สร้างวัฒนธรรมรุนแรง ใช้ ‘โซเชียล’ เกรี้ยวกราด

มีข่าวนายแพทย์กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนไทยใช้สื่อสาธารณะ ‘โซเชียล มีเดีย’ หาแต่ความบันเทิง และเป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ด่าทอ ปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง เกรงว่าการแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดนี้จะกลายเป็นวัฒนธรรมต่อไปภายหน้า ต่างจากนานาอารยประเทศที่ใช้แสวงข้อมูล ศึกษาหาความรู้

“ใช้เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าไม่มีใครเห็น และไม่มีใครเข้าไปจัดการ” คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้าที่ปรึกษากรมกล่าว

จากนั้นจึงพูดเรื่องวิธีแก้ปัญหา ที่ไม่มองไปยังรัฐบาลอย่างเดียว ด้วยการสร้างสังคมโซเชียลมีเดียที่ดี โดยที่ 1.ไม่เป็นผู้สร้างความรุนแรง 2.ไม่ส่งต่อความรุนแรง 3.ช่วยตักเตือนคนกำลังสร้างความรุนแรง ซึ่งกำลังมีแผนทำโครงการนี้อยู่ เพราะไม่ต้องการให้ความรุนแรงกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไป

ในการนี้ คงจะไม่มีผู้เห็นค้านกับคุณหมอและคงสนับสนุนโครงการที่กรมสุขภาพจิตทำ แต่ในที่นี้ยังมีข้อสังเกตที่อยากสนทนาอยู่ด้วยประเด็นหนึ่ง เพื่อผู้เห็นด้วยหรือเห็นค้านจะได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อยอดในการค้นหาสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องเกรี้ยวกราดกันเป็นเบื้องแรก ก่อนที่จะตั้งสติพูดจาประสาดอกไม้กัน เพื่อเข้าใจหนทางแก้ไข

Advertisement

สังคมไทยเป็นสังคมปิดมาแต่ไหนแต่ไร เป็นสังคมที่ ‘ผู้ใหญ่’ (ตั้งแต่พ่อ-แม่ ครู ผู้บังคับบัญชา ผู้เป็นนายทั้งหลาย ฯลฯ)  ไม่อยากให้ผู้น้อยพูดมาก

พ่อ-แม่ไม่อยากให้ลูกแสดงความเห็น บอกว่าเถียงคำไม่ตกฟาก ครูก็ไม่ค่อยสบอารมณ์นักเรียนช่างถาม ยิ่งผู้บังคับบัญชาที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเก่งกล้าสามารถ ยิ่งไม่อยากให้พูดให้แสดงความเห็น เพราะกลัวจะกลายเป็นว่าตัวโง่ หรือต้องทำงานมากขึ้นอีก ท้ายที่สุดคือ หัวหน้ารัฐบาลไหนๆ ก็มักไม่อยากฟังเสียงประชาชน

สังคมลักษณะนี้ ทำไมไม่ทำให้ผู้คนทั่วไปอึดอัดขัดข้อง

Advertisement

ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เรื่องต่างๆ ที่เป็นความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในสังคม มิได้มีสาเหตุประการหนึ่งมาจากประเด็นนี้หรือ

คนไทยไม่มีทางออก ไม่มีช่องออก หนังสือพิมพ์ประชาชาติกับมติชนรายวันกับหนังสือในเครือเข้าใจถึงความจำเป็นจะต้องเปิดกว้างในข้อนี้ จึงเกิดคอลัมน์จดหมายจากผู้อ่านขึ้นมา (คอลัมน์นี้มหาตมคานธี ครั้งทำงานสื่อ บอกว่าเป็นคอลัมน์ที่ชอบและโปรดปรานที่สุด) จากนั้น  หน้าบันเทิงจึงเปิดโอกาสให้มีจดหมายวิพากษ์วิจารณ์เข้ามา ผู้ผลิตงานจึงได้ฟังเสียงผู้ชมจริงๆ นอกเหนือจากที่ฟังจากเจ้าของคอลัมน์วิจารณ์อยู่เป็นประจำ

ไม่นานคอลัมน์ลักษณะนี้จึงแพร่หลายออกไป

ที่อ้างมานี้ มิได้หมายความว่าได้ช่วยส่งผลให้สังคมดีขึ้นอย่างไรบ้าง เป็นเพียงความพยายามของคนทำงานสื่อ ที่จะหาช่องทางออกให้ผู้คนได้สื่อสารถึงกัน เพื่อทำความเข้าใจในกันและกันบ้าง

