วงบีบีซี 90 ปี กระหึ่มคลาสสิคสยาม

ภาพจาก www.music.mahidol.ac.th

อังคารพุธที่ 28-29 มีนาคมที่ผ่านมา มหิดลสิทธาคาร ณ ศาลายา คับคั่งด้วยมิตรรักนักฟังเพลงคลาสสิคอีกเช่นเคย เมื่อวงบีบีซี ซิมโฟนี ออร์เคสตรา จากอังกฤษซึ่งจะมีอายุครบ 90 ปี ปีหน้า อันมีชื่อลือลั่นไปทั่วทั้งวงการ ยกคณะนับร้อยชีวิตมาแสดงให้ชาวไทยได้ฟังและชมฝีมือถึงที่ โดยไม่ต้องตีตั๋วเครื่องบินไปหาบัตรฟังถึงอังกฤษ

นับเป็นคืนที่ผู้นิยมเพลงคลาสสิคถือเป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่ต้องจดจำคืนหนึ่ง จากความสามารถของวงอังกฤษ ผู้ควบคุมวงชาวอังกฤษ นักเดี่ยวเปียโนอังกฤษ แสดงเพลงของคีตกวีอังกฤษ ที่ล้วนเป็นผู้รังสรรค์เสียงใหม่ในศตวรรษที่  20 ขึ้นมา

พ้นความคุ้นเคยจากชื่อเยอรมันหรือออสเตรียอันเก่าแก่ ฯลฯ จากแผ่นดินใหญ่ยุโรปที่มักได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ

การแสดงคืนนั้นน่าตื่นตาตื่นใจด้วยฝีมือของทั้งผู้ควบคุมวง ที่บงการเสียงให้ได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งปรากฏเป็นความคึกคักเร้าใจจากบทเพลง ด้วยฝีมือน่าทึ่งจากบรรดานักดนตรีนับร้อย ที่เปล่งเสียงจากเครื่องดนตรีนับสิบแต่ละประเภท ออกมาได้กลมกล่อมพร้อมเพรียงเป็นเสียงเดียว ไม่ขาดไม่เกินแม้เสี้ยวจังหวะ (อ่านรายละเอียดได้จาก แทงก์ความคิด ของนฤตย์ เสกธีระ มติชนรายวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน)

Advertisement

ท่ามกลางแสงไฟเพดาน 120 ดวง ที่จับคณะนักดนตรีบนเวทีและส่องเรืองแผ่ไปครึ่งหอประชุม บีบีซี คลาสสิค เริ่มด้วยพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กินรี ที่ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองเพื่อประกอบระบำบัลเลท์ชุดมโนห์รา เสียงอันไพเราะอ่อนหวาน ที่มีจังหวะเคลื่อนไหวให้ภาพธรรมชาติในราวป่าอันงามครึ้ม จนนึกเห็นเหล่ากินรีเล่นน้ำ พรานบุญที่ค่อยๆย่องเข้าไป ความรักที่ไม่คาดฝัน สร้างความเพลิดเพลินเหมือนเย็นฉ่ำอยู่ในป่าใหญ่ ก่อนจะแปรไปเป็นอีกสำเนียงหลังจากนั้น

จากเพลงปริศนา ดาดาวิลล์ของแกรี คาร์เพนเตอร์ (เกิด  24947) อันลึกลับชวนตั้งสมาธิฟังสักสี่ห้ารอบ เพื่อค้นหาภาพจากมโนสำนึกที่ถูกสรรพเสียงอันหลากหลายอลหม่านอย่างมีเอกภาพ  ซึ่งอื้ออึงอยู่นั้น นำพาไป

วาทยากรและนักเรียบเรียงเสียงประสานลือชื่อของไทย ประทีป สุพรรณโรจน์ ดูจะชอบ เอดเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้ควบคุมวงกับเพลงนี้ไม่น้อย

Advertisement
ภาพจาก www.music.mahidol.ac.th

เปียโน  คอนเแชร์โต  อิน  ดี  เมเจอร์,  โอปุส  13 ของเบนจามิน บริตเตน (เกิด  2456)  ก็ทำให้ผู้ชมตาค้างกับสองมือของเบนจามิน กรอสเวอเนอร์ นักเปียโนร่างเล็กที่ว่องไวราวชักยนต์ พอๆกับนักดนตรีทั้งวงซึ่งเคลื่อนไหวกันแทบไม่มีจังหวะหยุด ทำให้นึกถึงทีมฟุตบอลอังกฤษที่มีรูปแบบการเล่นชนิดวิ่งสู้ฟัดตลอด 90 นาทีขึ้นมาทันใด

ท้ายสุดของคืนแรก ซิมโฟนี หมายเลข 1 ของวิลเลียม วอลตัน (เกิด 2445)  ซึ่งใช้เวลาเขียนและกล่อมเกลานานถึง 3 ปี จากเสียงแผ่วเบาเป็นจังหวะที่ก่อรูปขึ้นทีละเล็กละน้อย สร้างความรู้สึกการถือกำเนิดที่ค่อยๆเติบโต จากต้นอ่อนหยัดยืนขึ้น แตกกิ่งก้านสาขา เดี๋ยวกิ่งนั้นเดี๋ยวกิ่งนี้ เดี๋ยวผลิใบ แตกใบโน้นแตกใบนี้ สรรพเสียงนั้นเสียงนี้สลับกันสอดแทรกจังหวะใหม่ตลอดเวลา จนที่สุด จินตภาพกระจ่างเต็มของผู้ชมแต่ละปัจเจกชนก็กระจ่างพลันอยู่เบื้องหน้า

ซิมโฟนีสี่ท่อนนี้ ตรึงผู้ฟังให้ติดตามไปได้อย่างไม่ลดละ จนสำเนียงสุดท้ายสิ้น เสียงปรบมือจึงเลื่อนลั่นหอประชุม กระทั่งวาทยากรต้องออกมารับเสียงชื่นชมนั้นหลายครั้งครา จนต้องแสดงเพลงแถมสนองความชื่นอกชื่นใจของบรรดามิตรรักนักฟัง เช่นเดียวกับตอนนักเดี่ยวเปียโนต้องเล่นเพลงแถมตอบรับเสียงปรบมืออันยาวนาน

ความฉกาจฉกรรจ์ของฝีมือนักดนตรีทั้งวง อาจทำให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะปรบมือกันบ้างขึ้นระหว่างท่อนเพลง แต่ผู้ชมก็เรียนรู้เร็วที่จะไม่ปรบมืออีกระหว่างท่อนที่เหลือจนกว่าเพลงจะจบ

มหิดลสิทธาคารปัจจุบัน เป็นหลักหมายอันมั่นคงของ “ระงมดนตรี คือเสียงกระวี สำเนียงนิรันดร์” ไปแล้ว เช่น ศรีปราชญ์ว่าไว้ใน ‘อนิรุทธ์คำฉันท์’  .

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image