เ มื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2560 ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ อย่างกะทันหัน เนื่องจากภรรยาไปต่างจังหวัด คุณเสถียรนั้นอยู่บ้านคนเดียว บ้านอยู่แถวริมคลองบางขุนเทียน เกิดที่นั่นและเสียชีวิตที่นั่นด้วย เมื่อภรรยากลับมาบ้านพบว่าคุณเสถียรได้เสียชีวิตไปแล้ว น่าจะมากกว่า 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ได้จากไปอย่างง่ายๆ อย่างผู้มีบุญ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น และไม่ได้สั่งลาใคร ไปอย่างสงบเพียงอายุ 55 ปี ทิ้งความเสียดายไว้กับคนข้างหลัง เสียดายว่าตายเร็วไปหน่อย เสียดายที่ไม่รู้ ไม่มีแววว่าป่วยมาก เสียดายที่ยังมีความรู้สึกนึกคิดที่จะทำงานได้อีกมาก เสียดายที่ยังทำงานค้างอยู่ เสียดายที่ไม่ได้คุยกัน และเสียดายที่ยังรู้สึกคิดถึงกันอยู่ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็นใคร คงไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ อยู่อย่างเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายใคร จากไปแล้วคนคิดถึง เขาเป็นคนชอบดนตรีและชอบค้นคว้าเรื่องดนตรี โดยเฉพาะเรื่องดนตรีในสมัยรัชกาลที่ 6 ดนตรีไทย ดนตรีสากล ค้นคว้าเขียนชีวิตความเป็นอยู่ของนักดนตรีชาวบ้าน ยกย่องนักดนตรีชาวบ้านโดยเฉพาะพวกปี่พาทย์ เขาจึงมีเพื่อนเป็นพวกปี่พาทย์เยอะ นอนที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่มีเงินก็อยู่ได้ กินอะไรก็กินได้ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เห็นว่าเป็นคนที่พ้นทุกข์ อยู่อย่างคนไม่ทุกข์ และก็จะขี้เกรงใจ ไม่ต้องการจะเป็นภาระใคร ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกับคนที่ชอบพอถูกคอกัน อยู่เงียบๆ ไปเงียบๆ หายไปเฉยๆ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็นคนธรรมดาสามัญ เมื่ออายุน้อยทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ให้บริการ อยู่ในตำแหน่ง "ขุนเชี่ยวสุราชง" บริการให้กับคุณหลวงทั้งหลาย (หลวงถองสุราบาน) แห่งสำนักบ้านช่างหล่อ เสถียรเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในงานชงอย่างยิ่ง ชงจนดึกดื่น ชงจนสว่างก็ไม่ปริปากพูด เสถียรชอบอ่านหนังสือ ชอบค้นคว้า บ้าดนตรีไทย รู้จักคนไปหมด ที่สำคัญเป็นคนที่เขียนหนังสือเก่ง มีความรู้และมีข้อมูลมาก แต่กลับเป็นคนพูดน้อย พูดเท่าที่จำเป็น ค้นหาความจริงหาหลักฐาน นักวิชาการหลายคนต้องอาศัยข้อมูลของเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เขาเป็นแหล่งข้อมูล เป็นตาของความรู้ที่จะสืบค้นในลำดับต่อไป ใครอยากได้ข้อมูลดนตรีไทยก็ต้องหาเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็น "หลวงสนองค้นดั่งใจ" ค้นได้ทุกเรื่องที่ชอบ การค้นคว้าข้อมูลจะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ตอบไม่ได้ หากไม่พบข้อมูลก็จะไม่มาให้เห็นหน้าเลย แต่เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะรีบมาบอกให้คนสั่งได้ชื่นใจ เชื่อใจเชื่อมั่นในข้อมูล บางครั้งข้อมูลที่ได้นั้นขัดแย้งกับความเชื่อเดิมๆ แต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานที่เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ได้ค้นมายืนยัน วิ ทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ มาเป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษา และเชิญเป็นนักวิจัยดนตรีประจำวิทยาลัย ทำงานวิจัยเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลดนตรีตามที่ชอบ (4 ปี) อยู่ๆ ก็หายไป ได้ความว่าไปค้นหารายชื่อบรรดาศักดิ์นักดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 วันที่เจอกันนั้นก็ได้อวดว่า "ผมค้นชื่อนักดนตรีได้ครบทุกคนทุกตำแหน่งแล้ว" รู้สึกประทับใจในความสามารถและความพยายามอย่างยิ่ง แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบอกว่า ตำแหน่งนักวิจัยของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้น ฝ่ายบุคคลเขาได้ตัดเงินเดือนออกไปแล้ว เพราะไม่สามารถที่จะติดต่อได้นานถึง 6 เดือน เมื่อปี พ.