อาหารจอแก้ว สัมพันธ์ไทย-มาเลย์ จากกับข้าวที่นึกไม่ถึง

ภาพจาก www.asianfoodchannel.com

ติดตามรายการ ‘อาเสียน’ส ฟู้ด แอดเวนเจอร์ส’ (Axian’s Food Adventures) ค้นคว้าหารากอาหารประเภทต่างๆ ของ อาเสียน หรือที่คนบ้านเดียวกันรู้จักว่า เจสัน โหย่ว หนุ่มปีนัง เจ้าของรายการโทรทัศน์ระดับรางวัลนานาชาติของมาเลย์หลายรางวัล ซึ่งดั้นด้นไปทั่วประเทศของตนและทั่วเอเชีย หาความเชื่อมโยงหรือที่มาของอาหาร ซึ่งอาจบอกรากเหง้าของชุมชนหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกันระหว่างผู้คน

สัปดาห์ก่อนจึงได้ไปถึงเมือง มัวร์ รัฐยะโฮร์ เพราะอยากรู้ว่า ‘ออต้า ออต้า’ ซึ่งกินกันทั่วไปแทบทุกแห่งในรัฐ และระบาดเข้าไปถึงเมืองหลวงนั้น มีที่มาที่ไปจากไหน

อันว่าเมือง มัวร์ (muar) นี้ เป็นเมืองหลักของเขตเมืองมัวร์ หรือเรียกเป็นเขตอำเภอในความหมายของไทย คนละคำและไม่ได้เกี่ยวกับชาวมัวร์ (moors) ที่ในยุคกลางหมายถึงชาวมุสลิมแถบคาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเดิมเป็นชาวอาหรับหรือเบอร์เบอร์ ปัจจุบันหมายเพียงชาวมุสลิมในประเทศสเปน และคำนี้ในภาษาสเปนเป็นคำถือผิวด้วย
ทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่รู้จักกันดีในรัฐนี้ โดยเฉพาะบรรดาผู้แสวงอาหารท้องถิ่นรับประทาน

ส่วน ออต้า ออต้า (ortak ortak) นั้น ในที่นี้ขอพูดถึงการใช้อักษรโรมันในภาษามาเลย์ ที่รู้งูๆ ปลาๆ สักหน่อยก่อน เผื่อผู้รู้แท้จะช่วยให้กระจ่างขึ้นว่า ตัว เค นั้นเพียงใช้กำกับเสียง เขาไม่ได้ออกเสียง “ออตัก ออตัก” อย่างที่เราเคยเรียกกีฬา ปัญจะสิละ ตรงตามความหมายศิลปะการต่อสู้ทั้งห้า หรือศิลปะการป้องกันตนเองด้วยมือเปล่า รู้จักกันในชนเชื้อสายมาเลย์ อินโดฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย

Advertisement

แต่ต่อมาเรียกเป็น ปันจัก สีลัต (pencak silat) จากคำภาษาอินโดนีเซีย โดยประเทศบรูไนถือกีฬาประเภทนี้เป็นกีฬาประจำชาติ

เช่นเดียวกับที่เรียก ผ้าปาเต๊ะ มาดีๆ พอผ่านไปอีกรุ่นกลับกลายเป็น ‘บาติก’ เหมือนกับที่ไม่น้อยคนเรียกเลยไปถึงนาฬิกา ปาเต๊ะ ฟิลิปส์ (patek philippe)

สำหรับอาหารซึ่งนิยมกันทั่วไปทั้งรัฐ กระทั่งแพร่ไปเขตอื่นๆ แม้คนเมืองหลวงก็รู้จักนี้ ตามดูไปตั้งแต่แรกก็เริ่มสงสัยตงิดๆ ว่า เอ, คล้ายอาหารอะไรของเรานะ ใช้ปลามาบดสับกับเครื่องแกง (ซัมบัล – sambal บางคนเรียกว่า “น้ำพริก” ของเขา) มาเลย์ทำอะไรต้องมี ‘ซัมบัล’ เป็นหลัก ดูรายการอาหารเอเชียนานๆ เข้าจึงพอเข้าใจ ร้อง อ๋อ ได้ ว่าคือเครื่องแกงที่โขลกหรือบดมาเหมือนเรานั่นเอง

Advertisement

พอบดผสมปลากับเครื่องแกงและสมุนไพรอื่นที่ปรุงรสชาติเข้าไปเสร็จ ที่สำคัญ มีการใช้กะทิด้วย จากนั้นเขาก็ใช้ช้อนหรือไม้พายเล็กๆ ตักขึ้นปาดลงบนใบจากเรียวๆ ซึ่งเตรียมไว้สองใบประกบกัน แล้วย่างไฟอย่าง ‘ขนมจาก’ บ้านเราเป๊ะ ขนาดก็พอๆ กับขนมจากนั่นเอง เขาซื้อกินกันเปล่าๆ คราวละหลายๆ ห่อเหมือนของว่าง

