‘สยามสแควร์’ กับปรากฏการณ์ ‘ผมหงอก’

“ผมขอเรียกว่าเป็นผมหงอกแห่งความทุ่มเท” ไพรัช คุ้มวัน ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่อง สยามสแควร์ เล่าถึงผมหงอกกลุ่มแรกที่มาเยือนชีวิตด้วยอาการหัวเราะๆ แล้วว่าก่อนหน้าจะมาจับโปรเจ็คต์หนังเรื่องนี้ ผู้ชายวัย 31 ปี อย่างเขามีผมดำเป็นเงางาม เพิ่งจะรู้ตัวเอาตอนหลังตัดหนังจบนี่ละ ว่าผมขาวมาเยือนมากพอควร

“อาจเพราะนอนดึก นอนน้อย” คือคำคาดเดา

แต่ไม่เป็นไร

ไพรัช คุ้มวัน

แค่ “หวังมากๆว่าสีผมที่เปลี่ยนไประหว่างที่ใช้ชีวิตไปกับโปรเจ็คต์นี้ จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการดูหนังที่สนุกและแปลกใหม่ให้กับผู้ชม”

Advertisement

ไพรัชซึ่งเรียนจบด้านมนุษยศาสตร์ หากสนใจงานภาพยนตร์ จนมีโอกาสได้ทำหนังสั้น และสามารถคว้ารางวัลช้างเผือก ของมูลนิธิหนังไทย จากเรื่อง เวลา-ลาน ในปี 2550 ก่อนก้าวเข้าสู่วงการโฆษณา แล้วกลับมาสู่วงการหนังครั้ง ด้วยการไปช่วยกำกับการแสดงเรื่อง 9 วัด‘, ‘Together วันที่รัก‘ , ‘Last Summer’ , ‘36‘ , ‘Mary is Happy,Mary is Happy’ รวมถึงงานร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น ‘Hand in  the Glove’ เล่าด้วยว่า ที่เลือกทำงานชิ้นนี้ก็ด้วยความที่เป็นคน “หมกมุ่นกับหนังสยองขวัญ”

งานแนวนี้ที่ดังๆจึงไล่ดูหมด รวมไปถึงงานจากฝั่งสเปน อเมริกาใต้นั่นก็ด้วย

“ที่ชอบหนังสยองขวัญไม่ใช่ว่าเราซาดิสท์ อยากโดนหลอก แต่รู้สึกว่าการเล่นกับการรู้เห็นของคน กับอารมณ์ของคน มันสนุกดี เหมือนพาคนเข้าบ้านผีสิง อันนั้นเป็นสิ่งที่คิดตอนแรก แต่หลังจากถ่ายจนเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นว่านอกจากสนุก ก็มีอย่างอื่นที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน คือเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ในสยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งให้เราสามารถทำหนังเรื่องนี้ได้จนจบ แล้วรู้สึกโอเคกับมันมากๆ”

Advertisement

“ความน่าสนใจของโปรเจ็คต์นี้ คือมันเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนที่เคยมีเพื่อนเดินสยามด้วยกัน สยามเป็นตัวแทนของเด็กกรุงเทพโซนหนึ่งที่จะใช้ชีวิตส่วนมาก รองจากโรงเรียนก็คือที่นี่ ก็น่าสนใจที่จะพูดถึงเรื่องของคนที่อยู่ในนั้น แล้วที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือความเปลี่ยนแปลงของสยาม อาจเคยเห็นใน รักแห่งสยาม เห็นสยามผ่านภาพยนตร์ ผ่านสื่อต่างๆ แล้วทุกครั้งที่ไปก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมือนเดิม ก็อยากแชร์ภาพเหล่านั้น”

ผ่านเรื่องราวของวัยรุ่น 10 คนจากต่างที่มา ก่อนจะผูกสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนเมื่อได้มาพบกันที่สยาม สนุกสนาน เฮฮา กระทั่งถึงวัน ‘ไฟดับ’

“หลังจากไฟติด สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่แสงไฟที่สว่างขึ้น แต่เรื่องของเด็กผู้หญิงที่เคยหายตัวไปในเหตุการณ์ไฟดับทั่วสยามเมื่อ 30 ปีก่อน ถูกขุดคุ้ยมาพูดกันอีกครั้ง เหมือนจะไม่มีอะไร ก็แค่เรื่องเล่าสนุกปาก แต่ที่ประหลาดคือ เรื่องที่ทุกคนพูดถึง ค่อยๆกลายเป็นจริงขึ้นมาทีละนิด และใกล้ตัวทุกคนขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนในกลุ่มจึงมีทางเลือกอยู่แค่จะอยู่เฉยๆทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วรอเรื่องราวประหลาดคืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้น หรือจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แม้ว่ามันจะทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

ในฐานะคนทำ ไพรัชยังว่าสำหรับเขานี่เป็นงานที่มีรสหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม ผสมๆกันไป และจะพาไปรู้จักสยามสแควร์ในมุมที่ทุกคนไม่เคยรู้จัก และไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ตั้งแต่วันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image