ไม่มีอะไรจะพูด

เป็นผู้กำกับละครเวทีรุ่นใหม่ไฟแรงที่ขยันสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับ เบส-วิชย อาทมาท ที่เคยมีผลงาน ‘6 ตุลาปาร์ตี้’ (2555) , ‘บ้าน Cult เมือง Cult’ (2556) , ‘in เธอ’s view: a documentary theatre’ (2557) และ ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง (3 Days In May)’ (2558)

ปีนี้เขากลับมาพร้อมละครเวทีเรื่องใหม่ไม่มีอะไรจะพูด ที่ได้ยินชื่อแล้ว อดถามไม่ได้ว่ามีที่มาจากอะไร
“ผมมองการทำงานเป็นการบันทึกภาพ บันทึกสภาวะความเป็นมาเป็นไปของสังคมที่เราอยู่ แล้วรู้สึกว่ายากที่จะพูดถึงหลายๆ อย่าง มันมีความซับซ้อน หลายมุมหลายด้าน แล้วหลายๆ ที ผมก็รู้สึกไม่มีอะไรจะพูด เขาอธิบาย

เมื่อตัวเองไม่รู้จะพูดอะไร เขาเลยชักชวนนักเขียนมากหน้าหลายตา ทั้ง คำ ผกา , โตมร ศุขปรีชา , วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา , ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ ประจักษ์ ก้องกีรติ มาร่วมเขียนบทละครเวที

“ผมมองเห็นความอ่อนไหวเหลือเกินในสังคมที่เราอยู่ ความไม่เป็นธรรม ความที่เราเป็นอยู่ ความคิดเห็นอะไรต่อมิอะไรที่มันมาชนกัน ผมก็รู้สึกว่าแล้วเราจะพูอะไรดี เลยอยากรู้ว่าคนอื่นจะพูดอะไร

Advertisement

เมื่อทีมเขียนบทลงตัวแล้ว เขาก็แจกโจทย์ให้แต่ละคนไปทำการบ้านในส่วนของตัวเอง

“มันมีชื่อภาษาไทยกับภาษาอังกฤษครับ ไม่มีอะไรจะพูด what we talk about when we don’t talk about the elephant in the room ก็คือเราคุยอะไรกันตอนที่เราไม่พูดถึงช้างตอนที่อยู่ในห้อง แล้วก็มีคำที่ตั้งขึ้นมาขำๆ ว่า a post-contemporary remodernist naturalistic surrealism romantic tragicomedy non-political performance นี่คือสิ่งที่นักเขียนจะได้รับไปว่ามันมีมู้ดแอนด์โทนประมาณไหนนะ”

“แล้วก็มีกรุ๊ปนักแสดงว่าหน้าตาประมาณนี้ มีวิดีโอให้ได้เห็น ได้ยินเสียงคร่าวๆ แต่เล็กน้อยมากๆ แล้วก็มีหนึ่งสถานการณ์ที่ต้องเกิด แต่ละคนจะได้โจทย์ไม่เหมือนกัน เช่น อยู่ดีๆ ไฟดับ อยู่ดีๆ เปลี่ยนอารมณ์กะทันหัน อยู่ดีๆ ผีเข้า แต่ละคนก็จะได้โจทย์ต่างกันออกไป”

“เราก็ให้อิสระแต่ละคนไปเขียนเลย 2-3 อาทิตย์ก็ส่งมา เรี่องจะเป็นยังไงก็แล้วแต่เขา แล้วผมก็เอาเรียบเรียงอีกที ซึ่งอาจจะเหมือนบทหรือไม่เหมือนบทก็ไม่รู้ครับ” เขาว่าพลางหัวเราะ

ก่อนจะบอกเหตุผลที่ให้แต่ละคนแยกกันทำงานเล่าเรื่องในส่วนของตัวเองว่ามาจากความชื่นชอบในบทภาพยนตร์เรื่อง ‘ราโชมอน’ ที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมซามูไร โดยมีผู้ให้การ คือภรรยาซามูไร โจรป่า และวิญญาณของซามูไร ซึ่งทุกคนบอกเล่าเรื่องราวไม่เหมือนกัน

ซึ่ง “ผมมองว่ามันมีหลายมุมมองในเรื่องเล่า ในข่าว ในสื่อต่างๆ ผมเลยสนใจ หยิบแก่นของราโชมอน มาเป็นโจทย์ในเรื่องการเขียน”

“เรื่องราวจึงค่อนข้างหลากหลาย ทั้งสถานการณ์ ทั้งรูปแบบ วิธีการทำงานกับบท”

โดยหลังจากเห็นบท เขายอมรับว่า “ตื่นเต้น”

“ตื่นเต้นว่าจะทำยังไงได้บ้าง คิดถึงการทำออกมาเป็นโปรดักชั่นมากกว่า แล้วก็คิดถึงการสร้างมาเป็นการแสดง เพราะว่ามันแสดงในสองห้อง ก็ถูกแยก ถูกแบ่ง ตัดสลับ คือคนดูจะได้ดู ได้ประสบการณ์ใกล้เคียงกัน แต่ว่าอาจจะคนละมุมมอง”

และแม้จะมีประสบการณ์ในการทำละครเวทีมาหลายเรื่องแล้ว แต่นั่นก็หยิบมาใช้ได้เป็นส่วนน้อย

“เพราะก็เป็นงานทดลองพอสมควร แล้วก็รูปแบบด้วย”

ซึ่งความยากอยู่ที่การทำให้บท 5 เรื่องนี้มาเกี่ยวร้อยเป็นเรื่องราวเดียวกัน

“มันมีความเกี่ยวกันแหละครับ เพราะสภาพสังคมที่เราอยู่ก็เป็นที่เดียวกัน ประเทศเดียวกัน โลกใบเดียวกัน มันก็คงมีความเกี่ยวโยงกันบางอย่าง แต่ว่าจะทำยังไงให้เป็นละครเรื่องเดียวกัน เพราะผมไม่ได้ทำละครสั้น 5 เรื่อง” ผู้กำกับหนุ่มอธิบาย

เมื่อถามว่าละครเวทีซึ่จะแสดงทั้งหมด 13 รอบ ระหว่างวันที่ 8-22 มิถุนายน ณ ห้องพระจันทร์เสี้ยว และห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ จะดูยากไหม เขาก็ว่า “ผมอยากให้ความสนุกเป็นที่ตั้ง อยากให้ใครก็ดูได้” หากขณะเดียวกันก็ยัง “มีอะไรให้คุยกัน”

สิ่งที่ใส่ลงไปนอกจากความสนุกจึง “มีแต่คำถามชวนคิด”

“มันมีแต่คำถามครับ แต่ไม่ต้องได้คำตอบทันทีก็ได้ แล้วแต่ของใครของมัน มันไม่มีคำตอบรูปธรรม ไม่มีทางออกเสนอให้”

“ก็คาดหวังว่าจะทำสิ่งที่บทสื่อสารให้ดี พยายามจะบอกเล่าให้โอเคไปถึงคนดู”

ซึ่ง “ผมก็ยังติดตามตัวเองอยู่ว่จะออกมาเป็นยังไง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image