แต่พอความต้องการมากขึ้น ผู้ผลิต (ซึ่งค่อยๆ สืบไปจนรู้ว่าเป็น 3 สาวพี่น้องที่ตอนนี้สูงวัยเลยหกสิบกันหมดแล้ว) ก็ดัดแปลงขยับขยาย เนื่องจากมีผู้เริ่มว่าจ้างให้ทำจำนวนมาก ใช้ในงานแต่งบ้าง ใช้เป็นอาหารว่างก่อนเริ่มงานต่างๆ บ้าง จนต้องทำสำเร็จใส่ถ้วยเล็กๆ คราวละร้อยๆ ถ้วย สุดท้ายบดผสมเสร็จจึงนึ่งใส่กล่องพลาสติกสำเร็จรูปขนาดกลางๆ ในปัจจุบัน กินร่วมกับอาหารอื่นๆ

เห็นวิธีการผลิตก็คลับคล้ายคลับคลาคิดอยู่ในใจอีกว่า เอ, เหมือนอาหารอะไรของเราน้า

อาเสียนสืบจากคนกินสูงวัยเกินครึ่งศตวรรษ กระทั่งรู้ว่าผู้เริ่มทำออต้า ออต้า (ซึ่งอาเสียนก็สงสัยแต่แรกว่า ทำไมต้องเรียก 2 หน แต่ก็ยังไม่พบคำตอบ เช่นเดียวกับคำว่าออต้า จะหมายถึง บด ผสม รวม หรือประกอบกัน ฯลฯ ทำนองนั้นหรือเปล่า ?) เป็นหญิงที่ชาวบ้านเรียกว่า แม่สื่อหน้าข้าวตัง

แต่ตอนนี้แม่สื่อหน้าข้าวตังไม่อยู่แล้ว มีแต่ร้านปิ้งหรือย่างออต้า ออต้า ขายอยู่ในตลาด 2-3 ร้าน พอตามไปถึง 2-3 ร้านที่ว่า จึงพบว่า 2-3 ร้านนั้นคือร้านของ 3 สาวพี่น้องนั่นเอง

และที่สำคัญ คุยไปคุยมาเหมือนจุดไต้ตำตอ 3 สาวพี่น้องนั้นเป็นลูกแม่สื่อหน้าข้าวตังคลานตามกันมา ก็เลยเฮฮากันยกใหญ่ ลูกสาวคนโตเล่าว่าที่เรียกหน้าข้าวตังเพราะใบหน้าแม่เธอปรุประไม่เรียบ มีคนเชื่อถือและรู้จักคนมากพอให้ช่วยเป็นสื่อไปขอลูกคนนั้นคนนี้มาเป็นเขยสะใภ้ จึงกลายเป็นสมญานามที่รู้จักกัน

แม่ถ่ายทอดวิชาให้เธอโดยมีน้องสาว 2 คนเป็นผู้ช่วย ต่อมาแม่จากไป น้องทั้งสองมีครอบครัวก็ขยับขยายไปเปิดร้านของตัว ซึ่งมิได้แย่งลูกค้ากันแต่อย่างใดเพราะความต้องการยังมีมาก

อาเสียนคุยต่อไปเรื่อยๆ ว่า แม่เธอเอาอาหารนี้มาจากไหน ใครเป็นผู้ชมก็ตูมขึ้นในหัวเลยตอนนี้ว่า ออต้า ออต้า คืออาหารอะไรในบ้านเรา เมื่อปรากฏว่าแม่สื่อหน้าข้าวตังนามนี้เป็นลูกจีนแต้จิ๋วไปจากเมืองไทย ลงหลักปักฐานที่นั่น เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้บนจอมีภาพ ห่อหมก บ้านเราชัดเจน อธิบายให้ผู้ชมฟังว่าเมืองไทยทำอีกลักษณะ ห่อหมกบ้านเราใช้นึ่งในกระทงเพราะมีใบตองให้ใช้ แต่ละแวกเมืองมัวร์อุดมด้วยใบจาก และถูกทำให้สุกด้วยปิ้งวิธีย่างอย่างสะเต๊ะ

อาเสียนยังพาเราไปท่องตลาดจนได้รู้อีกว่า ความนิยมออต้า ออต้า เดี๋ยวนี้ถูกประยุกต์ไปหลากหลาย วัสดุมิได้ใช้เพียงแต่ปลา มีหมดตั้งแต่ไก่ไปจนอาหารทะเล ยังกลายหน้าตาไปต่างๆ ในร้านฟาสต์ฟู้ด ใส่วัตถุดิบที่แปลกออกไปแล้วแต่ร้านไหนจะคิดอะไรออกมาให้ถูกปากผู้บริโภคได้ และยังมีแบบที่นึ่งกับปิ้งย่างคละกันไป

ดูรายการนี้ทั้งผู้ชมไทยและมาเลย์จึงได้รู้ว่า ห่อหมกกับออต้า ออต้า กลายเป็นอาหารเชื่อมสันถวไมตรีระหว่างสองชนชาติไปเรียบร้อยแล้ว โดยมิต้องข้องแวะกับวิถีการเมืองเลย.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image