนี้แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้ของไทยปี 2560-2564 โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่แผนการทำงานต่างๆ ยังไม่ออกมา ซึ่งหากเกิดขึ้นและดำเนินการได้จริงจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ภาพรวมตลาดหนังสือ 10,000 ล้านบาทโตขึ้นได้ จากปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดลง เช่นปีก่อนตกลงไปเกือบ 10% โดยส่วนตัวแล้วมองว่าต่อปีจะต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในการผลักดันให้เกิดการอ่านมากขึ้น ตามเป้าหมายที่แผนแม่บทฯ วางไว้ว่า 5 ปีหลังจากนี้ คนไทยจะต้องมีคุณภาพการอ่านมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า หรือต้องอ่านให้ได้ 10 เล่มต่อปีครับ” จรัญอธิบาย

เพราะฉะนั้นการจัดงานสัปดาห์หนังสือฯขึ้น จึงเป็นเสมือนทางออกหนึ่งของคนทำธุรกิจหนังสือเพราะเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือให้มีความคึกคัก โดยในส่วนของการจัดงานปีนี้มีสำนักพิมพ์ตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 430 แห่ง รวมกว่า 947 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 2.1 หมื่นตารางเมตร

“จากสภาวะปัจจุบันคาดว่าต่อไปการทำหนังสือจะเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหนังสือที่เป็นกระดาษยังอยู่ได้โดยมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณหนังสือลดลง และราคาไม่ได้เป็นปัจจัยตัดสินใจหลักในการตัดสินใจซื้ออีกต่อไป ซึ่งขณะนี้หนังสือที่ขายดีในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นแนวนวนิยายประเภทต่างๆ แนววัยรุ่น แนวพัฒนาความรู้ และมีอีกประเภทที่เติบโตอย่างน่าสนใจคือหนังสือคู่มือแบบเรียน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทยในปัจจุบันอย่างชัดเจน”

Advertisement

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45

โดยในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้นั้น มีไฮไลต์น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะ “นิทรรศการ หนังสือที่รฦกงานศพ: มรดกวัฒนธรรมประจำชาติ” โดยร่วมกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีไฮไลต์เด่นคือหนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ”พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” รวมถึงหนังสือที่ระลึกงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือที่ระลึกงานศพของข้าราชการ บุคคลทั่วไป และหนังสือที่ระลึกงานศพที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ด้วย และจะมีเสวนาวิชาการในหัวข้อเดียวกับนิทรรศการขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง และ นายธีระ แก้วประจันทร์ มาร่วมเป็นวิทยากรอีกด้วย”

นอกจากนี้ เพราะเป็นงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติฯ เลยมี “ฟินแลนด์” เข้าร่วมงานในฐานะ ประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์ด้วยกิจกรรม “The Joy of Reading – Key to Lifelong Learning” (ความสุขในการอ่าน-กุญแจสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต) นำเสนอความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รวมทั้งได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาและนวัตกรรมสูงที่สุดในโลก โดยกิจกรรมจะเสนอเรื่องราวกระบวนการตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันว่าฟินแลนด์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และความสำคัญของทักษะการอ่านที่ดีมีผลต่อการเรียนรู้ทุกประเภทอย่างไร แล้วยังเนรมิตดินแดนมหัศจรรย์แห่งวรรณกรรมและการสร้างสรรค์ของฟินแลนด์ให้ประจักษ์ชัด เช่น พื้นที่แนวผจญภัยสำหรับเด็กๆ โดยใช้ธีม “มูมิน” พื้นที่อีกด้านจะออกแบบเป็นโอเอซิสอันสงบสุขสไตล์ฟินแลนด์ ซึ่งรังสรรค์จากภาพพิมพ์ลาย “อูนิกโกะ” (ลายดอกป๊อปปี้) ของ มาริเมกโกะ แบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ แนวไลฟ์สไตล์คอนเซ็ปต์อันโด่งดังไปทั่วโลก ส่วนวันที่ 29 มีนาคม ระหว่างเวลา 12.00-13.00 น. ที่เวทีเอเทรียม ดร.ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Dr. Pasi Sahlberg) จะบรรยายเรื่อง “Finnish Lessons 2.0 : ปฏิรูปการศึกษาแบบฟินแลนด์” ด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของไต้หวันที่น่าสนใจมาก ซึ่งนำเสนอในธีม “สนุกกับการอ่าน – Fun Reads” โดยนำหนังสือกว่า 600 เล่มจากสำนักพิมพ์ไต้หวันกว่า 50 แห่งมานำเสนอ และนักอ่านชาวไทยยังจะได้พบกับ “เซี่ยม่าน หลานปออาน” (Syaman Rapongan) นักเขียนและ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมพื้นเมืองของไต้หวัน ในวันที่ 30 มีนาคม เวลา 16.30-18.30 น. ที่บูธไต้หวัน คนนี้น่าสนใจมากๆ เพราะปกติเวลาพูดถึงงานไต้หวันเรามักนึกถึงงานแนวนิยายภาพ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักงานวรรณกรรมพื้นเมืองของไต้หวันมากนัก ทั้งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย “เซี่ยม่าน หลานปออาน” กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก โดยปกติเขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองตามประสาชาวเมือง จนสุดท้ายตัดสินใจ “กลับถิ่น” เพื่อนำเสนอภูมิปัญญาบ้านเกิดตัวเองและแก่นแกนของวัฒนธรรมประเพณีในฐานะของชาวต๋าอู้ (Ta-u) ชาวเกาะดั้งเดิมโดยเฉพาะ วัฒนธรรมปลาบินคือการสนทนาระหว่างมนุษย์กับทะเล เป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่ชนเผ่าต๋าอู้รุ่นใหม่ได้สืบทอดต่อจากบรรพชนรุ่นก่อนหน้า เป็นศักดิ์ศรีแห่งการสืบทอดชนเผ่า เป็นความภาคภูมิใจของการเป็นบุตรแห่งทะเลที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น กลับสู่ชาวเมือง

แล้วเจอกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image