ตอบทุกข้อสงสัยยากๆ ด้วย Pop Science อ่านสนุก ได้ปัญญา ได้รู้ด้วยว่าบางเรื่องที่แชร์ๆกันนั้น จริงไหม?

มะนาวโซดารักษามะเร็งได้จริงหรอ ? ทำไมคนเราถึงต้องมีกิ๊ก ? เวลามีความรัก พรหมลิขิตหรือเรากันแน่ที่ลิขิต ? จุ่มช้อนลวกน้ำร้อนนี่ ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้จริงๆหรือเปล่า? สรุปแล้วโทรศัพท์ในปั๊มน้ำมันได้ไหม? ทำไมยิ่งพยายามลืมถึงยิ่งกลับจำ? ทำไมแฮมเบอร์เกอร์ถึงไม่มีแฮมนะ ? ทำไมๆๆๆๆ นั่นซิ ทำไม ?

คำถามเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งในข้อสงสัยที่เราเองก็เคยตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน  มีบ้างที่พยายามหาคำตอบ แต่พอเจอภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่พูดกันยากๆเกินกว่าที่เด็กสายศิลป์อย่างเราจะเข้าใจได้ง่ายๆ  ก็ขอโบกมือเซย์กู๊ดบายไปก่อนละกัน

แต่ช่วงนี้ท่าทางจะเป็นโอกาสดี เพราะมีหนังสือแนววิทยาศาสตร์อ่านง่าย ความรู้อ่านสนุกมาให้ได้เลือกอ่านกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เวลาเราคิดถึงงานแนว Pop Science หรือ Popular Science ภาคภาษาไทยละก็ คงหนีไม่พ้นงานเขียนของนพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ที่สามารถย่อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้อ่านง่าย อ่านสนุก สมกับคำว่าป๊อบปูล่าร์ หนังสือของนพ.ชัชพลทั้ง 5 เล่ม อาทิ ‘เรื่องเล่าจากร่างกาย’ ‘เหตุผลของธรรมชาติ’ ‘500 ล้านปีของความรัก’ ขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ พิมพ์ซ้ำทุกเล่ม แต่ตอนนี้นอกจากผลงานคุณหมอแล้ว ก็เริ่มมีงานเขียนแนว Pop Science  จากนักเขียนซึ่งก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับประเทศที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความนิยมไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่อง ‘อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก’ โดยดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง’ โดยรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากสนพ.มติชน

วันนี้ทั้ง 3 คนจะมาเปิดเคล็ดลับการเขียน และวิเคราะห์ให้รู้กันว่าเพราะอะไรหนังสือแนว Pop Science ถึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าสนใจ  เพราะจะว่าไปแล้วสังคมเราก็ไม่ค่อยพูดกันด้วยเหตุผลซะเท่าไหร่เลย

Advertisement

นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ซึ่งมีผลงานล่าสุดอย่าง ‘ทำไมแฮมเบอร์เกอร์ จึงไม่มีแฮม’ ซึ่งค่อนข้างจะต่างจากเล่มก่อนหน้า เพราะคอนเซ็ปต์คือเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษ ผ่านรากศัพท์และประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังแฝงความรู้สไตล์ Pop Science ในเรื่องต่างๆที่หยิบมาเล่า บอกว่าการเขียนให้อ่านง่ายและน่าสนใจกับความถูกต้องไม่ใช่สิ่งที่สวนทางกันเลย

“จริงอยู่ว่าการทำให้เข้าใจง่ายหลายครั้งเกิดขึ้นจากการตัดรายละเอียดเชิงลึกออก เหมือนเราซูมออกเพื่อเห็นภาพใหญ่ มันมีผลให้รายละเอียดหายไป ความแม่นยำลดลง แต่ไม่ได้แปลว่ามันผิด” เขาอธิบาย

Advertisement

ในขณะที่ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เขียน ‘อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก’ วิทยาศาสตร์ชิคๆ ที่เผยพฤติกรรมแปลกๆและเบื้องหลังอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ก็ว่าความถูกต้องของข้อมูลต้องมาก่อน

“ส่วนความสนุก ก็อาศัยการเขียนแบบเล่าเรื่อง พร้อมกับตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นนักออก แต่ผมก็ยังพยายามเก็บชื่องานวิจัยหรือชื่อวารสารไว้ เผื่อว่ามีใครสนใจจะไปค้นต่ออย่างจริงจัง ก็สามารถทำได้เพราะอินเตอร์เน็ตเอื้อให้ทำได้มายากครับ”

ส่วนรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้เขียน ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง’ เผยความจริงของข้อมูลต่างๆในโลกออนไลน์ ที่ต้องเช็คก่อนแชร์ ว่าจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่นั้น ก็บอกว่าการเขียนงานแนวนี้คือมุ่งให้ความรู้กับผู้อ่านทั่วไปในสังคม

“เลยเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กระชับ มีสีสัน พร้อมทั้งยกตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อให้เข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ง่าย แต่ต้องคงความถูกต้องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาประกอบให้มากที่สุด ประเด็นไหนที่มีการวิจัยมีความชัดเจนแล้วก็ระบุไปตามนั้น ประเด็นไหนที่ไม่ชัดเจน ก็ต้องระบุว่ายังไม่ชัดเจน อย่าทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด”

