เผยข้อมูลร้านอาหารอีสานแห่งแรกในกรุงเทพชื่อ “แซบอีหลี” ขายผู้ใช้แรงงานเมื่อกว่า 70ปีมาแล้ว

ย่านสะพานขาว (ขวา) แนวที่ตั้งร้านแซบอีหลีเป็นห้องแถวเรือนไม้คูหาเดียวที่รื้อหมดแล้ว [ภาพจากบทความ แซบอีหลี ต้นตำรับอาหารอีสานในกรุงเทพฯ โดย เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์, นิตยา ถนอมใจ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2533) หน้า 44-47]

กรุงเทพฯ แหล่งรวม “แรงงานไทย” จากภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอีสาน เมื่อครั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มุ่งหน้าเข้ามามากมายเหมือนในปัจจุบัน คนรับใช้ตามบ้าน คนขับสามล้อ แรงงานตามตลาดสดและโรงงาน นำมาซึ่งวัฒนธรรมแบบอีสานๆ ที่กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือ วัฒนธรรมอาหาร ส้มตำ ลาบ น้ำตก ซุปหน่อไม้ และเมนูสุดแซ่บอีกมากมายกลายเป็นเมนูคุ้นลิ้นคนกรุงเทพ ร้านอาหารอีสานมีทั่วทุกหัวระแหง ขายดิบขายดี กระทั่งขึ้นห้างติดแอร์

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 70 ปีก่อน ร้านอาหารอีสานร้านแรกในกรุงเทพถือกำเนิดขึ้น โดยมีชื่อว่า “แซบอีหลี” ขายข้าวเหนียว, ลาบ, ส้มตำ ฯลฯ (แถมฟรีแมลงวัน ไม่อั้น) นานราว 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2487 ถึง พ.ศ.2518 ตั้งอยู่ห้องแถวเรือนไม้คูหาเดียว เชิงสะพานขาว ฝั่งเดียวกับโรงพยาบาลมิชชั่น ตรงข้ามเยื้องบ้านมนังคศิลา ปัจจุบันรื้อถอนหมดไม่เหลือซาก

ข้อมูลจากหนังสือ “อาหารไทย มาจากไหน ?” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ใหม่ล่าสุดโดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก ระบุว่า กลุ่มลูกค้าของร้านนี้มีแต่หมู่เฮาชาวอีสานที่ทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ กลุ่มสำคัญได้แก่คนขี่สามล้อรับจ้าง กับคนรับใช้ในบ้าน ที่คุณนายเชื้อสายผู้สาวลาวซึ่งได้สามีคนจีนที่ร่ำรวย ใช้ไปซื้อลาบกับข้าวเหนียว เพราะอยากกิน แต่ไม่กล้าไปเอง เกรงกลัวคนนินทาว่าเป็นลาว ทั้งๆ ความจริงก็เป็นลาวปนเจ๊ก

เจ้าของร้านแซบอีหลี มีผู้บันทึกประวัติย่อว่าชื่อ นายชม วงศ์ภา อดีตข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นชาว (ลาว) พวน บ้านหัวซา ต.หัวหว้า อ.ศรีมโหสถ (สมัยนั้นชื่อ อ.ศรีมหาโพธิ) จ.ปราจีนบุรี ต่อมามีลูกเขยร่วมดำเนินกิจการชื่อนายไพบูลย์ นพคุณ อดีตข้าราชการกรมรถไฟ  เป็นชาวพวนจากบ้านเดียวกัน

Advertisement

แซ่บอีหลี หมายถึง อร่อยจริงๆ อร่อยมากๆ ฯลฯ เป็นคำลาว (แซ่บ แปลว่า อร่อย อีหลี แปลว่า จริงๆ บางทีใช้ดีหลี) เป็นคำที่ใช้ทั่วไป แต่คาดว่ามาแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพจากชื่อร้านดังกล่าว หลังจากร้านแซบอีหลีเลิกกิจการ ก็มีผู้ตั้งชื่อเลียนแบบขายอาหารอีสาน ด้วยคำผวนว่า “สีอีแลบ” อีกด้วย

สั่งชื่อหนังสือ คลิกที่นี่ Ituibooks

อาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนใหม่ทั้งหมด โดยปรับปรุงจากเล่มเก่า (“ข้าวปลา อาหารไทย ทำไม? มาจากไหน” พ.ศ. 2551) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ. 2560 ราคาเล่มละ 315 บาท

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image