รวบรัดตัดประเด็น การอยู่ภายใต้บรรยากาศคิดได้พูดไม่ได้ (ทั้งหาอ่านไม่ค่อยได้ จะถกถามหรือเสาะหาความรู้โดยอิสระไม่ได้) เป็นเวลานาน เนื่องจาก 80 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเมืองตกอยู่ใต้รัฐบาลเผด็จการนานกี่ปี ป่านนี้น่าจะท่องจำกันได้แล้ว ผู้คนย่อมเก็บกดเป็นธรรมดา

ช่วงไหนมีผู้แทนราษฎร ก็ยังไม่ได้ดังใจ (แต่ยังไม่ได้ดังใจ มิหมายความว่าไม่ต้องมีก็ได้)

ดังนั้น เมื่อเกิดเครื่องมือที่สามารถสื่อสารสาธารณะได้สะดวกขึ้นมา ทำไมอารมณ์ความรู้สึกหลายๆ อย่างจะไม่ทะลักทลายออกมา

ในสังคมซึ่งการเรียนรู้ไม่เท่าเทียมเสมอกัน เหลื่อมล้ำทั้งสถานะเศรษฐกิจ ซึ่งตามไปบ่งสถานะทางสังคม เหลื่อมล้ำในความรู้รอบและประสบการณ์การศึกษาที่แตกต่าง ที่ล้วนถ่างคนให้ห่างไกลกันทุกที

เป็นสภาพแวดล้อมที่ผู้คนติดข้องกับความไม่เสมอภาค เข้าใจไม่ได้กับการหลายมาตรฐาน อารมณ์ขุ่นมัว ความคิดคุกรุ่น พร้อมจะปะทุในรูปไหนก็บอกไม่ได้

ยิ่งไม่ต้องเห็นหน้าเห็นตา จับไม่ได้คาหนังคาเขา ความคิดชั่วแล่นจึงล้วนแล่นได้ไวกว่าความคิดยับยั้งชั่งใจ หงุดหงิดหน่อยจึงบ่นจึงด่าทอออกมาย่อมเป็นไปได้ ยิ่งการเมืองถูกเบี่ยงเบนให้หันเขาหันนอเข้าหากัน คนบางประเภทจึงใช้สื่ออย่างสนุกสนาน ไม่คิดถึงผลลบที่จะเกิดขึ้น (หรือคิดทะลุแล้วก็ไม่รู้) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากติดตามดูสม่ำเสมอ ก็ยังเห็นว่ามีถ้อยคำซึ่งเป็นสติอยู่มากหลาย ที่คอยฉุดรั้งบรรดานักตระเวนจออารมณ์เสีย แม้ส่วนมากจะเตือนไปเบื่อหน่ายไปอยู่ก็ตาม สภาพเช่นนี้ย่อมเกิดได้สักระยะ อาจยาวนานเป็นปี แต่ในที่สุดก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะธรรมชาติผู้คน ย่อมแสวงสิ่งที่เป็นปัญญามากกว่าจะคอยระบายอารมณ์สาดเสียเทเสียใส่ชาวบ้านทุกวัน

ต่อให้ชอบเสพรับอารมณ์ดังกล่าวมากๆ เข้า วันหนึ่งก็ต้องหลีกหนี เนื่องจากไม่บันเทิงสร้างสรรค์ในหนทางใดๆ เลย

สังคมย่อมให้บทเรียนผู้คนในสังคมด้วยกันเสมอ แต่อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้หน่อย

เพราะฉะนั้น กรมสุขภาพจิตทำโครงการโดยมีความร่วมมือจากหลายๆ ทางย่อมมีแต่ผู้เห็นดี แต่หากจะจำกัดควบคุมสาเหตุที่มานั้น รัฐบาลต้องช่วยด้วย และต้องช่วยอย่างสำคัญ ส่วนจะช่วยอย่างไร มีวิธีการแบบไหน มิได้เป็นเรื่องยากเกินกว่าบรรดาผู้ชำนัญทั้งหลายในคณะบริหารจะคิดออก

ลงมือทำได้เมื่อไหร่ สังคมไทยก็จะเต็มไปด้วยวจนาประสาดอกไม้ ผู้คนอิ่มอกอิ่มใจกันถ้วนทั่ว ไม่เชื่อลองทำดู

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image