ในส่วนของความนิยมที่เติบโตอย่างน่าสนใจนั้น  รศ.ดร.เจษฎามองว่า  เมื่อเทียบกับอดีตก็ถือว่านักอ่านสนใจขึ้นมาก ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่มีการพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น  เลยทำให้ผู้คนอยากได้ความรู้มาอธิบายเรื่องราวหรือตอบคำถามในชีวิตมากขึ้น แต่จะให้อ่านอะไรยากๆก็คงไม่ใช่ทาง เพราะฉะนั้นหนังสือแนว Pop Science จึงตอบโจทย์ตรงนี้อย่างมาก

“ถ้ามองจากสภาวะปัจจุบัน นักอ่านมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้นด้วย เป็นยุคสมัยที่ผู้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น สนในเรื่องรอบตัวมาก หนังสือที่เป็นแนวความรู้อย่างวิทยาศาสตร์อ่านสนุก ก็น่าจะเป็นที่สนใจเช่นกัน รวมทั้งงานแปลหนังสือกลุ่มนี้จากนักเขียนในต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักอีกด้วย”

ขณะที่ดร.นำชัย ก็มองว่า ความนิยมน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น มีเรื่องที่สนุกและแปลกๆอยู่เยอะมาก ซึ่งคนอ่านก็พร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ที่มาพร้อมความสนุกอยู่แล้ว

“ผมเชื่อว่าหากมีตัวอย่างหนังสือแนวนี้ที่ขายดีมากๆ ก็น่าจะทำให้มีนักเขียนที่อยากเขียนเล่าเรื่องมากขึ้น มีสำนักพิมพ์ที่กล้าลงทุนพิมพ์เรื่องพวกนี้ออกมามากขึ้น ประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้อ่านที่จะได้มีหนังสือที่ประเทืองปัญญาด้วย แล้วสนุกด้วย ไว้อ่านเพิ่มมากขึ้นไปด้วยนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยให้กระแสด้านนี้ไม่ตกหายไปง่ายๆ คือ มีคนวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาว่า เขียนได้ถูกต้อง หรือผิดเพี้ยนอย่างไร การแลกเปลี่ยนแบบนี้จะทำให้คึกคักมากขึ้นไปอีกครับ” ดร.นำชัยกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ปิดท้ายที่นพ.ชัชพล ที่มองว่าต่อไปนี้ความนิยมแนวความรู้ที่อ่านสนุก อาจไม่ได้จำกัดแค่แนววิทยาศาสตร์อย่าง Pop Science แต่หนังสือความรู้หรือช่วยพัฒนาตัวเองที่อ่านไม่ยาก ก็น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยหลักๆที่เกี่ยวข้องกันอย่างน้อย 3 ปัจจัย

“1. ทุกวันนี้ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคม โดยเฉพาะสังคมเมือง จำเป็นสำหรับการทำมาหากิน ก้าวหน้า และเอาตัวรอดในสังคมที่ซับซ้อน คือซับซ้อนทางการเงิน การเมือง เทคโนโลยี กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งคนมีความรู้หลากหลายและรอบด้านมีแนวโน้มจะอยู่ง่ายกว่า ได้เปรียบกว่า 2. คือความรู้ด้านต่างๆรวมไปถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งที่เราเรียนมาในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นำมาใช้ไม่ค่อยได้ เพราะงั้นต่อให้ชอบหรือไม่ชอบ ต้องการหรือไม่ต้องการ ก็จะถูกบีบให้ต้องหาความรู้ และพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และวิธีหนึ่งที่ถูกและทำได้ง่ายสุดวิธีหนึ่งก็คือการอ่านหนังสือ ซึ่งหนังสือแนวป๊อบทั้งหลายข้อดีคือ อ่านง่าย คนเขียนช่วยย่อยมาให้แล้วระดับหนึ่ง ประหยัดเวลา เหมาะกับสังคมยุคใหม่ที่รีบเร่ง จึงได้รับความนิยม และ 3.เป็นเรื่องของ conspicuous consumption คือ การอ่านเป็นเพื่อการบอกตัวตนว่าฉันเป็นใคร เป็นกลุ่มไหน เหมือนการใช้ของแบรนด์เนม คือ มองเกินผลประโยชน์ ประเภทของหนังสือที่อ่านก็เช่นกัน การอ่านหนังสือที่ดูดีมีความรู้ การอ่านหนังสือที่ดูยากสักนิด  ทำให้เราดูแตกต่าง หรือจะพูดว่าอ่านเพื่อเป็นการอวดก็พอได้ การอ่านในลักษณะนี้เห็นชัดพอสมควรในประเทศตะวันตก  ในเมืองไทยส่วนตัวผมว่าในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ก็เริ่มเห็นมากขึ้น และน่าจะกระจายกว้างขวางขึ้นไปอีก”

อ่านก็ง่าย ความรู้ก็เพียบ … เข้าร้านหนังสือ อย่าลืมพากลับบ้านด้วยนะ

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image