เปิดใจ ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ละครขมๆ แต่รสกลมกล่อม

ก่อนหน้านี้แทบจะเป็น ‘ม้านอกสายตา’ ด้วยนอกจากไร้ดาราคู่จิ้นช่วยดึงดูด ภาพตัวอย่างที่เนื้อหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นชวนให้เข้าใจว่า วัยแสบสาแหรกขาด  ที่ลงจอทุกศุกร์- อาทิตย์  เวลา 20.15 น. ทางช่อง 3 คงหนีไม่พ้นละครรักหวานใสสไตล์ลูกกวาด

ทว่าทันทีที่ออกอากาศกลับทำเอาหลายคนติดหนึบ เพราะไม่เพียงโปรดักชั่นดี นักแสดงมีฝีมือ เรื่องราวยังชวนติดตามกับการสะท้อนปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งอย่างหลังนั้นไม่ค่อยได้มีให้เห็นบ่อยๆ ในละครบ้านเรา

“จุดเริ่มต้นของละครเรื่องนี้ คือได้คุยกับนักเขียน (ณัฐิยา ศิรกรวิไล) ว่าอยากได้พล็อตเรื่องอะไรใหม่ๆ ซึ่งทางพี่ณัฐก็มีเรื่องมาเสนอเกี่ยวกับละครสะท้อนสังคม ซึ่งก็ตรงกัน เลยออกมาเป็นละคร วัยแสบสาแหรกขาด” เอิน – ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดรุ่นใหม่ทายาท ก้อย – ทาริกา ธิดาทิตย์ แห่งค่ายมาสเตอร์ วัน ว่าถึงที่มา

เอิน ณิธิภัทร์

Advertisement

เอิน ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล

ก่อนจะสรุปเป็นเนื้อเรื่องที่บอกเล่าเกี่ยวกับเด็กมีปัญหาใน 5 ครอบครัว 5 รูปแบบ โดย ชาโน แพมเบอร์เกอร์ รับบท ‘ลูกหวาย’ สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปฤสยา เจริญเนติศาสตร์ รับบท ‘มินนี่’ ผู้มีปัญหาโดนคุกคามทางสื่อ ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนา รับบท ‘ตังเม’ เด็กที่มักทำร้ายตัวเอง ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์ รับบท ‘โชกุน’ เด็กชายขี้โกหก และ ณพัศพร บุญธรรมรัตน์ รับบท ‘ปิ๊ก ปิ๊ก’ เด็กหญิงขี้ขโมย

วัยแสบสาแหรกขาด

Advertisement

ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะถูกนำมารวมกัน โดยมี อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ และ จ๊ะ จิตตาภา แจ่มปฐม พระ-นางเป็นตัวดำเนินเรื่อง

“มันจะคล้ายๆ กับแนวหนังสืบสวนสอบสวนนิดนึง ที่ให้พระเอกนางเอกไขเคสแต่ละอย่าง เก็บข้อมูล ไขปมเพื่อช่วยเหลือ และด้วยความที่มันเป็นละครสะท้อนสังคมก็จะมีข้อเสนอ ข้อชี้นำออกมาให้ด้วย” ผู้จัดอธิบาย

ก่อนจะสารภาพ “ถามว่าเนื้อหาหนักไหมสำหรับเรื่องนี้ ก็หนักครับ”

“แต่หนักบนพื้นฐานความเป็นจริง หนักแบบว่าคนส่วนใหญ่น่าจะจับต้องได้ว่านี่คือชีวิตจริง บางทีชีวิตจริงหนักกว่านี้อีกนะ”

“มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัว” คนพูดให้ความเห็นอีก

“คนส่วนใหญ่น่าจะจับต้องได้ มันอาจจะไม่ได้เกิดกับตัวเองครอบครัวเรา แต่อาจจะเป็นคนใกล้ตัวที่มีปัญหานี้อยู่ อย่างปัญหาทำร้ายตัวเองเอาจริงๆ ก็เยอะไปหมดเพียงแต่เขาไม่เอามาพูด”

ขณะเดียวกันด้วยความที่ประเด็นเหล่านี้ค่อนข้างอ่อนไหว ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดก็ยาก คนทำงานจึงทำการบ้านหนักมาก โดยทุกครั้งที่เขียนบทกันเสร็จจะต้องส่งให้นักจิตวิทยาตรวจทาน

“เรามีที่ปรึกษาอยู่ถึง 4 ท่าน มีที่เป็นนักจิตวิทยาอยู่ต่างประเทศ พอเขียนบทเสร็จเราก็จะส่งให้ดู ปรับปรุงพูดคุยกัน การนำเสนอภาพจะนำเสนอแบบไหนให้มันใกล้เคียงกันที่สุด”

ไม่ต่างจากเหล่านักแสดงที่ต้องมีการพูดคุยกับนักจิตวิทยาเช่นเดียวกันเพื่อให้ทุกอย่างสมจริงที่สุด

“วิธีการรีแอ็ค ท่าทาง การคุยกับเด็ก การเข้าหาเด็ก เช่น เวลานั่งคุยกับเด็ก ไม่ควรจะกอดอก หรือไม่ควรจะใช้น้ำเสียงที่แรงเกินไป หรือไม่ควรแสดงสีหน้าอารมณ์” เขายกตัวอย่าง

พร้อมกับยืนยันว่า แม้เรื่องนี้จะสะท้อนสังคม แต่สิ่งที่เห็นผ่านจอก็ไม่ได้รุนแรงเกินไป

IMG_0480

ด้วย “เราก็มีการกรองภาพ เพื่อไม่ให้เกินเรทละครสองทุ่มครึ่ง”

หากในแง่จุดหมายปลายทาง เขาบอก “เรื่องนี้ก็หวังว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะของเราจะมีวิธีแก้ไข มีวิธีการนำเสนอเลย คือพาเด็กที่มีปัญหาไปดูหาทางออกเลย สอดแทรกความรู้ไปด้วย”

“แต่ท้ายที่สุดจะพอยท์ไปที่พ่อแม่ คนเป็นพ่อแม่จะต้องเข้าใจ”

ขณะที่เรื่องของความคาดหวัง เอินพูดยิ้มๆ  “อยากให้คนดูเยอะๆ ไว้ก่อนเลย”

“เรทติ้งหรืออะไรก็ไว้อีกเรื่องนึง แต่อยากให้คนได้ดู เพราะเป็นหนทางหรือแนวทางแก้ไขสังคม มันเป็นละครแนวที่เราอยากจะสอดแทรกความรู้ ให้ได้รับประโยชน์  มีความน่ารัก ความสนุกสนานลงไปด้วย”

ซึ่ง “อยากให้คนดูช่วยตัดสินใจ ถ้ารับได้ก็จะกล้านำเสนอสิ่งใหม่  กล้าที่จะทำต่อไป อยากให้ดูกันเยอะๆ วิจารณ์กันได้ อยากเห็นฟีดแบ็กว่าเราจะสามารถทำมันไปต่ออีกได้ไหม”

กับละครที่เนื้อหาเหมือนจะขม แต่รสชาติออกมากลับกลมกล่อมทีเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image