หยาดน้ำตาในวันนั้น และหยดน้ำหวานในวันนี้ ของอุรุดา โควินท์

“นี่ไม่ใช่การเขียนถึงความตาย แต่เป็นเรื่องราวแห่งชีวิต การเกิดใหม่ในเรื่องเล่า และเป็นน้ำหวานที่กลั่นจากน้ำตาของฉัน”

ประโยคข้างต้นคือความในใจที่อุรุดา โควินท์ กลั่นความรู้สึกกว่า 10 ปีในชีวิตที่เก็บงำไว้ มาบอกเล่าก่อนที่จะเราจะพลิกหน้าต่อไปเพื่อเข้าสู่เรื่องราวในนวนิยายเล่มล่าสุดของเธอ ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’

ชื่อของอุรุดา โควินท์ เป็นชื่อที่นักอ่านคุ้นเคยดีอยู่แล้วจากผลงานที่ผ่านมาของเธอ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียงต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาอุรุดามีพัฒนาการทางผลงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องเล่าของเธอขึ้นมาได้ โดยเฉพาะภาษาที่งดงาม หวามไหว จับใจ ความหวานที่ไม่มากไปไม่น้อยไป จนกลายเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่สำหรับ ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ คือความแตกต่างออกไป เป็นความแตกต่างที่ท้าทายทั้งนักเขียนนักอ่าน เพราะนี่คือเรื่องความรัก ความทรงจำ และการจากลา ระหว่างเธอ กับกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนชื่อดังของเมืองไทยที่จากไปในวัยหนุ่ม ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายกลางหุบเขาฝนโปรยไพร

Advertisement

และวันนี้เธอก็พร้อมแล้วที่จะเผชิญหน้ากับเรื่องเล่าและสายฝนในเดือนกุมภาพันธ์นั้นอีกครั้ง ด้วยตัวอักษรของเธอ

“ความพร้อมแรกก็คือเราเข้มแข็งแล้วจริงๆ ไม่ได้พยายามจะเข้มแข็ง หรือฮึบๆๆอยู่ในใจ” อุรุดาเอ่ยพร้อมรอยยิ้มหวาน ก่อนอธิบายเพิ่มว่าในมุมมองของเธอ นี่ไม่ใช่นิยายเศร้า แต่เป็นเรื่องรักของคนที่เดินทางผ่านความเศร้ามา และคนคนนั้นก็มีชีวิตและใช้ชีวิตอย่างเต็มความหมาย เป็นโจทย์ที่อุรุดาบอกเลยว่าตั้งใจไว้แต่แรก

“เราเดินผ่านมาแล้วอย่างแท้จริง ความเศร้า ความอาลัยอาวรณ์ ความสับสน และความยุ่งยากนานาประการอันสืบเนื่องมาจากการสูญเสียเขาไป อย่างง่ายที่สุดวันที่เราเขียนคือวันที่เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว เราจึงเขียน เพราะฉะนั้นเรื่องจึงเริ่มต้นด้วยความตาย และหลังจากนั้นแม้ว่าความเศร้าจะห่อหุ้มเรื่องไว้ แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่มองเห็นอย่างไม่ต้องร้องไห้ เพราะนั่นคือความรัก และชีวิตทั้งในปัจจุบันและชีวิตที่ผ่านมาของตัวละคร”

Advertisement

การเขียนนวนิยายในประเภทนวนิยายอิงอัตชีวประวัติ หรือ autobiographical novel ไม่ใช่เรื่องที่สังคมการอ่านการเขียนของไทยจะคุ้นเคยมากนัก เพราะเนื้อเรื่องมีพื้นฐานมาจากชีวิตจริงๆของนักเขียน ส่วนหนึ่งจึงเป็นการเปิดเปลือยชีวิตของตัวเองกับสาธารณะ แต่อุรุดาตัดสินใจที่จะเขียนขึ้นมาโดยใช้ความทรงจำของตัวเองมาเป็นพล็อตหลักในการเล่าเรื่อง ซึ่งอุรุดายืนยันว่าไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องนี้ก็ต้องเล่าด้วยวิธีนี้เท่านั้น

“เอาจริงๆนะ เล่าด้วยวิธีอื่นจะไม่แล้วใจ” เธอว่าพลางยิ้มกว้าง

“อย่างแรกเลยในมุมของเรา การอ่านนิยายคือการเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวของตัวละครอยู่แล้ว ไม่ว่าตัวละครนั้นจะชื่ออะไร และเวลาที่เราอ่าน เราเชื่อว่าเขามีอยู่จริงในเรื่องเล่านั้นเสมอ นี่คือวิธีที่เราอ่านหนังสือ

ส่วนการเขียนเรื่องนี้ เราเลือกที่จะเขียนเป็นนิยายรัก  เราเรียกมันอย่างนั้นนะคะ แต่ใช่ค่ะ ตัวละครชื่อกนกพงศ์ และอุรุดา เพราะอะไรรู้ไหม งานของเราพัฒนาขึ้นมาได้ ก็ด้วยการมองทุกอย่างเป็นเหตุการณ์ เป็นตัวละคร ไม่เว้นแม้แต่ตัวเองหรือคนรัก และด้วยวิธีคิดแบบนี้ล่ะที่ทำให้เราไม่จมอยู่กับความทุกข์ พูดได้เลยว่ามันช่วยเราเอาไว้หลายครั้ง ช่วยชีวิตเราไว้เลยล่ะ เราสามารถมองตัวเองเป็นตัวละครหนึ่งเสมอ ก็ไม่แปลกที่เราจะเขียนถึงเธอและเขา

