‘กราบไหว้ชมดูกันไป แต่ยังไม่มีผู้ใดศึกษา’

คนเขียนหนังสือรุ่นหลังที่ยังอยู่ในร่มเงาวัฒนธรรมพุทธศาสนาร่วมสมัย ต่อจากต้นยุคพุทธศตวรรษ 2500 เช่นรุ่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ไม่ว่าเขียนนิยายหรือข้อเขียนประเภทต่างๆ ยังมีความคิดและความเคยชินที่จะอ้างพุทธประวัติ พุทธภาษิต หรือสำนวนสยามซึ่งสืบเนื่องมานานในเนื้อหาเหล่านั้น โดยยังไม่มีนมเนยเข้ามาเป็นกระสาย

ก็เห็นจะเหลือแต่เนติบริกรที่ยังมีเวลาบริการเรื่องราวนานาให้ตีพิมพ์สู่กันอ่าน วิษณุ เครืองาม อ่านนิยายหรือเล่าเรื่องการเมืองหรือชวนชิมอาหารมาหลายเล่ม สังเกตเห็นไหม

ดังนั้น สังคมที่พยายามรักความเป็นไทยกันอย่างสุดฤทธิ์ทุกวันนี้ ควรทบทวนความเป็นไทยที่เคยรู้จักกันจริงๆ ได้แล้ว แต่วันนี้หันทางไหนก็หาไม่เจอ ทั้งๆ ยังปรากฏอยู่ตำตาหลายประการ เช่น ภาษา หรือวัดวาที่กำลังเสื่อมโทรมร่อยหรอลงไปอย่างวัดแจ้ง เป็นอาทิ ดูว่ายังหาความเป็นไทยพบหรือไม่ และอยากจะเป็นไทยอย่างที่ไทยเคยเป็นกันจริงๆ หรือเปล่า

‘รามเกียรติ์วัดพระแก้ว’ เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7 โดยอาจารย์ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล งานจิตรกรรมชุดใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนผังระเบียง และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องนารายณ์อวตารกับรามเกียรติ์ ซึ่งยังไม่เคยมีผู้ใดศึกษางานศิลปะร่วมสมัยนี้อย่างละเอียดมาเลย ควรที่สังคมไทยๆ ซึ่งรับคติรามเกียรติ์มาช้านาน กระทั่งพระมหากษัตริย์ยังสมมุติเป็นอวตารขนานพระนามเป็น พระรามา หรือที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษให้ต่างชาติรู้จักกันว่าทรงเป็น คิง รามา มาแต่เดิม จะหันมาเรียนรู้กันอย่างจริงจังหรือไม่

Advertisement

โอกาสมาถึงแล้ว เร่งรีบหาอ่านกันได้

๐ หนังสือสำคัญอีกเล่ม  ‘ประชาธิปก ประชาธิปไตย‘ งานที่พยายามเข้าใจและเข้าถึงรัชกาลที่ 7 ว่าทรงมีอะไรเป็นฐานคิด ที่จะทรงรับสั่งหรือไม่รับสั่ง ทรงทำหรือไม่ทรงทำอะไร ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ทั้งในช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งไม่เคยมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างครอบคลุมเช่นนี้มาก่อน
อาจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นมาว่า ทำไมเส้นทางประชาธิปไตยไทยจึงยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่จนปัจจุบัน

๐ ความเป็นไทยอีกประการที่ยังไม่รู้สึกรู้สากันคือ คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังอ่านหรือเขียนหนังสือไม่แตก โดยเฉพาะยุคที่การแสดงความเห็นเป็นไปอย่างกว้างขวางในสื่อสาธารณะนี้ ภาษาเป็นเครื่องสื่อสารสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถเข้าใจหรือปรองดองกันในแง่มุมสำคัญๆ ได้หรือไม่ แม้จะคิดแตกต่างกันก็ตาม

‘พัฒนาการเขียนภาษาไทย’ อาจมิใช่คำตอบสำเร็จรูป แต่ประโยชน์ที่ได้ย่อมไม่น้อยแน่นอน ที่จะทำให้การเรียนรู้ภาษาตัวเองเป็นไปอย่างสนุกเพลิดเพลิน ชนกพร อังศุวิริยะ ประกัน

๐ ทำไงได้ พลัดเข้าเป็นสาวก แฮรี่ พอตเตอร์ ไปแล้ว ก็ต้องตามจินตนาการ เจ.เค.โรว์ลิง ไปตลอด เที่ยวนี้มี ‘ควิดดิชในยุคต่างๆ’ เล่มเล็กๆ ที่ให้ภาพกีฬายอดนิยมของเหล่าพ่อมดน้อยแต่ละสมัย แต่ละกติกา อ่านกันเหมือนดูหนังยาวในสมอง อีกเล่มเล็กๆ ‘นิทานของบีเดิลยอดกวี’ ที่แปลกใหม่และพิศดารไม่ซ้ำใคร ไม่มีอะไรธรรมดาอย่างที่นึก ซันเดย์ ไทม์ส บอกว่าอ่านสนุกเหลือเชื่อ

๐ นิยายวิทยาศาสตร์รางวัลฮิวโกซึ่งแปลพิมพ์ไปแล้วกว่า 10 ภาษาทั่วโลก ‘จิตลวงร่าง’ เมื่อจิตถูกฝังในความมืดมิดราวหลุมฝังศพ จะรู้ได้ไงว่าร่างนั้นคือตัวเขาเอง นิยายขายดีของ นิวยอร์ค ไทม์ส ฝีมือ จอห์น สคัลซี แปลโดย วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร

๐ เรื่องของน้องหมาที่คอยแก้ตัวให้เจ้านายที่ชอบนอนตื่นสายได้ทุกวัน  ‘อีวะเคน’ ของ ฮิมะโกะ เพื่อเจ้านาย จะให้ทำอะไรย่อมได้ทุกอย่าง น่ารักน่าเอ็นดู


๐ นิยายในยุคนักเขียนสะพรั่งแผงสะพรั่งเว็บ ‘จอมนางเคียงหทัย ดวงใจจักรพรรดิ’ สองเล่มจบของ ธารธารา ในโลกจินตนาการที่คนเชื้อสายหนึ่งจะเขียนถึงคนอีกเชื้อสายที่แตกต่างได้อย่างเป็นธรรมดาไปแล้ว นักอ่านเรื่องหวานแหววรู้ดี

สุดท้ายหมายตาบนแผงอย่าให้พลาด มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับโชคดีที่มีอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี- ล่อจั่งฮู่ (หล่อมากจ๊ะ) ตัวเอง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image