ศ.2558 ผู้เขียนได้สอบถามเล่นๆ ว่า "ในชีวิตนี้คุณอยากทำอะไรบ้าง" คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ก็ตอบว่า "อยากรู้ข้อมูลของครูดนตรีฝรั่งที่ชื่ออัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazzari) เพราะเชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เข้ามาควบคุมวงดนตรีวงเครื่องสายฝรั่งหลวง พ.ศ.2454 สมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาจมน้ำตายในเมืองไทย ซึ่งไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลน้อย ยังสงสัยไม่กระจ่างเท่าที่ควร คนไทยก็ไม่รู้จักและคนไทยก็ไม่สนใจ" "ผม (เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์) ได้สั่งซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง (La Marcia dell'elefante bianco) เขียนโดยหลานสาวของนาซารี (Adriana Lo Faro) บ้านอยู่ที่เมืองตูริน แต่ผมอ่านไม่ออกแปลไม่ได้ เพราะเป็นภาษาอิตาเลียน ได้ไปปรึกษาอาจารย์หมอพูนพิศ (อมาตยกุล) ก็ชวนกันไปหาหลวงพ่อแฟรงค์ที่วัดดอนบอสโก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ท่านแปลให้ฟัง รู้สึกตื่นเต้นมาก ซึ่งเป็นข้อมูลของนาซารีที่มีมากที่สุด" เสถียรเล่าให้ฟัง ค รูนาซารีเป็นนักดนตรีชาวอิตาเลียน เป็นผู้ควบคุมดูแล ได้แสดงผลงานดนตรีคลาสสิกไว้ในเมืองสยาม ผลงานการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2461 โดยวงเครื่องสายฝรั่งหลวง ทำเป็นละครเพลงฝรั่งชื่อ คาวาล์เลอเรีย รูสติกาน่า (Cavalleria Rusticana) ประพันธ์โดยมาสกัญญี (Pietro Mascagni) เพื่อไม่ให้ค้างคาใจ ก็ได้ชักชวนกันเดินทางไปประเทศอิตาลี (17-22 พฤศจิกายน 2558) ซึ่งถือเป็นการเดินทางไปยุโรปครั้งแรกของเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ "หนังสือเดินทางก็ไม่มี ชวนไปในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้" เสถียรบ่น แต่ก็ไม่ได้ไปทำหนังสือเดินทางอย่างที่คุยกันไว้ เพราะเกรงใจ เพราะไม่อยากจะเชื่อ และเพราะไม่มีเงินทำหนังสือเดินทาง เมื่อยื่นคำขาดว่าต้องไปทำหนังสือเดินทางให้เสร็จ โดยมีผู้กำกับจัดการให้ ก็ดำเนินการจนเสร็จพร้อมสูทชุดใหม่สวยงามพร้อมที่จะเดินทาง สำหรับวีซ่านั้น เมื่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำรับรองว่าไปค้นคว้า ซึ่งเดินทางไปกับคณบดี ก็ได้รับความสะดวกเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้ตกลงกันว่า เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วก็จะจัดงานฉลองครบรอบร้อยปี (100 ปี) วงเครื่องสายฝรั่งหลวง ในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยจะจัดรายการเพื่อนำผลงานละครเพลงฝรั่งที่เคยจัดมาแสดงย้อนยุค เรื่องคาวาล์เลอเรีย รูสติกาน่า (Cavalleria Rusticana) เพื่อรำลึกการตั้งวงเครื่องสายฝรั่งหลวง บรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) ควบคุมวงโดยวาทยกรชาวอิตาเลียน อัลฟองโซ สการาโน (Alfonso Scarano) ได้ขอร้องและมอบหมายให้เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็นผู้เขียนประวัติที่สมบูรณ์ของครูอัลเบอร์โต นาซารี และข้อมูลการแสดงทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 6 ออกเผยแพร่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 งานแสดงทั้งหมดของวงทีพีโอในเดือนพฤศจิกายน 2559 ต้องยกเลิกและเลื่อนออกไปแสดงในเดือนพฤศจิกายน 2560 แต่ก็ยังยืนยันคงรายการแสดงเดิมไว้อยู่ สูจิบัตรเดิม ข้อมูลเดิม ซึ่งเขียนโดยเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ การเดินทางไปอิตาลีครั้งนั้น ได้เดินทางไปดูประติมากรรมสำคัญที่เมืองต่างๆ ของอิตาลี ประติมากรรมดาวินชี ที่เมืองมิลาน ประติมากรรมเดวิด ที่เมืองฟลอเรนซ์ ไปดูหอเอนที่เมืองปิซ่า เป็นต้น อีกทั้งยังได้ไปตรวจข้อมูลของอัลเบอร์โต นาซารี (จากหลานตา) ที่เมืองตูริน เมื่อกลับมาแล้วก็ให้การบ้านไปเขียนข้อมูลเพื่อทำสูจิบัตรคาวาล์เลอเรีย รูสติกาน่า ได้เห็นความเบิกบานใจเป็นที่สุดของเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เมื่อได้พบกับข้อมูลที่ข้องใจ และเฝ้าหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้พบกับข้อมูลเหล่านั้น