เราอยากใช้วิธีนี้เพื่อยืนยันว่าทุกคนสามารถเป็นตัวละคร และทุกๆคนมีเรื่องราวพร้อมที่จะเล่า อีกอย่างเราไม่อยากให้ใครเห็นมันเป็นชีวประวัติ เพราะนักเขียนนวนิยายคือนักโกงความจริงโดยธรรมชาติ ขณะที่เราเขียน เราจริงไม่หมดอยู่แล้วค่ะ ในชีวิตประจำวันก็เหมือนกัน เวลาเราฟังใครเล่าเรื่อง เราไม่ได้ค้นหาความจริงนะ เราฟังในฐานะเรื่องเล่า พิจารณามันในฐานะเรื่องเล่า เราฝึกทั้งหมดนี้มาจากหุบเขาฝนโปรยไพรค่ะ” อุรุดาหัวเราะสดใส

อุรุดาบอกว่าชีวิตช่วงนั้น ทำให้เธอเติบโตขึ้นมากทั้งในงานเขียนและชีวิตส่วนตัว และการที่ไม่มีชีวิตแบบนั้นอีกแล้วยิ่งทำให้จดจำ

“เราได้ทดลองใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยใช้ ได้ขุดดิน ได้ทำสวน ได้เดินป่า หุงข้าวไม้ฟืน อยู่ในบ้านที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ ช่วงเวลาราว 6 ปีในพรหมคีรีทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ และการที่เราจากมันมาโดยไม่มีอีกแล้วชีวิตแบบนั้น ก็ยิ่งทำให้เราจดจำ

การสูญเสีย พรากจาก ยาวนานมากในขณะที่เราเผชิญอยู่ แต่เมื่อเราเดินผ่านไฟกองนั้นมาแล้ว ก็จะเหมือน…อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าจะต้องเกิด เราจะทำอะไรได้ล่ะ ชีวิตมีส่วนที่เราจัดการไม่ได้ได้แต่เผชิญ เราก็ก้มหน้าสู้ไป แล้วเราก็จะยิ้มได้อีกถ้าเรายังหายใจ เรื่องก็มีอยู่เท่านี้ เรื่องสามัญที่ใครๆก็รู้นี่ล่ะ แต่การรู้กับการได้เจอได้เป็น มันคนละแบบ ชีวิตมีศักยภาพเกินกว่าที่เราจะประเมิน สามารถเยียวยาตัวเอง ขยับขยาย และพร้อมจะยืดหยุ่นเสมอ”

ในการทำงานกับนวนิยายเรื่องนี้ อุรุดาบอกว่าเมื่อได้วิธีเล่า ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องข้ามผ่านให้ได้อีกเลย เพราะสิ่งที่ยากเหลือแสนระดับเจียนตาย คือก่อนที่จะเขียน

“ก่อนที่จะเป็นผู้เป็นคน แต่งตัวสวยๆ ก่อนที่คุณจะได้เห็นเรายิ้มแบบนี้” ว่าแล้วก็ส่งรอยยิ้มที่หวานสดใสทั้งตาทั้งปากมาให้

“ยากที่สุดคือสิบปีก่อนหน้านี้ค่ะ ไม่ใช่ตอนเขียน เราไม่ร้องไห้เลยสักครั้ง ในระหว่างที่ทำงาน ไม่เลย เราเขียนด้วยรอยยิ้ม พลังงาน และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวละคร สำหรับเราสิ่งที่พิสูจน์คุณค่าของงานเขียนได้ดีที่สุด คือการที่งานเขียนทำให้คุณระลึกได้ ยิ้มได้ เศร้าได้ ร้องไห้ได้ มีพลังได้ มองเห็นคนอื่นได้ เข้าใจคนอื่นได้”

เมื่อข้ามผ่านรอยจำแห่งหยาดน้ำตามาได้ ชีวิตวันนี้ของอุรุดามีการเขียนหนังสือ, สมิงพระราหู (สุนัข), อติภพ ภัทรเดชไพศาล (คนรัก), ว้อดก้า, การวิ่ง และการแต่งตัว เป็นหยดน้ำหวานที่หวานฉ่ำจากความรัก เพราะทุกอย่างล้วนมีความหมายกับเธออย่างที่สุด โดยเฉพาะการเขียน

“จริงๆ เป็นคนคิดสั้นนะคะ สารภาพเลย ไม่ชอบมองไกล เพราะรู้ไงความตายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ บอกตัวเองว่าให้เตรียมใจกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น ใช้ชีวิตให้ทุกวันได้วิ่ง ได้เขียน ได้ทำอาหาร ได้กอดคนรัก กอดหมา ได้มีสุขภาพดี ก็โอเคแล้ว”

ที่สำคัญคือเราจะเขียนไปเรื่อยๆ เรารู้แค่นี้ เพราะเราทำอย่างอื่นไม่ได้ดีเท่าการเขียน

“ชีวิตจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่ได้เขียน”

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image